Lifestyle

ข้อไหล่ติด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดูแลสุขภาพ : ข้อไหล่ติด (Frozen shoulder)

 


               ข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากสุดในร่างกาย ประกอบไปด้วยกระดูก เยื่อหุ้มข้อ และกล้ามเนื้อรอบข้อ ถ้ามีความผิดปกติของส่วนใดส่วนหนึ่งย่อมทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

 

๐ สาเหตุของข้อไหล่ติดคืออะไร?


               ในปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ นอกจากนี้บางภาวะอาจมีส่วนเกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคความผิดปกติต่อมไทรอยด์ หรือมีรอยโรคในข้อไหล่เอง (เอ็นฉีกขาด ข้อเสื่อม กระดูกแตกหัก) ส่วนมากมักพบปัญหานี้ในช่วงอายุ 40-60 ปี
               ในช่วงแรกผู้ป่วยมักมาด้วยอาการปวด และจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการนอนหลับ แต่จากนั้นอาการปวดจะดีขึ้นตามลำดับ และจะตามมาด้วยข้อเริ่มติดแข็งจนไม่สามารถใช้ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ โดยปกติภาวะไหล่ติดมักจะหายเองได้ใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี แต่ผลที่ตามมาอาจมีการจำกัดพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อได้หรือปวดเรื้อรัง


๐ การดำเนินโรค

               ระยะที่ 1 (Pre-adhesive) ปวดเวลาเคลื่อนไหว มีปวดกลางคืนแต่พิสัยการเคลื่อนไหวยังปกติ
               ระยะที่ 2 (Freezing) ปวดรุนแรงขึ้น ปวดกลางคืน พิสัยการเคลื่อนไหวลดลงมาก
               ระยะที่ 3 (Frozen) ปวดลดลงมาก ไม่ค่อยปวดกลางคืน พิสัยการเคลื่อนไหวลดลง
               ระยะที่ 4 (Thawing) ไม่ค่อยมีอาการปวด แต่ยังมีพิสัยการเคลื่อนไหวลดลง แต่ช่วงนี้จะกินเวลานานโดยที่พิสัยการเคลื่อนไหวจะดีขึ้นเรื่อยๆ

 

๐ การรักษาภาวะไหล่ติด


               ระยะที่ 1 และ 2 เป็นช่วงที่เกิดการอักเสบของข้อมาก มักจะใช้ยาต้านการอักเสบและยาแก้ปวด แต่แพทย์บางท่านอาจใช้การฉีดยา Steroid เข้าข้อไหล่ร่วมด้วย นอกจากนี้การรักษาด้วยกายภาพบำบัดก็มีประโยชน์เพื่อช่วยลดการยึดติดของข้อไหล่
               ระยะที่ 3 และ 4 เป็นช่วงที่อาการอักเสบลดลงมาก การรักษาจะมุ่งเน้นที่การทำกายภาพบำบัด และออกกำลังกาย เพื่อให้ข้อไหล่กลับมามีพิสัยการเคลื่อนไหวสู่ปกติ

 

๐ การผ่าตัดจำเป็นหรือไม่?


               ผู้ป่วยที่มีภาวะไหล่ติดจะมีอาการดีขึ้นได้จากยาและการทำกายภาพบำบัดถึง 90-95% ยกเว้นในผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น กลุ่มโรคเบาหวาน หรือโรคต่อมไร้ท่อผิดปกติ (ไทรอยด์ผิดปกติ) ทั้งนี้แพทย์ผู้รักษามักจะดูอาการประมาณ 4-6 เดือนถ้าผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นจึงจะตัดสินใจรักษาวิธีการผ่าตัด แต่ปัจจุบันมีหลายวิธีการรักษา เช่น การดัดข้อไหล่ภายใต้การดมยาสลบ หรือผ่าตัดโดยการส่องกล้องเพื่อตัดพังผืด ขึ้นกับความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน

 

นพ.ศรัณย์พงศ์ ยมาภัย


ศูนย์กระดูก ไขข้อ และกล้ามเนื้อ


โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์

 

-------------

 

               ก้าวสู่ปีที่ 31 - พล.อ.นพ.สิงหา เสาวภาพ ประธานบริษัทโรงพยาบาลวิภาวดี พร้อมทีมผู้บริหารแพทย์พยาบาล รพ.วิภาวดี จัดพิธีทำบุญตักบาตรในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 31 รพ.วิภาวดี พร้อมให้การต้อนรับผู้มาร่วมแสดงความยินดีกับโรงพยาบาล ณ โถงอาคาร 2 รพ.วิภาวดี

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ