Lifestyle

5 "เทคนิค" รับฟังลูกวันนี้ เพื่อให้เขามั่นใจบอกเรื่องใหญ่ในอนาคต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพราะเด็กๆ ยังไม่สามารถแก้ไขและเผชิญปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่จะต้อง"รับฟังลูก" เราจึงมาแนะนำ 5 "เทคนิค"เพื่อพิชิตใจลูกให้เชื่อใจ และกล้าบอกเรื่องต่างๆ กับพ่อแม่ในอนาคต

          เวลาที่ลูกมีปัญหาพ่อแม่มักเห็นว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเด็กๆ ปัญหาเขาคือเรื่องใหญ่  ดังนั้นการมีพ่อแม่หรือใครมารับฟังและเข้าใจในสิ่งที่เขาเผชิญอยู่ จะช่วยให้เขามีแนวทางในการแก้ปัญหาเพื่อช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ ไม่เสียความมั่นใจและยังสร้างความเชื่อมั่นที่จะให้ลูกยอมเล่าเรื่องสำคัญๆ กับเขาให้พ่อแม่ฟังในอนาคต 

          เราจึงขอนำ "5 เทคนิคดีๆ" ในการรับฟังลูกที่ไม่ใช่แค่การได้ยินเสียง แต่คือการนั่งมองหน้าและเปิดใจรับฟังหัวใจและความรู้สึกของเขา จากข้อมูลของนักจิตวิทยาที่ได้แนะนำไว้มาบอกต่อให้นำไปใช้กันค่ะ

 

 

5 "เทคนิค" รับฟังลูกวันนี้ เพื่อให้เขามั่นใจบอกเรื่องใหญ่ในอนาคต

 

 

1) "รับฟังด้วยใจที่เป็นกลาง”  

          อย่าเพิ่งไปตัดสินลูก แม้ว่าเราจะรู้จักลูกระดับหนึ่ง ทำให้เราใช้ความคุ้นเคยนั้นมาตัดสินตัวเขาในวันนี้ เช่น พ่อแม่อาจจะรู้ว่าลูกชอบแกล้งคนนู้นคนนี้ก่อน วันนี้ลูกมาเล่าว่าเขาทะเลาะกับน้องมา พ่อแม่อาจจะเผลอตัดสินเขาว่า เป็นเพราะลูกไปแกล้งน้องก่อนหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่เรายังไม่ได้ฟังเรื่องราวจากปากลูกจนจบ ซึ่งการพูดแบบนั้นจะทำให้ ลูกไม่อยากจะเล่าต่อ หรือ เขาอาจจะรู้สึกว่า พ่อแม่โทษเขาก่อนว่าเขาผิดเสียแล้ว ดังนั้นพ่อแม่จึงควรรับฟังสิ่งที่ลูกกำลังจะเล่า โดยยังไม่เพิ่งตัดสินเขา หรือคิดว่าเขาจะเป็นแบบที่เคยเป็น

 

 

2) “รับฟังลูกจนจบ” 

          โดยท่องคำว่า “ฟังลูกก่อน ๆ” ไว้ในใจเสมอ  ที่สำคัญคือ อย่าเพิ่งพูดแทรก อย่าเพิ่งรีบตำหนิ หรือ สั่งสอน รอให้เขาพูดจบก่อน เพราะหากเราไม่รับฟังลูกจนจบ จะทำพลาดโอกาสรับฟังในสิ่งที่ลูกต้องการจะบอกต่อไป   นอกจากนี้การไม่บังคับให้ลูกต้องพูดทุกอย่างให้หมดเดี๋ยวนี้ เพราะเมื่อลูกมั่นใจว่าพ่อแม่ยินดีรับฟัง พ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยที่ลูกบอกได้ ลูกจะค่อย ๆ บอกออกมาเอง เพราะเด็กบางคนอาจจะกล้าพูดออกมาตั้งแต่แรก บางคนอาจจะลองดูท่าทีพ่อแม่ก่อน ว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง หรือลองหลายครั้งกว่าจะกล้าพูดเรื่องในใจ

          ที่สำคัญทุกการรับฟังและการพูดคุย พ่อแม่ควรพูดว่า“ขอบคุณลูกที่ไว้ใจพ่อ/แม่ และยอมเล่าให้พ่อ/แม่ฟัง" เสมอ

 

 

5 "เทคนิค" รับฟังลูกวันนี้ เพื่อให้เขามั่นใจบอกเรื่องใหญ่ในอนาคต

 

 

3) “รับฟังเพื่อเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง”

          แม้ว่าการแก้ปัญหาทันที อาจจะดูทันใจพ่อแม่มากกว่า แต่บ่อยครั้งการแก้ปัญหาทันที อาจจะทำให้เราพลาดบางสิ่งที่สำคัญไป และบางครั้งปัญหาที่เรานึกว่าแก้ได้แล้ว อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริงด้วยซ้ำ พ่อแม่จึงต้องรับฟังสิ่งที่ลูกพูด และตั้งคำถามเพื่อให้ลูกช่วยอธิบายสิ่งที่เขากำลังเผชิญออกมา และช่วยกันแก้ปัญหานั้น  

          เนื่องจากปกติแล้วลูกทุกคนอยากเป็นที่สนใจ เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่รักของพ่อแม่ แต่เมื่อเขาไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ และแก้ปัญหานั้นไม่ได้ด้วยตนเอง อาจเลือกแก้ปัญหาในแบบที่เขาทำได้ เช่น การหนีหรือหลีกเลี่ยงปัญหา เฉไฉเบี่ยงเบนประเด็น หรือ ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

 

 

ตัวอย่างเช่น

ลูก... “หนูไม่อยากทำการบ้านแล้ว” 

พ่อแม่... “ทำไมหนูถึงไม่อยากทำบ้านเหรอ” 

ลูก...“ก็มันยากนี่นา หนูทำไม่ได้หรอก”

พ่อแม่... “การบ้านนั้นยากจริง ๆ จนหนูทำไม่ได้ หรือ หนูคิดว่า หนูทำไม่ได้ แต่ไม่ว่ายังไงพ่อ/แม่พร้อมจะช่วยหนูนะ”  

ลูก...“หนูไม่เข้าใจเลย เลขอะไรไม่รู้ หนูไม่อยากทำแล้ว” 

พ่อแม่...“การบ้านนี้หนูไม่เข้าใจ เลยรู้สึกว่าการบ้านยาก งั้นเรามาทำไปด้วยกันนะ” [พ่อแม่จะเคียงข้าง และเผชิญปัญหานั้นไปกับเขา]

 

 4รับฟังสิ่งที่ลูกซ่อนอยู่”

          บางครั้งสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดของลูก คือ “ความรู้สึก” ที่เขาบอกออกมาได้ แต่ถ้าหากเราอยู่กับลูกมากพอเราจะมองเห็นความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น “ความกลัว” “ความเศร้า” “ความกังวล” “ความโกรธ” และความรู้สึกที่เขาไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ชัดเจน แต่เราสามารถรับรู้ได้หากเรารับฟังลูกจากใจจริง

 

5) “รับฟังเพื่อรับฟัง”

          เชื่อว่าพ่อแม่หลายท่านอยากจจะช่วยลูกในสิ่งที่เราสามารถทำได้ แต่บ่อยครั้งเด็ก ๆ ไม่ได้อยากให้เราช่วยแก้ปัญหาให้ พวกเขาแค่ต้องการระบายสิ่งที่เขารู้สึกออกมาให้เราฟังเท่านั้นเอง เพราะพ่อแม่คือพื้นที่ปลอดภัยของเขา

ขอบคุณข้อมูลจาก  เพจตามใจนักจิตวิทยา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ