Lifestyle

'แพนิคมีกี่ประเภท' อาการแพนิค มีอะไรบ้าง แพนิค แบบไหนควรรีบพบแพทย์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'โรคแพนิค' คืออะไร เปิดข้อมูล 'แพนิคมีกี่ประเภท' อาการแพนิค มีอะไรบ้าง แบบไหนควรรีบพบแพทย์ ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เป็น 'แพนิค'

KEY

POINTS

  • แพนิค เป็นส่วนหนึ่งของโรควิตกกังวัล จะมีอาการทางกายที่รุนแรง ทันทีทันใด หายเองได้ใน 10-20 นาที แต่จะเกิดขึ้นได้อีก และไม่สามารถหาสาเหตุได้
  • โรคตื่นตระหนก ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาเพราะหากปล่อยไว้นานอาจทำให้เรื้อรังและทำให้อาการกลับมารุนแรงยิ่งขึ้น
  • สาเหตุของ โรคแพนิค ยากจะระบุได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ

 

 

'โรคแพนิค' คืออะไร เปิดข้อมูล 'แพนิคมีกี่ประเภท' อาการแพนิค มีอะไรบ้าง แบบไหนควรรีบพบแพทย์ ปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เป็น 'แพนิค'

'แพนิคมีกี่ประเภท' เป็นข้อสงสัยที่หลายคนอยากจะรู้ เพราะมีทั้ง การกลัวความสูง กลัวที่มืด กลัวที่แคบ ซึ่งที่จริงแล้ว แพนิค หรือ โรคตื่นตระหนก นั้น เป็นส่วนหนึ่งของ โรควิตกกังวล ซึ่งประกอบไปด้วยโรคต่างๆ จะมีการแสดงออกทางร่างกายเหมือนกัน แต่ โรคแพนิค จะมีอาการทางกายที่รุนแรง ทันทีทันใด หายเองได้ใน 10-20 นาที แต่จะเกิดขึ้นได้อีก และไม่สามารถหาสาเหตุได้ ส่วน โรควิตกกังวล นั้น โดยทั่วไปจะกังวลแทบทุกเรื่องราวในชีวิต จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

 

โรควิตกกังวล มีกี่ประเภท

 

  • โรควิตกกังวลทั่วไป (CAD)
  • โรคกลัวแบบเฉพาะเจาะจง (Phobia)
  • โรคกลัวสังคม (Social Phobia)
  • โรคแพนิค (PD)
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
  • โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD)

 

 

'โรคแพนิค' มักพบได้บ่อยในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ที่ย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยผู้หญิงจะป่วยมากกว่าผู้ชาย ผู้ที่เกิดอาการแพนิคไม่ได้ป่วยเป็นโรคแพนิคทุกราย เนื่องจากอาการดังกล่าวเกิดขึ้นและหายไปเมื่อเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด อาการแพนิค จบลงหรือผ่านพ้นไปแล้ว ต่างจากผู้ป่วย โรคแพนิค ที่มักเกิดอาการแพนิคหรือตื่นตระหนกอยู่เสมอเป็นเวลายาวนาน รวมทั้งมักมีปัญหาสุขภาพจิตอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า หรือใช้สารเสพติดอื่นๆ

 

 

อาการแพนิค

 

  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศ
  • หวาดกลัวอย่างรุนแรงจนร่างกายขยับไม่ได้
  • เวียนศีรษะหรือรู้สึกคลื่นไส้
  • เหงื่อออกและมือเท้าสั่น
  • รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอก
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือหนาวขึ้นมาอย่างกะทันหัน
  • เกิดอาการเหน็บคล้ายเข็มทิ่มที่นิ้วมือหรือเท้า
  • วิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าจะตาย รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้
  • กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นในอนาคต
  • หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต

 

 

อาการแพนิค ที่ควรพบแพทย์

 

โรคตื่นตระหนก ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาเพราะหากปล่อยไว้นานอาจทำให้เรื้อรังและทำให้อาการกลับมารุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อรู้สึกว่ามีอาการตื่นตระหนกควรรีบพบแพทย์หรือนักจิตบำบัดทันที

 

นอกจากนี้อาการแสดงทางร่างกายของโรคตื่นตระหนกยังมีความคล้ายกับอาการของโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ การได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญ

 

 

แพนิค

 

 

เป็น โรคซึมเศร้า ระดับไหน ทดลองทำ 'แบบประเมินซึมเศร้า' ทำ 3 ขั้นตอน รู้ทันที : คลิก

 

 

สาเหตุของ โรคแพนิค

 

สาเหตุของ โรคแพนิค ยากจะระบุได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคแพนิคอาจเกิดจากปัจจัยทางกายภาพและปัจจัยทาง สุขภาพจิต ดังนี้

 

 

ปัจจัยทางกายภาพเป็นต้นเหตุของ โรคแพนิค

 

ผู้ป่วยโรคแพนิคอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งประกอบด้วยการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง และการได้รับสารเคมีต่างๆ ดังนี้

 

การถ่ายทอดทางพันธุกรรม 

  • ผู้ที่บุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคแพนิคหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ โดยบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดที่ใกล้ชิดกันมาก ก็เสี่ยงป่วยเป็นโรคแพนิคได้
  • ความผิดปกติของสมอง โดยทั่วไปแล้ว สมองจะมีสารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท หากสารสื่อประสาทภายในสมองไม่สมดุล อาจทำให้เกิดอาการแพนิคได้
  • การได้รับสารเคมีต่างๆ ผู้ที่ใช้สารเสพติด ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน รวมทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ อาจป่วยเป็นโรคแพนิคได้

 

โรคแพนิคกับปัจจัยทางสุขภาพจิต

 

เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิตส่งผลให้เกิด โรคแพนิค ได้ โดยเฉพาะการสูญเสียหรือพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับ อาการแพนิค ผู้ป่วยจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หรืออาจเกิดอาการดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ ยาวนานเป็นปี จนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคแพนิค

 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เกิด อาการแพนิค ทุกรายไม่จำเป็นต้องป่วยเป็น โรคแพนิค เสมอไป แพทย์จะวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคแพนิคหากผู้ป่วยมีลักษณะ ดังนี้

 

  • เกิดอาการแพนิคบ่อยๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้
  • รู้สึกหวาดกลัวหรือกังวลหลังผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญ โดยเกิดอาการดังกล่าวนานเป็นเดือนหรือมากกว่านั้น รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการหรือควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ และมักเลี่ยงสถานที่ที่คิดว่าจะทำให้เกิดอันตราย
  • อาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้สารเสพติด การใช้ยาบางอย่าง หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น โรคกลัวสังคม หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ

 

 

แพนิค

 

 

การรักษา โรคแพนิค

 

จิตบำบัด

วิธีนี้ช่วยรักษาอาการแพนิคและโรคแพนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ป่วยจะเข้าใจอาการแพนิคและโรคแพนิคมากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับอาการป่วยของตนเอง ส่วนการบำบัดพฤติกรรมผู้ป่วยนั้น จะใช้เทคนิคการบำบัดที่คล้ายกับวิธีรักษา โรคโฟเบีย ซึ่งให้ผู้ป่วยค่อยๆ เผชิญหน้ากับความกลัว ทั้งนี้ การบำบัดพฤติกรรมยังช่วยรักษาพฤติกรรมหลีกเลี่ยงสถานที่หรือเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยคาดว่าทำให้เกิดอาการแพนิคด้วย

 

การรักษาด้วยยา

  • ยาเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI)
  • ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors, SNRIs)
  • ยาไตรไซลิก (Tricylic Antidepressants)
  • ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines)
  • ยากันชัก ยากลุ่มนี้ที่ใช้รักษาโรคแพนิคคือพรีกาบาลิน (Pregabalin)

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคแพนิค

 

  • โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ผู้ป่วยโรคแพนิคสามารถป่วยเป็นโรคกลัวที่ชุมชนได้ โดยโรคนี้เป็นปัญหาสุขภาพทางจิตเกี่ยวกับอาการกลัวชุมชนหรือที่สาธารณะที่อาจเกิดเหตุการณ์อันตราย และหนีออกออกมาได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวล และไม่กล้าเดินทางไปข้างนอกเพียงลำพังได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจเกิดอาการโฟเบียอื่นๆ ได้
  • พฤติกรรมหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ผู้ป่วยอาจเลี่ยงหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ หากสิ่งนั้นจะทำให้เกิดอาการแพนิค พฤติกรรมหลีกเลี่ยงนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้
  • ปัญหาอื่นๆ ผู้ป่วยโรคแพนิคเสี่ยงใช้สารเสพติดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้สูง การสูบบุหรี่หรือบริโภคเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนก็ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความเครียดหรือรู้สึกกังวลมากขึ้น

 

 

แพนิค

 

 

การป้องกันโรคแพนิคในอนาคต

 

  • งดหรือลดดื่มเครืองดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาหรือสมุนไพรรักษาอาการป่วยต่างๆ 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียด
  • ฝึกคิดหรือมองโลกในแง่บวก ลองนึกถึงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจสงบหรือผ่อนคลาย และเพ่งความสนใจไปที่ความคิดดังกล่าว
  • ควรยอมรับว่าตัวเองรับมือกับอาการแพนิคได้ยาก เนื่องจากการกดดันตัวเองและพยายามระงับอาการแพนิคนั้นจะทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม
  • เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น โดยลองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
  • เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมา ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง โดยนับหนึ่งถึงสามเมื่อหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้ง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น

 

 

 

ข้อมูล : PobpadMedPark Hospital / ศูนย์การแพทย์แผนจีน รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ