เด่นโซเชียล

อย่าเชื่อ "สเปรย์ระงับกลิ่นปาก" พ่นคอฆ่าเชื้อ "โควิด-19" ระวังโทษคุก 1ปี

14 ก.ย. 2564

อย. เตือน อย่าหลงเชื่อโฆษณาสเปรย์ระงับกลิ่นปาก แอบอ้างเป็นยาพ่นคอฆ่าเชื้อโควิด-19 ใช้แล้วเชื้อไม่ลงปอด ไม่มีผลในการฆ่าเชื้อโรค คนขายระวัง หากตรวจพบมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อโฆษณาสเปรย์ระงับกลิ่นปากทางสื่อออนไลน์ อ้างเป็นยาพ่นคอฆ่าเชื้อโควิด-19 ใช้แล้วเชื้อไม่ลงปอด สเปรย์ดังกล่าวเป้นเครื่องสำอางใช้ในการระงับกลิ่นปากเท่านั้น อาจเสียโอกาสในการรักษาโรค ทำให้ป่วยมากขึ้น ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ถูกต้อง 

อย่าเชื่อ \"สเปรย์ระงับกลิ่นปาก\" พ่นคอฆ่าเชื้อ \"โควิด-19\" ระวังโทษคุก 1ปี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบการโฆษณาสเปรย์ระงับกลิ่นปากทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โอ้อวดสรรพคุณเป็นยาพ่นคอฆ่าเชื้อโควิด-19 ใช้แล้วเชื้อไม่ลงปอด พร้อมแสดงเลขที่ใบรับจดแจ้งหรืออ้างผ่าน อย. แล้ว

จากการตรวจสอบพบว่า ผลิตภัณฑ์ตามที่โฆษณามักมีส่วนผสมของพืชสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว โดยจดแจ้งไว้เป็นสเปรย์ระงับกลิ่นปาก แต่โฆษณาสรรพคุณเป็นยาใช้พ่นคอฆ่าเชื้อโควิด ซึ่งตามกฎหมายสเปรย์ระงับกลิ่นปากจัดเป็นเครื่องสำอาง ใช้ฉีดพ่นเข้าในช่องปากเพื่อระงับกลิ่นปาก ให้ความรู้สึกหอมสดชื่นเท่านั้น และปริมาณของพืชสมุนไพรที่ให้ใช้ในเครื่องสำอางไม่มีผลในการฆ่าหรือยับยั้งเชื้อโรคแต่อย่างใด จึงขอเตือนประชาชนอย่างหลงเชื่อการโฆษณาดังกล่าว 
 

รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวด้วยว่า ขอเตือนผู้ประกอบการทั้งหลาย หากตรวจพบมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ในปี 2564 อย. ได้ดำเนินคดีผู้โฆษณาเครื่องสำอางผิดกฎหมายไปแล้ว 130 คดี เตือนอย่าเห็นแก่รายได้หลอกขายผลิตภัณฑ์โอ้อวดสรรพคุณป้องกัน บรรเทา หรือรักษาโรคโควิดให้กับประชาชน เพราะท่านกำลังทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษาและอาจเสียชีวิตจากการรักษาโรคที่ไม่ถูกต้อง

 

สำหรับประชาชนก่อนตัดสินใจซื้อขอให้ตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ หากแสดงเลขจดแจ้ง 13 หลัก จะเป็นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง แต่หากเป็นเลขทะเบียนตำรับยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะต้องตรวจสอบสรรพคุณที่ได้รับอนุญาตทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ อีกครั้ง และหากพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ [email protected] หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ