เด่นโซเชียล

พาส่อง "ยาน DART" ทำงานอย่างไร กับภารกิจสกัดดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พาส่อง "ยาน DART" เจาะลึกส่วนประกอบและการทำงาน กับภารกิจป้องกันดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก นับถอยหลังเตรียมทะยานขึ้นสู่อวกาศ 24 พ.ย.นี้

นับถอยหลัง "ยาน DART" ในภารกิจพุ่งชน "ดาวเคราะห์น้อย" เตรียมทะยานขึ้นสู่อวกาศ 24 พ.ย.นี้ นับว่า "DART" เป็นภารกิจแรกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันดาวเคราะห์ (Planetary defense) โดยจะทดสอบวิธีการเบี่ยงเบนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยไม่ให้พุ่งชนโลก 

 

 

ภารกิจ "DART" เป็นภารกิจแรกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันดาวเคราะห์ (Planetary defense) โดยจะทดสอบวิธีการเบี่ยงเบนวงโคจรของ "ดาวเคราะห์น้อย" ไม่ให้ "พุ่งชนโลก" สำหรับภัยคุกคามที่เกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง แต่นับว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำมาก และสามารถป้องกันได้ "ยาน DART" จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยไขความเข้าใจเกี่ยวกับการปกป้องโลกจากภัยคุกคามเหล่านี้ 

 

"ยาน DART" เป็นยานที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ตัวยานมีลักษณะเป็นทรงลูกบาศก์กว้างด้านละประมาณ 1 เมตร มีปีกแผงเซลล์สุริยะที่สามารถกางออกมาจนยานมีความยาว 12 เมตร ส่วนระบบเครื่องยนต์ขับดันไฟฟ้า (electric propulsion system) จะสร้างกระแสของไอออน (อนุภาคมีประจุ) เพื่อสร้างแรงดันอย่างต่อเนื่องระหว่างที่ยานกำลังเคลื่อนที่ 

 

ยาน DART จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟัลคอน 9 จากฐานปล่อยจรวดในฐานทัพอวกาศฟานเด็นเบร็ค (Vandenberg Space Force Base) รัฐแคลิฟอร์เนีย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 

 

ยาน DART จะโคจรรอบโลก ครบ 3 รอบ ระหว่างนั้นจะจุดเครื่องยนต์ขับดันไฟฟ้าเพื่อปรับอัตราเร็วให้มากพอที่จะหลุดจากวงโคจรรอบโลกได้ ก่อนมุ่งหน้าสู่ "ดาวเคราะห์น้อย" ดีดิมอส-ไดมอร์ฟอส (มีกำหนดถึงในต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565) และอาจจะเดินทางผ่านใกล้ดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น (2001 CB21) ระหว่างทางอีกด้วย 

 

ตัวยาน DART มีอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพียงชิ้นเดียวคือ กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง ที่มีชื่อว่า DRACO ซึ่งใช้ในการนำทาง DART ไปยังจุดหมาย กล้อง DRACO มีต้นแบบจากกล้องถ่ายภาพที่ติดตั้งบนยานนิวฮอไรซันส์ของนาซา 

 

พาส่อง "ยาน DART" ทำงานอย่างไร กับภารกิจสกัดดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

 

 

ในช่วง 5 วันก่อนที่ยานจะถึงเป้าหมาย "ยาน DART" จะปล่อยยานลำลูกเป็นดาวเทียมขนาดเล็ก (CubeSat) ที่พัฒนาโดยองค์การอวกาศอิตาลี (ASI) ชื่อ LICIACube (ย่อมาจาก Light Italian CubeSat for Imaging of Asteroids) เพื่อสังเกตการณ์การพุ่งชนของยานลำแม่ ตัวยานลำแม่นั้นอยู่ไกลจากโลกเกินกว่าที่จะบังคับจากศูนย์ควบคุมได้อย่างทันที จึงต้องปรับให้ยานใช้ระบบนำทางอัตโนมัติตั้งแต่ช่วง 4 ชั่วโมงก่อนการพุ่งชน 

 

ภาพถ่ายจากกล้อง DRACO จะช่วยทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของยานลำแม่รู้ความแตกต่างระหว่างดาวเคราะห์น้อยดีดิมอสกับไดมอร์ฟอส เพื่อให้ยานชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสที่เป็นเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง 

 

ในการพุ่งชนของ "ยาน DART" ตัวยานจะพุ่งชน "ดาวเคราะห์น้อย" ไดมอร์ฟอส ด้วยอัตราเร็ว 6.6 กิโลเมตรต่อวินาที และนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าการพุ่งชนดังกล่าวจะทำให้ "ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอส" ลดระดับวงโคจรมาอยู่ใกล้ "ดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส" มากขึ้น และคาบการโคจรของไดมอร์ฟอสจะเปลี่ยนจาก 11.9 ชั่วโมง เป็น 11.8 ชั่วโมง (เร็วขึ้นประมาณ 4.2 นาที) 

 

พาส่อง "ยาน DART" ทำงานอย่างไร กับภารกิจสกัดดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก

 

อ้างอิง : https://www.planetary.org/space-missions/dart
ที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ / พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - จนท.สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. 


 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ