เด่นโซเชียล

"น้ำท่วม" กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 11 จว. เหลือพื้นที่ยังไม่คลายอีกเพียบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กอนช. รายงาน "น้ำท่วม" กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 11 จว. หลังพายุ “โกนเซิน” “เตี้ยนหมู่” คงเหลือพื้นที่น้ำท่วมอีก 20 จังหวัด

วันนี้ 4 ต.ค. 64 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุ “โกนเซิน” และ “เตี้ยนหมู่” ทำให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่  กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ในช่วงวันที่ 1-30 กันยายน ที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 31 จังหวัด 180 อำเภอ 304 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ภาคกลาง 6 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 จังหวัด โดยล่าสุด 11 จังหวัดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ได้แก่ จ.ลำปาง จ.ตาก จ.กาญจนบุรี จ.ลพบุรี จ.เลย จ.ชลบุรี จ.ตราด จ.จันทบุรี จ.ปราจีนบุรี จ.ระยอง จ.นครนายก ขณะที่อีก 20 จังหวัดที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วม กอนช. ยังคงติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อบริหารจัดการน้ำ ให้สถานการณ์คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด แบ่งเป็น  พื้นที่น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างรวม 17 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี จ.อ่างทอง จ.พระนครศรีอยุธยา จ.สระบุรี จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ และน้ำท่วมขังอยู่บางจุดรวม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.บุรีรัมย์ และ จ.อุบลราชธานี


ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กอนช. ได้มีการวิเคราะห์ ประเมิน และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ ในการเตรียมความพร้อมรับมือ 10 มาตรการฤดูฝน ทั้งการปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ การปรับแผนการบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ จัดจราจรน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ และลำน้ำ สำหรับรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที โดยมีการสื่อสารเตือนภัยด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง และระดับพื้นที่ในการเตรียมแผนป้องกันรับมือและให้การช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ  เพื่อเน้นย้ำในเรื่องการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ในการเตรียมพร้อมในการอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ด้วย

 

 

“กอนช. ได้มีการสื่อสารเตือนภัยด้านน้ำ โดยออกประกาศแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสียหายทั้งแก่ชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยวานนี้ (3 ต.ค. 64) กอนช. ได้มีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนกลาง บริเวณ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น และ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม พร้อมออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 4-15 ต.ค. นี้ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้รับทราบสถานการณ์ รวมถึงเตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูงและเตรียมอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยงได้ทันเวลา และขณะนี้ กอนช. อยู่ในระหว่างการเฝ้าระวังสถานการณ์ในแม่น้ำมูล เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยง โดยขณะนี้ มวลน้ำจาก จ.นครราชสีมา ได้เคลื่อนตัวมาผ่าน จ.ศรีสะเกษ แล้ว และมวลน้ำสูงสุดกำลังเคลื่อนผ่าน จ.อุบลราชธานี สูงสุด 2,576 ลบ.ม./วิ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 64 ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.46 ม.

น้ำท่วมโดยประเมินว่ามวลน้ำดังกล่าวจะเคลื่อนตัวไหลลงแม่น้ำโขง ก่อนที่มวลน้ำสูงสุดจากแม่น้ำชีจะดำเนินทางมาถึง จ.อุบลราชธานี ซึ่ง กอนช.จะประสานแจ้งกรมชลประทานเพื่อปิดบานระบายน้ำแม่น้ำชี เพื่อเก็บกักน้ำไม่ให้ไหลมาสมทบที่จุดบรรจบน้ำมูล ที่จะมีมวลน้ำบางส่วนจากอ่างลำเชียงไกรที่คาดว่าจะมีมวลน้ำลดน้อยลงจากการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวแล้วเสร็จตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ)  ซึ่ง กอนช. จะติดตามสถานการณ์ก่อนออกประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังหากมีพื้นที่เสี่ยงในลุ่มน้ำโดยเร็วที่สุดต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าว

 



 สำหรับการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา โดยในช่วงสัปดาห์หน้า ระหว่างวันที่ 5 - 10 ต.ค. 64 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ในอีก 3-4 วันข้างหน้าจะมีมวลน้ำจากตอนบนลงมา ประกอบกับอาจจะมีฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่ง กอนช. จะมีการประเมินคาดการณ์มวลน้ำที่จะไหลลงมา การคาดการณ์สถานการณ์น้ำทะเล เพื่อวางแผนจัดจราจรน้ำ รวมถึงประสานงานกับกรุงเทพมหานครเพื่อเตรียมความพร้อมในการระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ รวมถึงจุดเสี่ยงน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. เพื่อเตรียมการดูแล ป้องกัน และลดผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างเต็มศักยภาพ

 

 

"น้ำท่วม" กลับสู่ภาวะปกติแล้ว 11 จว. เหลือพื้นที่ยังไม่คลายอีกเพียบ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline