Lifestyle

แก้วิกฤติหมอกควัน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลากมิติเวทีทัศน์ : แก้วิกฤติหมอกควัน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม : โดย...เดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)

 
                           วิกฤติปัญหาหมอกควัน ไฟป่า กลายเป็นปัญหารุนแรงขึ้นทุกขณะ มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ด้วยปริมาณฝุ่นควันขนาดเล็กที่มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพและการท่องเที่ยว และปัญหาหมอกควันที่มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในเมืองกับคนชนบทหรือเกษตรกรมากขึ้น 
 
                           แหล่งกำเนิดของวิกฤติปัญหาหมอกควัน มาจากหลายแหล่ง ประการแรก คือ ไฟป่า การเผาในพื้นที่ป่า ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณที่แห้งแล้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการจุดของมนุษย์ทั้งที่ตั้งใจและพลั้งเผลอจากการเก็บหาของป่า ล่าสัตว์ การใช้วิธีการชิงเผาที่ผิดวิธี ขาดการควบคุมของเกษตรกร โดยจุดไฟเผาป่าเพื่อป้องกันไฟป่าไหม้ลามเข้าสวนของเกษตรกร เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดไฟไหม้ป่าจำนวนมาก 
 
                           ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่รัฐมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนความรู้และวิธีการบริหารจัดการในปัจจุบันนั้น ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก โดยเฉพาะนโยบายการห้ามเผาในที่โล่งแจ้ง (Zero burning)  
 
                           ประการที่สอง การใช้ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ความจำเป็นในการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจของเกษตรกร จึงเกิดการขยายตัวของการบุกรุกพื้นที่ป่า มาเป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ ขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด กระเทียม กะหล่ำปลี ทำให้เกิดการใช้ไฟเพื่อเผาเศษวัสดุทางการเกษตรและลักลอบเผาพื้นที่ป่ามาเป็นพื้นที่เกษตร และที่สำคัญการซ้อนทับที่ดินรัฐและที่ดินทางการเกษตรของประชาชน ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่เพิ่มอย่างขาดการควบคุม 
 
                           ประการที่สาม ฝุ่นละอองจากพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรม ทั้งที่เกิดขึ้นจากการจราจร ก่อสร้าง การเผาขยะมูลฝอยชุมชน การเผาที่รกร้างว่างเปล่าพื้นที่รอการพัฒนาการเผาไหม้ โดยไม่มีการบำบัดคุณภาพอากาศในอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเพื่อการเผาไหม้
 
                           ประการที่สี่ หมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นได้จากค่าพีเอ็มในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอนและเชียงราย พื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีค่าสูงมากเมื่อเทียบกับพื้นที่สถานีตรวจวัดอื่นๆ  
 
                           แหล่งกำเนิดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ปัญหาในปีนี้ ภายใต้ข้อจำกัดของลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหุบเขา และความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่มากดทับมากขึ้น ปริมาณฝุ่นละออง หมอกควันย่อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 
 
                           ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พื้นที่จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 13,809,710 ไร่ จากข้อมูลส่วนราชการในพื้นที่ รายงานจำนวนพื้นที่ที่เกิดไฟป่า พบว่ามีพื้นที่ประมาณ 12,000 ไร่ แต่จากการศึกษาโดยการแปลภาพถ่ายของ ดร.ศุทธินี ดนตรี พบว่า จำนวนพื้นที่เกิดไฟไหม้ในปี 2550 จำนวน 2,652,285 ไร่ ในปี 2553 และจำนวน 2,962,329 ไร่ ซึ่งเป็นจำนวนพื้นที่ที่แตกต่างกันอย่างมาก 
 
                           ฝ่ายสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ได้นำข้อมูลขอบเขตพื้นที่ที่เกิดการเผาไหม้จากการรายงานของ ดร.ศุทธินี ดนตรี มาซ้อนทับกับการจำแนกประเภทป่าต่างๆ ป่าเต็งรัง เบญจพรรณ พื้นที่สวนป่า/ป่าผสม และป่าสนเขา ป่าดิบเขา และเขตพื้นที่เกษตร (ใช้สอย) พบว่า มีการกระจายอย่างมีนัยสำคัญต่อการวางแผนการแก้ไขปัญหา (ดูกราฟฟิกประกอบ)  
 
 
 
แก้วิกฤติหมอกควัน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม
 
 
 
                           พื้นที่เกิดไฟป่ามากที่สุด คือ พื้นที่ป่าผลัดใบประเภทป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ จำนวนมากถึงร้อยละ 45.93 ของจำนวนพื้นที่ไหม้ทั้งหมด รองลงมาคือ พื้นที่สวนป่า/ป่าผสม จำนวนร้อยละ 24.87 พื้นที่ใช้สอย/ทำกินร้อยละ 18.44  ป่าสนเขา ดิบเขา ร้อยละ 10.76   
 
                           จากข้อมูลดังกล่าว มีนัยสำคัญต่อการวางแผนการบริหารจัดการอย่างมาก เพราะช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ส่วนใหญ่เป็นไฟป่าที่ไหม้ในเขตป่าเต็งและป่าเบญจพรรณ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาเกิดภาวะวิกฤติหมอกควันที่เกินระดับมาตรฐานในจ.เชียงใหม่ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี ขณะที่พื้นที่สวนป่า หรือป่าผสมมักเกิดการไหม้ในช่วงปลายมีนาคม-ต้นเมษายน และลามเข้าไปในพื้นที่ป่าสนเขา ดิบเขาในช่วงเวลาดังกล่าว 
 
                           จากวิกฤติปัญหาดังกล่าว การแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า โดยการบริหารจัดการลำพังรัฐเพียงฝ่ายเดียวไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้ ด้วยเงื่อนไข ข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหา ที่พบว่าการดำเนินการหน่วยงานราชการยังคงเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างจริงจังในทุกระดับ 
 
                           ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพียงผู้เฝ้าดูการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ไม่ใช่ผู้ริเริ่มดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการกระจายอำนาจ ขณะที่ระบบการทำงานแบบบูรณาการ ยังไม่เข้มแข็ง การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนชุมชนในการแก้ไขปัญหามีความล่าช้า ไม่สอดคล้องกับฤดูกาลของการเกิดปัญหาและไม่เพียงพอ ไม่ต่อเนื่อง ไม่เข้าถึงกลุ่มประชาชนผู้ทำหน้าที่ในการดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาระดับหมู่บ้าน ตำบล  
 
                           ไม่มีกฎหมายและนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้ชุมชนได้มีสิทธิและหน้าที่ในการทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอย่างเป็นระบบ ทำให้ประชาชนขาดสิทธิในการกำหนดจัดทำแผนการจัดการป่าจัดการไฟป่าร่วมกับรัฐอย่างเหมาะสม   
 
                           ไม่มีนโยบายที่เอื้อให้เกิดการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามสภาพความเหมาะสมของพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาเรื่องการซ้อนทับระหว่างที่ทำกินของประชาชนที่ซ้อนทับการประกาศเป็นที่ป่าของรัฐจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุพื้นฐานทำให้รัฐไม่สามารถดำเนินการควบคุมป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบุกรุกเพื่อขยายพื้นที่การปลูกพืชเข้าไปในพื้นที่ป่าจำนวนมาก และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟจำนวนมาก 
 
                           รวมทั้งการขาดมาตรการทางนโยบายที่เหมาะสมในการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงโอกาสในการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชจากพืชเชิงเดี่ยวไปสู่ระบบการปลูกสร้างสวนป่าแบบผสมผสาน ซึ่งเป็นรูปแบบการเกษตรสำคัญที่สามารถลดการเผาไปได้จำนวนมาก 
 
                           ดังนั้น การบริหารจัดการที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อลดไฟป่า ลดหมอกควันอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ หนึ่ง-การศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ละพื้นที่ซึ่งมีบริบทโครงสร้างที่แตกต่างกัน ลักษณะของพื้นที่ สภาพป่า ระบบการผลิตทางการเกษตร   
 
                           สอง-การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทุกส่วนที่จะมาร่วมมือกันในการปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดป่า ให้เกิดการปฏิบัติการในการบริหารจัดการป่า สร้างแรงจูงใจในการเข้าร่วมมามีส่วนร่วมในการจัดการไฟป่า มีกลไกการทำงานเชิงพื้นที่ ที่มีภาคีความร่วมมือหลายฝ่ายเป็นกลไกความร่วมมือในการดำเนินงานในระดับพื้นที่ที่ชัดเจน มีระบบติดตามผล มีระบบการรายงานผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในการเตรียมการป้องกัน การปฏิบัติการ และการติดตามผล  
 
                           สาม-การส่งเสริมสนับสนุนให้มีกฎหมาย นโยบายในระดับท้องถิ่นและระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการไฟป่าโดยตรง โดยมีสาระสำคัญเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า การจัดการทรัพยากรป่าไม้ การแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการเกษตร   สี่-ชุมชนในเมือง ผู้ประกอบการธุรกิจ ห้างร้านเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเข้าใจ พัฒนาความร่วมมือ เพื่อลดช่องว่าง และสร้างช่องทางให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการค้า ซึ่งมีกำลังทรัพย์และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤติหมอกควัน จนทำให้สูญเสียรายได้มหาศาล เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน ไม่ใช่เพียงแค่การออกมาโวยวาย เมื่อเกิดสถานการณ์ปัญหาเท่านั้น 
 
                           สิ่งสำคัญ คือการสร้างแนวทางการสนับสนุนการจัดการไฟป่าของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยแนวคิด “ความรับผิดชอบร่วม” และ “การพัฒนาระบบสนับสนุน”  
 
 
 
 
 
-------------------------
 
(หลากมิติเวทีทัศน์ : แก้วิกฤติหมอกควัน ประชาชนต้องมีส่วนร่วม : โดย...เดโช ไชยทัพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ))
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ