Lifestyle

ผลงานวิจัยสร้างสรรค์จาก'เสื่อกก'สู่ผลงานออกแบบระดับชาติ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผลงานวิจัยสร้างสรรค์จาก"เสื่อกก"สู่ผลงานออกแบบระดับชาติ : แต่งร้านให้ได้ล้าน โดย... ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง

 
          เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือหัวใจสำคัญในการลงทุนในยุคแห่งดิจิทัล เป็นระบบเศรษฐกิจที่เก็บแนวคิดแห่งการเพิ่มพูนด้วยปัญญา การเพิ่มมูลค่าของสินค้า และผลิตภัณฑ์โดยอยู่บนพื้นฐานต้นทุนที่ไม่สูง แต่ได้มูลค่ามหาศาลด้วยการออกแบบสร้างสรรค์
 
          สำหรับประเทศไทยมีหัตถกรรมพื้นบ้านหลายอย่างที่สามารถนำมาฟื้นฟูเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้มากมาย ภารกิจสำคัญของประเทศในอนาคตที่สามารถกระตุ้นให้เกิดมูลค่าเพิ่มของสินค้าและวัสดุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรรูปจากหัตถกรรม รากหญ้า ตลอดจนวัตถุดิบทางธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นดิน เป็นชนวนเหตุแห่งการพัฒนาประเทศผ่านภูมิปัญญาที่มีอยู่มากมายภายใต้สุวรรณภูมิ
 
          ภาควิชาออกแบบตกแต่งภายใน คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ร่วมกับกลุ่มธนาคารทิสโก้ นำทีมโดย ผศ.ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐกุล, อ.พัฒนา เจริญสุข, ผศ.ดร.ปฐวี ศรีโสภา ได้ร่วมกันทำโครงการวิจัยสร้างสรรค์ การออกแบบจากผลิตภัณฑ์จากกก “กกทอ” โดยเลือกชุมชนกระนวน จ.ขอนแก่น เป็นต้นฉบับ ซึ่งจากเดิมกกก็คือวัตถุดิบการทอเสื่อที่สำคัญอยู่แล้ว ที่เราเรียกว่า เสื่อกก การวิจัยครั้งนี้คือการต่อยอดแปรรูปออกมาได้อย่างน่าสนใจ 
 
          ความเป็นมาเป็นความพยายามที่จะต่อยอดจากโครงการวิจัยสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจากชุมชนอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น ที่ผ่านมา จากการที่บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ลงพื้นที่ในชุมชน มีความสามารถในการทอเสื่อกก ซึ่งใช้ช่วงเวลาที่ว่างจากการทำเกษตรกรรม แต่ด้วยทักษะการผลิตภัณฑ์เสื่อกกยังคงรูปแบบ และการใช้งานแบบเดิม ไม่เป็นที่น่าสนใจ ทั้งทักษะการผลิตและคุณค่าเพิ่มทางสุนทรียะ หรือประสบการณ์ที่แปลกใหม่ที่กระตุ้นเร้าทางจิตใจและอารมณ์ ให้เป็นมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ 
 
          กลุ่มธนาคารทิสโก้ฯ เล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ขอความอนุเคราะห์ทางวิชาการมายังคณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งเป็นคณะวิชาที่ได้รับรางวัลสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดีเด่นระดับประเทศ เพื่อทำการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ร่วมกับชุมชนอำเภอกระนวน จ.ขอนแก่น อันเป็นความร่วมมือกันในสามฝ่าย โดยมีคณะมัณฑนศิลป์ ทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์และพัฒนาเทคนิคในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่าทางทักษะ สุนทรียะ และประสบการณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าแฝงให้แก่ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก โดยผ่านกิจกรรมการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ และการสาธิตการสร้างสรรค์ และคำสั่งจ้างให้ผลิตของที่ระลึกตามแบบที่คณะวิจัยได้สร้างสรรค์ไว้ให้ ซึ่งในที่นี้ได้แก่ 5 ประเภท ประกอบไปด้วย
          1.ชุดแผ่นรองภาชนะบนโต๊ะรับประทานอาหาร
          2.ของประดับตกแต่งขนาดเล็กในที่พักอาศัย
          3.งานประติมากรรมศิลปะขนาดเล็กที่สามารถใช้สอยได้บางลักษณะ เพื่อประดับและใช้งานบนโต๊ะผู้บริหารระดับสูง
          4.กระเป๋าผ้าอเนกประสงค์เพื่อเป็นของที่ระลึกของบริษัท ทิสโก้ฯ
          5.ผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกอื่นๆ ที่แสดงภูมิปัญญาและสะท้อนลักษณะพิเศษที่น่าจดจำของชุมชนเพื่อจำหน่ายได้
 
          กระบวนการศึกษาที่ใช้ดังนี้
          1.การสำรวจและสังเกตโดยการลงพื้นที่จริงๆ เพื่อศึกษาชุมชนต่างๆ ในของเขตการศึกษา
          2.นำผลมาอภิปรายเพื่อออกแบบ จากนั้นนำมาสั่งจ้างเพื่อจัดทำต้นแบบชิ้นงานเบื้องต้น
          3.นำงานที่ได้มาศึกษาความเป็นไปได้ใหม่ๆ โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับทีมออกแบบ
          4.นำแบบที่ได้มาทำการจัดทำต้นแบบ(ทั้งจัดทำโดยผู้ร่วมวิจัยเองและทั้งสั่งจ้างจัดทำต้นแบบ) เพื่อสั่งจ้างให้ชุมชนจัดทำการผลิตซ้ำเพื่อการศึกษาระยะเวลาและงบประมาณต่อไป
          5.รวบรวมปัญหาทั้งกระบวนการเพื่อทำการสรุปและนำเสนอเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์
          6.นำผลงานที่ได้ไปต่อยอดบูรณาการนำร่องไปยังงานในมิติอื่นๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมต่อไป
 
          ต้นกกที่ใช้ทำเสื่อเรียกว่า กกลังกา หรือกกกลม หรือไหล มีอยู่ทั่วไปในทุกจังหวัดในภาคอีสาน และมีมากใน จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.ระยอง จ.ชลบุรี ต้นกกเป็นหญ้าชนิดหนึ่ง มีหัวเหมือนข่า แต่แก่เล็กกว่า แล้วแตกแขนงเป็นต้นตามหัวของมันอย่างเดียวกับข่า กก มี 2 ชนิด คือ 
          1.กกพื้นเมือง ภาษาพื้นเมือง เรียกกกเหลี่ยม หรือผือนา เพราะลักษณะลำต้นเป็นเหลี่ยมสามเหลี่ยมผิดกว่าต้นหญ้าธรรมดา ผิวของกกเหลี่ยมแข็งกรอบและไม่เหนียว เมื่อนำมาทอเป็นผืนเสื่อแล้วขัดไม่เป็นเงา เฉพาะอย่างยิ่งใช้ไม่ทนทาน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีผู้นิยมใช้กกชนิดนี้มาทำเป็นเสื่อมากนัก
          2.กกพันธุ์ลังกา ภาษาพื้นเมือง เรียกว่า กกกลม หรือไหล ที่เรียกเช่นนี้ เนื่องจากลำต้นของมันกลม ผิวอ่อนนุ่มเหนียว ไม่กรอบ เมื่อนำมาทอเป็นเสื่อแล้วนิ่มนวลน่าใช้ ขัดถูก็เป็นมันน่าดู จึงมีผู้ใช้กกกลมมาทอเสื่อกันมาก
 
          คุณสมบัติของต้นกก เมื่อฉีกออกเป็นเส้นเล็กๆ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง จะได้เส้นกกเส้นละเอียดเล็กที่มีความเหนียวผิวสัมผัสอ่อนนุ่มและผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้านจากการนำเส้นกกมาทอเป็นเสื่อเพื่อใช้งานก็ได้พัฒนาต่อยอดไปสู่แนวความคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หลากหลายมากมาย ซึ่งจะยกตัวอย่างพอสังเขปดังนี้
          1.ทำเป็นเสื่อสำหรับนอน สำหรับปูพื้นในห้องรับแขกแทนพรมและปูลาดตามพื้นโบสถ์ วิหาร เพื่อความสวยงาม เป็นต้น
          2.ทำเป็นกระเป๋ารูปต่างๆ ได้หลายแบบแล้วแต่ผู้คิดประดิษฐ์แบบ เช่น กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าหิ้วของสตรี
          3.ทำเป็นหมอน หมอนรองที่นั่ง หมอนพิง พนักเก้าอี้
          4.ทำเป็นกระสอบ เรียกว่ากระสอบกก
          5.ทำเป็นเชือกสำหรับมัดของที่ห่อแล้ว
 
          และนี่ก็เป็นอีกการขับเคลื่อนของมัณฑนศิลป์ที่เล็งเห็นการปฏิรูปการศึกษาด้วยการมีส่วนร่วมในการเรียนกับการปฏิบัติจริง และการเป็นผู้บุกเบิกแนวทางการใช้ศิลปะและการออกแบบมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ จากรากหญ้าสู่มืออาชีพอย่างสร้างสรรค์ครับ
 
.......................................
(หมายเหตุ  ผลงานวิจัยสร้างสรรค์จากเสื่อกกสู่ผลงานออกแบบระดับชาติ : แต่งร้านให้ได้ล้าน โดย... ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ