Lifestyle

นกอัญชันป่าขาเทา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกอัญชันป่าขาเทา

               นกในวงศ์นกอัญชันเป็นนกที่ชอบเดินหากินตามพื้น มองเผินๆ แลดูคล้ายไก่ ทำให้มีชื่อเรียกมากมายที่เกี่ยวข้องกับไก่ ไม่ว่าจะเป็น Waterhen, Watercock, Swamphen, Moorhen แต่โดยทั่วไปเราเรียกนกอัญชันรวมๆ ว่า Rail นกอัญชันส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามบึงและทะเลสาบ แต่ในประเทศไทยมีนกอัญชันอยู่สองชนิดที่ชอบหากินอยู่ตามพื้นป่า ซึ่งบางครั้งห่างไกลจากแหล่งน้ำ ทำให้ได้ชื่อว่า “นกอัญชันป่า”

               นกอัญชันป่าที่พบในเมืองไทยถูกเรียกว่า Crake ตามนกอัญชันในสกุล Porzana  ที่มีลักษณะภายนอกคล้ายกัน แม้ตามปกติมันจะเดินหากินตลอดเวลาจนดูเหมือนมันจะบินได้ไม่แข็งแรง แต่นกอัญชันป่าทั้งสองชนิดก็มีบางส่วนเป็นนกอพยพทางไกลด้วย และไม่นานมานี้ก็มีมาปรากฏตัวที่สวนหย่อมข้างตึกเรียน ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้นักดูนกในเมืองกรุงที่ทราบข่าวย่อมไม่พลาดที่จะตามไปดู

                เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองที่นกอัญชันป่าขาเทา (Slaty-legged Crake) ถูกพบเดินหากินอยู่ในสวนหย่อมริมฟุตบาทตรงกับวันที่มีตลาดนัดในมหาวิทยาลัยพอดิบพอดี ท่ามกลางนักศึกษาและผู้คนที่เดินผ่านไปมา นับว่าเป็นเรื่องประหลาดที่นกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่หายากมาโชว์ตัวในใจกลางเมืองกรุงเช่นนี้ หลายคนสันนิษฐานว่ามันอาจบินอพยพมาชนตึกในเวลากลางคืนแล้วได้รับบาดเจ็บที่ปีก ทำให้บินต่อไปยังแหล่งอาศัยที่เหมาะสมตามป่าไม่ได้ นกตัวนี้จึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงนักเพราะมันสามารถเดินหากินและวิ่งได้ราวกับแข็งแรงดี

                นกอัญชันป่าขาเทามีลักษณะเด่นคือลายขวางสีขาวสลับดำที่ท้อง หัวและอกเป็นสีส้มอมน้ำตาล ม่านตาสีแดง คอสีขาว จำแนกจากนกอัญชันป่าขาแดง (Red-legged Crake) ญาติสนิทที่ลึกลับน้อยกว่าจากสีขา วงรอบตาสีแดงและลายขีดสีขาวบนปีก ซึ่งลักษณะเหล่านี้ไม่พบในนกอัญชันป่าขาเทา

                อาหารหลักของนกอัญชันป่าขาเทาคือสัตว์ขนาดเล็กและผลไม้ตามพื้นป่า มักอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำในป่ามากนัก พบได้ตามป่าตั้งแต่ที่ราบจนถึงระดับความสูง 1,830 จากระดับน้ำทะเล ในแถบเอเชียตะวันออกและอินเดียไปจนถึงอินโดนีเซีย บางส่วนเป็นนกอพยพ นกชนิดนี้เคยมีรายงานพบตัวเป็นๆ ในกรุงเทพฯ มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีมาแล้วที่สวนลุมพินี แม้จะมีรายงานการพบเห็นเกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคตะวันตกและภาคใต้ แต่สถานภาพในเมืองไทยยังคงคลุมเครือ มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจทำรังวางไข่ในเมืองไทยด้วย

..........................................................
( นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกอัญชันป่าขาเทา )

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ