Lifestyle

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นผ่านสถานที่สำคัญย่านฝั่นธนฯ

          หลังจากประสบความสำเร็จจากการจัดกิจกรรมครั้งที่ผ่านมา ล่าสุด บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี จัดกิจกรรมต่อเนื่อง “ย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ยินผ่านวรรณกรรม” พาชมศาสนสถานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตระกูล “บุนนาค” ซึ่งเป็นขุนนางที่มีบทบาทสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มาจนถึงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยเชิญ “อ.นัท” จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นวิทยากร 

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 วัดพิชยญาติการาม

          ทริปนี้เราเริ่มต้นที่ วัดพิชยญาติการาม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บริเวณริมคลองสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน เดิมทีเป็นวัดร้างและไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ต่อมาระหว่างปี พ.ศ.2372-2375 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย” ได้บูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัดเป็นศิลปแบบไทยผสมกับจีนซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในสมัยนั้น เมื่อแล้วเสร็จได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามใหม่เป็น “วัดพิชยญาติการาม” ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดพิชัยญาติ” 

          ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ด้านบนของพระอุโบสถไม่มีช่อฟ้าใบระกา

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

หินแกะสลักเรื่อง “สามก๊ก”

          “อ.นัท” จุลภัสสร เล่าว่า รูปทรงศิลปะของวัดพิชยญาติการามเป็นการผสมผสานระหว่างไทยกับจีน ด้านบนของพระอุโบสถไม่มีช่อฟ้าใบระกา เนื่องจากรัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ทนจึงตัดสิ่งเหล่านี้ออกแล้วใช้การก่ออิฐถือปูนแทน รวมถึงศิลปะรูปแบบปรางค์ซึ่งปรากฏชัดในช่วงรัชกาลที่ 3 ต่อมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 4 อีกจุดเด่นของวัดนี้คือ รอบฐานพระอุโบสถด้านนอกมีหินแกรนิตแกะสลักเรื่องราวพงศาวดารจีน “สามก๊ก” ซึ่งยังคงความสมบูรณ์รายล้อมทั้ง 4 ด้าน

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

รูปปั้นสมเด็จย่า

          จากจุดแรกเราไปต่อกันที่ อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภายในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 17 ที่ดินในบริเวณอุทยานฯ นี้ ส่วนหนึ่งเป็นบ้านเก่าของ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) อธิบดีกรมพระคลังสินค้าในรัชกาลที่ 5 เป็นอาคารตึกแถวผสมไม้ขนาดใหญ่ 2 ชั้น 2 หลังตั้งขนานกัน ด้านซ้ายมือเป็นตึก 2 ชั้น ลักษณะที่ล้อมรอบนี้ประยุกต์จากสถาปัตยกรรมแบบจีน อาจเก่าแก่ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) บิดาเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) เป็นผู้ปกครองชุมชนในย่านนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องจากเป็นย่านประวัติศาสตร์ใกล้เคียงกับสถานที่ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเคยประทับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

เรือนจำลองบ้านเดิมของสมเด็จย่า

          ที่นี่เราได้ “ป้าต้อย” สมบัติ แย้มอุทัย หัวหน้าฝ่ายพิพิธภัณฑ์ร่วมถ่ายทอดความรู้ ซึ่งป้าต้อยเล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ท่านเป็นสามัญชน บ้านอยู่ในซอยช่างทองหลังวัดอนงคาราม ซึ่งเป็นชุมชนของคนที่เป็นช่างทำทอง นั่นเพราะพ่อแม่ของท่านเป็นช่างทำทองนั่นเอง สมเด็จย่าท่านโปรดชีวิตที่เรียบง่าย  เห็นได้จากบ้านที่ท่านเคยอยู่เป็นบ้านไม้หลังเล็กๆ ประกอบด้วย 3 ห้องเท่านั้นคือ ด้านหน้าสุดเป็นห้องทำทอง ถัดมาเป็นห้องนอน และด้านในสุดเป็นห้องครัว ซึ่งเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้สมเด็จย่าท่านทรงเล่าให้ลูกๆ ฟัง จนเป็นที่มาของหนังสือ “แม่เล่าให้ฟัง” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ล้ง 1919

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

          ห่างกันไม่ไกลนักเป็นที่ตั้งของ ล้ง 1919 ล้งมาจากชื่อเดิมของสถานที่ “ฮวย จุ่ง ล้ง” หมายถึง ท่าเรือกลไฟ สร้างโดยต้นตระกูลพิศาลบุตร คหบดีเชื้อสายจีน ต่อมาการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทในการค้าขายกับต่างชาติมากขึ้น ท่าเรือนี้จึงค่อยๆ ลดบทบาทลง ตระกูล “หวั่งหลี” จึงเข้ามารับช่วงเป็นเจ้าของต่อและปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงาน ที่อยู่พนักงาน และสินค้าการเกษตรของตระกูล ปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 5 ได้ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูและเปลี่ยนชื่อเป็นล้ง 1919 โดยหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รวมไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ ประเพณี และงานศิลปะ สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติได้เข้ามาเยี่ยมชม

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

พระบรมธาตุมหาเจดีย์ 

          จุดสุดท้ายสำหรับทริปนี้ คือ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท โดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ในตระกูลบุนนาค เป็นผู้สร้าง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมและเสนาบดีพระคลัง ผู้สำเร็จราชการทั่วทั้งพระราชอาณาจักร และเป็นหัวหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ต่อมาถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” อันบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ

ย่ำฝั่งธนฯ เรียนรู้ชาติไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

เขามอ

          เมื่อแรกสร้างวัดนั้นอาคารสถานที่สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สร้างน่าจะมีพระอุโบสถ พระวิหารพระพุทธนาค พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และสระเต่าเขามอ โดยพระบรมธาตุมหาเจดีย์นั้นกำหนดสร้างทีหลังหลังจากเมื่อมีงานฉลองวัดแล้ว แต่ยังสร้างไม่ทันแล้วเสร็จ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ถึงแก่พิราลัยลงก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) บุตรชายคนโตจึงรับช่วงสร้างต่อจนแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้านในพระบรมธาตุมหาเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และเมื่อปี พ.ศ.2556 โครงการอนุรักษ์เจดีย์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากองค์การยูเนสโก จากการประกวดโครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้เพื่อยกย่องบุคคลและองค์กรภาคเอกชน หรือโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการบูรณปฏิสังขรณ์อาคารและสิ่งก่อสร้างที่เป็นมรดกอันทรงคุณค่าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ