"พยากรณ์อากาศการเกษตร" 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2564 การคาดหมายลักษณะอากาศ "พยากรณ์อากาศ" ในช่วงวันที่ 1 - 4 ตุลาคม 2564 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนน้อย แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก
ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะไหหลำ
คำเตือน ในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนัก "เกษตรกร" ที่อยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
"พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร" 7 วันข้างหน้า และผลกระทบต่อพืช/สัตว์ มีดังนี้
ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 1 - 4 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60-80% ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชั่วโมง
สำหรับระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนในช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้จะเป็นช่วงฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับป้องกันลมหนาวและเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเอาไว้ด้วย
นอกจากนี้ไม้ผลที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งและทาแผลรอยตัดด้วยสารป้องกันเชื้อรา และใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นฟื้นตัวได้เร็วมีเวลาพักตัวได้นาน ส่วนทางตอนล่างของภาคที่มีน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกอย่าให้น้ำขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 1 - 4 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20-40 ของพื้นที่ ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ความยาวนานแสงแดด 5-7 ชั่วโมง
สำหรับระยะนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝนอากาศจะแปรปรวน เกษตรกรควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ส่วนพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมในระยะที่ผ่านมาหากระดับน้ำลดลงแล้ว เกษตรกรควรรีบระบายน้ำออกจากแปลงปลูกอย่าให้น้ำขังบริเวณแปลงปลูกและโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่าต้นพืชตายได้ รวมทั้งระวังป้องกันโรคหลังน้ำลด เช่น น้ำกัดเท้า โรคตาแดง และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
ส่วนในช่วงครึ่งหลังของเดือนนี้ จะเป็นฤดูหนาว เกษตรกรควรจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับกันหนาวเอาไว้ให้พร้อมใช้งาน ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์สำหรับป้องกันลมหนาวและเพิ่มความอบอุ่นภายในโรงเรือนเอาไว้ด้วย อนึ่ง ฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมาทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เป็นต้น
ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 1 - 4 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ความยาวนานแสงแดด 4-7 ชั่วโมง
สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำขังในแปลงปลูกพืชนาน เพื่อป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งจะทำให้ต้นพืชเสียหายและตายได้ ส่วนฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอในระยะนี้ เกษตรกรควรระวังและป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก ซึ่งจะกัดกินส่วนที่อ่อนของพืชทำให้ต้นพืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง และด้อยคุณภาพ
อนึ่ง ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ควรปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ในที่ชื้นแฉะเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย
ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 1 - 4 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 70-80% ความยาวนานแสงแดด 3-5 ชั่วโมง
สำหรับพื้นที่การเกษตรที่เป็นที่ลุ่ม เกษตรกรไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตรนาน เพราะจะทำให้รากพืชเน่า ต้นพืชตายได้ รวมทั้งควรระวังและป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา ในพืชไร่ ไม้ผล และพืชผัก เช่น โรครากเน่าในพริกไทย โรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล และโรคแอนแทรกโนสในพริก เป็นต้น
ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรดูแลสภาพน้ำให้เหมาะกับชนิดของสัตว์น้ำที่เลี้ยง และไม่ควรปล่อยให้น้ำฝนที่ตกบนดินไหลลงบ่อโดยตรง เพราะจะทำให้สภาพน้ำเปลี่ยน สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทัน อ่อนแอและเป็นโรคได้ง่าย และหลังจากฝนตกควรเปิดเครื่องตีน้ำเพื่อป้องกันน้ำแยกชั้น และเป็นการเพิ่มออกซิเจนให้แก่น้ำ
ภาคใต้ "ฝั่งตะวันออก" ในช่วงวันที่ 1 - 4 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2564 มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 75-85% ความยาวนานแสงแดด 4-6 ชั่วโมง
ภาคใต้ "ฝั่งตะวันตก" มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40-70 ของพื้นที่ ตลอดช่วง โดยในช่วงวันที่ 6 - 7 ตุลาคม 2564 มีฝนตกหนักบางแห่งอุณหภูมิต่ำสุด 19-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร ความชื้นสัมพัทธ์ 85-95%
ระยะนี้จะมีฝนตกหนักบางพื้นที่ เกษตรกรควรระวังอันตรายและป้องกันความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว สำหรับพื้นที่ซึ่งมีฝนตกติดต่อกันทำให้ดินและอากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคหน้ากรีดยาง โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า และโรคราสีชมพูในยางพารา โรคราสนิมในกาแฟ โรครากน่าโคนเน่าในไม้ผล เป็นต้น
ส่วนทางฝั่งตะวันออกฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ เกษตรกรควรระวังและป้องกันการระบาดของศัตรูพืชจำพวกหนอน ในพืชสวนและพืชผัก อนึ่ง ระยะต่อไปภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีฝนเพิ่มขึ้น เกษตรกรควรเตรียมขุดลอก คูคลอง ทางระบายน้ำ ตลอดจนสันดอนปากแม่น้ำ เพื่อให้น้ำระบายได้สะดวกเมื่อมีฝนตกหนัก
สำหรับบริเวณที่มี ฝนตกหนัก และฝนหนักมากที่สุด ตามภาคต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร มีดังนี้
- ภาคเหนือ 180.0 มม. ที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 165.2 มม. ที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย เมื่อวันที่ 25 กันยายน
- ภาคกลาง 362.0 มม. ที่ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน
- ภาคตะวันออก 252.0 มม. ที่ อ.ขลุง จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 25 กันยายน
- ภาคใต้ 129.8 มม. ที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เมื่อวันที่ 26 กันยายน
- กรุงเทพมหานคร 66.8 มม. ที่ โรงเรียนสุวรรณพลับพลาพิทยาคม เขตตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 30 กันยายน
หมายเหตุ เกณฑ์ปริมาณฝน
- ฝนเล็กน้อย ปริมาณฝนที่วัดได้ (มม.) 0.1-10.0
- ฝนปานกลาง ปริมาณฝนที่วัดได้ (มม.) 10.1-35.0
- ฝนหนัก ปริมาณฝนที่วัดได้ (มม.) 35.1- 90.0
- ฝนหนักมาก ปริมาณฝนที่วัดได้ (มม.) > 90.0
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "พยากรณ์อากาศ" วันนี้ ทั่วไทยฝนฟ้าคะนอง กทม.ตกร้อยละ 40 ของพื้นที่
- ปังสุด "หมูกระทะโต้คลื่น" ลูกค้านั่งกินสุดชิล ร้านดังพลิกวิกฤติในวัน น้ำท่วม
- อ่วม ม.หอการค้าไทย ชี้ "น้ำท่วม" เสียหาย 2 หมื่นล้าน นายกฯ ฟื้นเศรษฐกิจ
- ลำบากจริง "น้ำท่วม" บ้านพักครู ต้องเข้าออกทางหน้าต่างแทน
- เช็กที่นี่ "น้ำท่วม" ถนน ตำรวจทางหลวง สรุปสถานการณ์ ทุกเส้นทาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง