Lifestyle

ผู้ป่วยโรค "มะเร็ง" ออกกำลังกายแบบไหนไม่อันตราย ออกแบบไหนได้บ้าง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ป่วยเป็นโรค "มะเร็ง" จะออกกำลังกายแบบไหนถึงจะเหมาะสม ออกกำลังกายทำให้ร่างกายคนเป็นโรคแย่ขึ้นไหม สำรวจที่นี่

โรค "มะเร็ง" เป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมามากกว่าสิบปี ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งก็มีอาการผิดปกติปรากฏขึ้นแล้ว 

 

สำหรับบางคนที่รักสุขภาพอาจสงสัยว่าถ้าเป็นโรค "มะเร็ง" จะออกกำลังกายแบบไหนถึงจะเหมาะสม ออกกำลังกายทำให้ร่างกายคนเป็นโรคแย่ขึ้นไหม วันนี้ คมชัดลึกออนไลน์ มีคำตอบมาให้

จากกรณีที่มีการบอกต่อข้อมูลโดยระบุว่า ออกกำลังกาย หนักอาจทำให้ "มะเร็ง" โตขึ้น ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่ายังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าออกกำลังกายหนัก อาจทำให้มะเร็งโตขึ้น

 

การ ออกกำลังกาย ถือเป็นการทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ เช่น ช่วยควบคุมน้ำหนัก เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิต เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยมะเร็งนั้นควรเลือกวิธีการออกกำลังกายให้มีความเหมาะสมตามสภาวะและความพร้อมของผู้ป่วยแต่ละคน

 

ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วย "มะเร็ง" ในแง่ของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รักษามวลกล้ามเนื้อ ลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการรักษา และลดความเครียด ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกด กระแทกข้อต่อต่าง ๆ

วิธีการ ออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โรค "มะเร็ง" มีดังนี้

• ก่อนออกกำลังกายผู้ป่วยมะเร็งทุกคนจะต้องประเมินตนเองและอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากสภาวะของมะเร็งแต่ละชนิด แต่ละระยะทำให้เกิดอาการป่วยแตกต่างกัน

• ในผู้ป่วยมะเร็งหลังการผ่าตัด ควรออกกำลังหลังจากการพักฟื้นแล้วช่วงหนึ่ง เริ่มค่อย ๆ ออกกำลังแบบเบา ๆ เท่าที่ไหวและทำสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังอาจเพื่อป้องกันพังผืดของแต่ละตำแหน่งของการผ่าตัดที่แตกต่างกัน หากมีการผ่าตัดบริเวณช่องท้องและทำให้หายใจได้ไม่สะดวก มีเสมหะ อาจทำให้เป็นสาเหตุของการติดเชื้อตามมา จึงควรออกกำลังที่เน้นไปที่สร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อทรวงอก

• สำหรับผู้ป่วยที่ฉายรังสี อาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อเหมือนไหม้ แห้ง หดรั้ง ไม่ยืดหยุ่น การออกกำลังแบบการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ คล้ายโยคะ จะช่วยคืนความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้

• สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด อาจเกิดผลข้างเคียง ทำให้เพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชาตามปลายมือปลายเท้า ส่งผลให้การเคลื่อนไหว การทรงตัวได้ไม่ดีนัก การออกกำลังกายจึงควรเน้นไปที่การออกกำลังเพื่อเน้นการไหลเวียนโลหิตและการทรงตัว เช่น การเดิน การวิ่งเบา ๆ การขี่จักรยานอยู่กับที่

 

นอกจากวิธี ออกกำลังกาย เหล่านี้แล้ว สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยมะเร็งควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังในที่ชุมชน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในช่วงที่ได้รับเคมีบำบัด เนื่องจากภูมิคุ้มกันอาจยังไม่แข็งแรงพอ

 

ติดตาม คมชัดลึก ที่นี่

Facebook : https://www.facebook.com/komchadluek/

YouTube : https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ