Lifestyle

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชมความงามระหว่างทาง... ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’ : โดย ณัฐภัทร พรหมแก้ว คมชัดลึกออนไลน์

 

               สารภาพตามตรงว่า ตั้งแต่กลับมาจากทริปเทรคกิ้ง อันนาปุรณะ (Annapurna : A.B.C) Base Camp ที่ประเทศเนปาลได้ไม่ทันไร ใครสักคนในกรุ๊ปที่ไปด้วยกัน ก็ถามว่าคราวหน้ามีจะแพลนไปเดินเขาทีไหนดี ตัวเองได้แต่ยิ้ม เพราะรู้สึกเต็มอิ่มทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ตอนนี้ยังไม่อยากไปเดินแบบนี้ที่ไหนอีกเลย แต่หลายวันผ่านไปพอได้พักจนหายเหนื่อย ความอยากกลับผุดขึ้นอีกครั้ง

                เมื่อลองนึกย้อนกลับไป ตลอด 10 วันของการเดินเทรคกิ้ง บนเส้นทาง A.B.C. ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางยอดนิยมของคนทุกมุมโลก มีสิ่งที่รอให้ได้มาพบพบนั้นมีอะไรน่าประทับใจมากมาย

                ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

              กว่าที่กลุ่มของเราจะเดินถึงจุดหมายบนเบสแคมป์ใช้เวลา 7 วัน เริ่มต้นเส้นทางที่ นายาพูล(Nayapul) - อุลเลรี (Ulleri) - โกเรปานี (Ghorepani) - พูนฮิลล์ (Poon hill) - ทาดาปานี (tadapani) - ชมรง(Chhomrong) - แบมบู(Bamboo) - ดูวเรลี (Deureli) และ จุดหมายคือ A.B.C. Base Camp บนความสูง 4,130 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ตลอดเส้นทางต้องเดินลัดเลาะและไต่ระดับความสูงของภูมิประเทศไปทีละน้อย ท่ามกลางสภาพอากาศที่ยังคงหนาวเย็น สลับกับฝนที่มักกลั่นตัวเป็นลูกเห็บในที่สุด รวมถึงหิมะอยู่บ้าง แต่ช่วงกลางวันแสงแดดจ้า ความหนาวที่ว่าเหมือนถูกซ่อนที่ไหนสักแห่ง การจะเดินโดยสวมเสื้อกันหนาวตัวเขื่อง ดูจะทรมานตัวเองเกินไป ร่างกายเมื่อเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ความร้อนภายในสะท้อนชัดผ่านเหงื่ออันชุ่มโชก แต่เมื่อหยุดนั่งพักความหนาวมันจะโผล่หน้ากลับมาอีกทันที

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

               ในวันที่ 3 ของการเดิน เราสตาร์ทกันตั้งแต่ไก่โห่ เดินฝ่าความมืดไต่ระดับสูง ในสภาพอากาศที่ชื้นและหนาวเหน็บ เพื่อขึ้นไป พูน ฮิลล์ บนความสูง 3,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ถึงกับทำพวกเราออกอาการ แต่ละคนหอบกันเฮือกใหญ่ ทว่ามันกลับไม่ช่วยให้หายเหนื่อยมากนัก เพราะสิ่งที่เข้าไปในปอดคือหมอกที่ลอยอบอวลมากกว่าออกซิเจนนั่นเอง แต่เมื่อขึ้นไปถึงบนนั้น ความงามของวิวทิวทัศน์ที่เป็นเขาสูงเรียงรายทำเอาลืมเหนื่อยได้เลยทีเดียว

               ตลอดเส้นทาง เราจะได้พบกับเพื่อนร่วมทางที่สวนกันไปมาเป็นระยะ เสียงทักทายด้วยคำว่า นมัสเต (Namaste) แปลว่าสวัสดีในภาษาเนปาลี ดังแลกเปลี่ยนเหมือนเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ไม่ต่างกับยอดเขาอันนาปุรณะใต้ (Annapurna South) ที่ปรากฎยอดซึ่งถูกปกคลุมด้วยหิมะมาทักทายทุกคนที่เดินผ่านบนเส้นทางนี้

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

               ความบันเทิงอย่างหนึ่งของกลุ่มเราเมื่อถึงที่พักค้างคืนระหว่างทาง คือการเล่นไพ่สลาฟ ดีที่มีคนในกลุ่มเตรียมมาด้วย ไม่อย่างนั้น คนเมืองอย่างเราคงเฉากันไปซะก่อน และผ่านไปหลายวัน รสชาติอาหารสไตล์เนปาลีที่ออกจะจืดและมันเริ่มแผลงฤทธิ์ กินติดๆ กันเข้า เหตุผลด้านความอร่อยเริ่มสำคัญน้อยกว่าความจำเป็นที่ต้องกินเพื่อให้มีแรงเดิน เมนูที่ทำจากแป้งและข้าวจึงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่พักแทบทุกแห่งล้วนมีเมนูไม่ต่างกันเลย แต่วันนั้นที่พักบน  ชมรง (Chhomrong) พอเรากวาดสายตาไปมาบนเมนู ก็พบว่ามีอย่างหนึ่งเตะตาเข้าอย่างจัง “Local Wine” แก้วละ 100 รูปี เรามองหน้ากันปุ๊บ เป็นอันรู้กันว่าสั่งมาลองให้มันรู้กันไป

               ผิดคาด!!! ทันทีที่มันถูกยกมาเสริฟ เราต่างงุนงง เพราะคิดว่า Local Wine ที่ว่า น่าจะมีสีสันจากการหมักบ่มด้วยผลไม้ แต่นี่กลับขาวใสเหมือนน้ำเปล่า หรือเหล้าต้มท้องถิ่นแบบบ้านเรายังไงยังงั้น ดีที่สั่งมาลองแค่แก้วเดียว ดีกรีร้อนแรงแค่ไหน ดูได้จากสีหน้าแดงกล่ำของเพื่อนที่นั่งตรงข้าม

               การเดินในวันที่ 7 เรากำลังมุ่งหน้าขึ้นเบสแค้มป์ ทางช่วงนี้เรียกว่ายากแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา เพราะต้องเดินลุยหิมะที่ทั้งลื่นและพื้นยวบจมในทุกก้าว ทำเอาเหนื่อยใช่เล่น แถมแสงแดดจ้าบนความสูงระดับ 3-4 พันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล ที่ส่องกระทบตัวเรานั้นไม่ใช่เรื่องสนุกเลย ดังนั้น เมื่อเดินกันถึงเบสแค้มป์ เราเลยไม่ย่างกรายออกนอกชายคาห้องอาหารกลางของที่พัก รอเวลาตะวันคล้อยถึงได้ออกไปตะลอนรอบที่พักที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะ จุดที่เรายืนอยู่ถูกโอบล้อมด้วยเขาสูงมากมายได้แก่ ฮิอุนชูลี (Hiunchuli) 6,441 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล, อันนาปุรณะใต้ (Annapurna south) 7,219 เมตร, อันนาปุรณะ 1 ( Annapurna I ) 8,091 เมตร Singuchuli 6,390 เมตร มัจฉาปูชเร (Machhapuchhre) 6,993 เมตร

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

               เรามีเวลาบนนั้นแค่ 1 คืน รุ่งขึ้นก็เก็บกระเป๋ามุ่งหน้าลงย้อนทางเดิมที่ขึ้นมาเมื่อวาน ตอนแรกนึกว่าจะกร่อย ที่ไหนได้ มีอะไรมันส์ๆ ให้ทำ มีอยู่จุดสองจุดที่สามารถสไลด์หิมะลงจากเนินเขาแทนการเดินได้ และที่ Jhinu จุดแวะค้างคืนสุดท้ายก่อนจบทริปนี้ มีบ่อน้ำพุร้อนติดลำธารกลางป่าให้ได้แช่อย่างหนำใจ คลายกล้ามเนื้อที่อ่อนล้าสะสมมาหลายวัน ทว่าบางทีเราอาจคิดผิดหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะจากบ่อน้ำพุร้อนเดินกลับที่พักอีกราวครึ่งชั่วโมงในสภาพทางขึ้นเขา ดูแล้วยิ่งจะเมื่อยกว่าเดิมเสียอีก

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

 

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

               ถึงได้บอกไปตอนต้นว่า ตั้งแต่กลับจากทริปนี้ก็แทบไม่อยากไปซ่าส์ที่ไหนอีก แต่พอได้นอนพักฟื้นร่างกายเต็มที่ ก็พบว่านั่นเป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ในใจกลับโหยหาสถานที่ใหม่ๆ ให้ได้ไปลองสัมผัสอยู่ตลอดเวลา...

ไป “นมัสเต” เขา ... ‘Annapurna’

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ