เด่นโซเชียล

Pfizer-Sinopharm "วัคซีนเด็ก" เสียงแตก เทียบให้ชัด เลือกฉีดตัวไหนให้ลูกดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอเฉลิมชัย เปิดข้อมูล "วัคซีนเด็ก" เสียงแตก Pfizer-Sinopharm ทำผู้ปกครองสับสน เลือกฉีดตัวไหนให้ลูกดี ก่อนไปโรงเรียน

ท่ามกลางความกังวลของผู้ปกครอง ในการเลือกวัคซีนโควิด-19 ให้กับลูก ที่ในขณะนี้ มีเพียง 2 ทางเลือก ระหว่างวัคซีนเชื้อตาย "ซิโนฟาร์ม" กับชนิด mRNA คือ "ไฟเซอร์"

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ผ่าน Blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ไขข้อข้องใจให้กับผู้ปกครอง ระหว่างวัคซีน Pfizer กับ Sinopharm นักเรียนควรฉีดตัวไหนดี ก่อนไปโรงเรียน ระบุว่า

ในการเปิดเรียนภาคการศึกษาใหม่ เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองยินดีกันมาก เพราะบุตรหลาน จะได้มีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้ หลังจากที่ต้องเรียนออนไลน์กันมาเป็นเวลานาน และยังทำให้คุณพ่อคุณแม่ มีภาระในการดูแลบุตรหลานของตนเองลดลงในช่วงเวลากลางวันด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่า การเปิดให้นักเรียนไปโรงเรียนได้นั้น มีความเสี่ยงที่จะติดโควิดเพิ่มขึ้น

 

มาตรการสำคัญ ที่จะลดความเสี่ยงก็คือ การฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคุณครู และบุคลากร ความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ก็คือ วัคซีนที่จะฉีดให้กับนักเรียนนั้น มีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ผลข้างเคียงจะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ แตกต่างไปจากการฉีดวัคซีนโควิดในผู้ใหญ่ ที่ส่วนใหญ่มักจะสนใจเรื่องประสิทธิผลในการป้องกันโรค มากกว่าผลข้างเคียง หรือความปลอดภัย การพิจารณาเลือกชนิดของวัคซีนฉีดให้กับบุตรหลาน จึงเป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสำคัญ และให้ความสนใจกันมาก ประกอบกับข้อมูลมีไม่ครบถ้วน และมีความหลากหลาย จึงทำให้ยิ่งตัดสินใจได้ยากขึ้นไปอีก

 

Pfizer-Sinopharm "วัคซีนเด็ก" เสียงแตก เทียบให้ชัด เลือกฉีดตัวไหนให้ลูกดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

บทความนี้ จึงจะเสนอข้อมูลที่จำเป็น สำหรับเป็นหลักคิด ที่เป็นตรรกะ และเป็นเหตุเป็นผล ให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองพิจารณาตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

 

1. ถาม : ถ้าไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แล้วไปโรงเรียน จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากน้อยเพียงใด
    ตอบ : มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แต่ถ้านักเรียน รวมทั้งคุณครูและบุคลากรฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก นักเรียนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็จะมีโอกาสติดเชื้อน้อยลง


2. ถาม : ถ้าเด็กนักเรียนติดเชื้อแล้ว จะมีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือไม่
    ตอบ : เด็กเมื่อติดเชื้อแล้ว มักจะไม่แสดงอาการ ในส่วนน้อยที่แสดงอาการก็ไม่ค่อยรุนแรง และมีเด็กที่เสียชีวิตจากโควิดน้อยมาก 

เมื่อเทียบกับผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว จะเสียชีวิต 90-95% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เสียชีวิตเพียง 5-10% ส่วนในเด็กเสียชีวิตน้อยมากไม่ถึง 1%

3. ถาม : วัคซีนชนิดใดมีความปลอดภัยเหมาะสมที่จะฉีดในเด็กบ้าง
    ตอบ : วัคซีนทุกชนิดที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ถือว่ามีความปลอดภัยที่จะฉีดได้ทั้งสิ้น

 

Pfizer-Sinopharm "วัคซีนเด็ก" เสียงแตก เทียบให้ชัด เลือกฉีดตัวไหนให้ลูกดี

4. ถาม : วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้วให้ฉีดในเด็กได้  มีอะไรบ้าง
    ตอบ :  อย.ไทยได้อนุมัติแล้วสองชนิด สำหรับฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปคือ Pfizer กับ Moderna และอยู่ในระหว่างกำลังพิจารณาอนุมัติให้กับ Sinopharm ในระดับโลก อนุมัติให้ฉีด Pfizer และ Moderna ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ ส่วนที่ประเทศจีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้มีการให้ฉีดวัคซีนเชื้อตายคือ Sinopharm ในเด็ก อายุตั้งแต่สามขวบขึ้นไป

5. ถาม : วัคซีนที่อนุมัติแล้วให้ฉีดในเด็กได้ มีข้อมูลความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงเป็นอย่างไรบ้าง
    ตอบ : Sinopharm ซึ่งเป็นวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย มีแนวโน้มที่จะสร้างความสบายใจมากกว่า เพราะใช้ผลิตวัคซีนในเด็กมานานนับ 10 ปี เช่น ไอกรน โปลิโอ ตับอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ และการฉีดในเฟสหนึ่ง และสองที่ประเทศจีน รวมทั้ง เฟสสามในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็พบว่า ปลอดภัยดี ส่วนวัคซีน Pfizer ซึ่งเป็น เทคโนโลยี mRNA ณ ปัจจุบัน ก็ถือว่าปลอดภัยในการฉีดเด็ก แต่ในระยะยาวนานนับปี ยังจะต้องติดตามผลเรื่องความปลอดภัย หรือผลข้างเคียงกันต่อไป

6. ถาม : วัคซีนของ Pfizer ที่ฉีดในเด็กอายุ 12-17 ปีแล้วนั้น มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
    ตอบ : วัคซีน Pfizer ถือว่ามีผลข้างเคียงในเด็กค่อนข้างน้อย สามารถฉีดได้ แต่ในผลข้างเคียงที่รุนแรงแม้พบน้อยมากที่ควรสนใจประกอบด้วย
    6.1 กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในทุกอายุพบ 12.6 รายต่อ 1 ล้านโดส โดยในเด็กจะพบมากกว่าในผู้ใหญ่ ตั้งแต่ 1.2-27.3 เท่า โดยในเด็กชายจะพบมากกว่าเด็กหญิง 7.7 เท่า และพบในวัคซีน Pfizer พบมากกว่า Moderna 2.5 เท่า เด็กอายุ 12-15 ปี พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 21 รายต่อ 1 ล้านโดส อายุ 16-17 ปี พบ 34 รายต่อ 1 ล้านโดส
     6.2 แพ้รุนแรงแบบช็อก (Anaphylaxis) พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 19 เท่าหรือ 95% และพบใน Pfizer มากกว่า Moderna ประมาณสองเท่า คือ 4.7 ราย เทียบกับ  2.5 ราย ต่อ 1 ล้านโดส
    ส่วนคิวบา อนุมัติให้ฉีดวัคซีนโปรตีนเป็นฐานตั้งแต่สองขวบขึ้นไป

7. ถาม : วัคซีน Sinopharm มีผลข้างเคียงมากน้อยอย่างไร
    ตอบ : ยังไม่มีตัวเลขรายงานทางวิชาการอย่างเป็นทางการ แต่จากกรณีศึกษาทั้งในประเทศจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พบว่ามีความปลอดภัยดี และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคสูง


8. ถาม : ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนที่พร้อมฉีดในเด็ก และได้รับการอนุมัติแล้วกี่ตัว
    ตอบ : วัคซีนที่พร้อมฉีดและได้รับการจดทะเบียนแล้วคือ Pfizer ส่วนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว กำลังรอวัคซีนเข้ามาคือ Moderna และวัคซีนที่มีพร้อมฉีดและกำลังรอการอนุมัติจาก อย.คือ Sinopharm

9. ถาม : จากข้อมูลทั้งหมด ควรตัดสินใจอย่างไรดี
    ตอบ : จากข้อมูลทั้งหมด คุณพ่อคุณแม่ และผู้ปกครองก็พอจะประเมินได้ว่า ครอบครัวของท่านเป็นผู้ที่ให้น้ำหนักความกังวลต่อผลข้างเคียงของวัคซีนมาก หรือความกังวลต่อการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรงมาก ซึ่งแต่ละครอบครัว ก็คงจะแตกต่างกันไป

และในครอบครัวที่ตัดสินใจจะฉีดวัคซีน ก็คงต้องพิจารณาระหว่าง Pfizer ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ส่วน Sinopharm อยู่ระหว่างกำลังอนุมัติ

สุดท้ายนี้ ในครอบครัวที่ตัดสินใจจะฉีดวัคซีนให้กับบุตรหลานของตัวเองเพื่อไปโรงเรียน ขอให้สบายใจได้ในเบื้องต้นว่า วัคซีนที่ทางการร่วมกับทางโรงเรียนจะอนุมัติให้ฉีดกับบุตรหลานของท่านนั้น มีความปลอดภัย มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคได้ดี

ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของวัคซีนแต่ละชนิด แต่ละครอบครัว ก็คงตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ทางบทความนี้ให้ไปร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ

 

Pfizer-Sinopharm "วัคซีนเด็ก" เสียงแตก เทียบให้ชัด เลือกฉีดตัวไหนให้ลูกดี
 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รับ น่าจะทำให้ผู้ปกครองมีแนวทางในการตัดสินใจ ที่จะเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด ให้กับลูกของตัวเอง

 

ขอบคุณ : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

 

logoline