บันเทิง

ไม่หมู

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  เซาะร่องเสียง  โดย... นกป่า อุษาคเณย์

 

 


          มีความเชื่ออยู่ 2 อย่างเสมอเกี่ยวกับศิลปะ


          สำหรับศิลปินฝ่ายซ้าย มีความเชื่อว่าศิลปะเกิดขึ้นเพื่อประชาชน โดยมีหนังสือ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ของ “จิตร ภูมิศักดิ์” เป็นธงนำ อีกสายหนึ่งมีข้อโต้แย้งคือศิลปะเพื่อศิลปะ

 

 

          ในขณะนี้ ถ้าไปถามนายทุนศิลปะ อาจได้ชุดความคิดว่า “พาณิชย์ศิลป์” คือคำตอบ ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์แบ่งออกเป็น 2 สาย คือ หนังฮอลลีวู้ด กับหนังอาร์ตหรือหนังอินดี้


          วงการดนตรีก็ไม่แตกต่างกัน หากเราพูดถึงศิลปินฝ่ายซ้ายที่ชื่อ “พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ” หรือ “น้าหมู” อีกหนึ่งขุนเพลงเพื่อชีวิตแถวหน้า เราไม่ควรปฏิเสธว่าเพลงที่ “น้าหมู” แต่ง เกือบทั้งหมดเป็นบทเพลงในสถานการณ์ต่อสู้ ไม่ว่าจะทางการเมือง สิ่งแวดล้อม หรือสังคม


          ความที่ “น้าหมู” แต่งเองร้องเอง ทำให้ “น้า” ออกแบบเนื้อร้องและทำนองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการร้องของตัว “น้า” โดยเฉพาะ ต้องไม่ลืมว่า จิตวิญญาณขณะที่ “น้า” แต่งเนื้อเพลงนั้นมีความสำคัญมาก


          ไม่เช่นนั้น “นายผี” อัศนี พลจันทร คงไม่ตั้งฉายาให้ “น้าหมู” ว่า “กวีศรีชาวไร่”


          เนื้อเพลง “กวี” เมื่อขับขานด้วยจิตวิญญาณของ “กวี” เองนั้น “ไม่ต้องเสียเวลาตีความ” หรือ “อิน” ไปกับบทเพลง เพราะมันเป็นเลือดเนื้อ ชีวิต จิตวิญญาณ โดยตัวของมันเอง


          การนำเพลง “น้าหมู” มาทำใหม่ ร้องใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มันมีความยากตรงโจทย์ใหญ่ที่ว่ามา การทำดนตรีใหม่ให้มีความซับซ้อน มีความเป็นสมัยใหม่ มีความสละสลวย และไพเราะนั้นเป็นเรื่องที่ดีสำหรับวงการเพลงโดยรวม




          ตลอด 35 ปีบนเส้นทางดนตรี มีศิลปินที่นำเพลง “น้าหมู” มาทำใหม่มากมายหลากค่ายหลายคน แต่มีอัลบั้มอย่างเป็นทางการอยู่ 2 ชุดที่จัดทำในรูปแบบเฉพาะ คือ “เพื่อนพ้องร้องเพลงพงษ์เทพ” และ “A Cordial Tribute to พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ”


          การตีความเพลง “น้าหมู” โดย “เพื่อนพ้องร้องเพลงเพื่อชีวิต” นั้นไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะเกือบทั้งหมดเป็นศิลปินสายเดียวกัน มีความคุ้นเคยกับเพลงเป็นอย่างดี ยังไม่ต้องพูดถึงหลายคนได้ผ่านการต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ด้วยกันมา แม้ดนตรีจะไม่เว่อร์วังอลังการจนอาจเรียกว่าสอบตกก็ว่าได้ แต่ความจริงใจที่ใส่เสียงร้องลงไป ยกแชมป์ให้เลย


          “เพลงเพื่อชีวิต” ไม่ต่างจาก “เพลงลูกทุ่ง” ตรงที่ น้ำเนื้อที่ยากลำบากของศิลปินได้หลอมรวมเข้ากับตัวเพลง แม้เพลงลูกทุ่งส่วนใหญ่จะมีครูเพลงแต่งให้นักร้อง ทว่า ความชื่นชมที่คนฟังมีต่อนักร้องลูกทุ่งคือความจริงใจ ศิลปะการตีความ และการถ่ายทอดที่ “อิน” จนสิ้นข้อสงสัย


          การทำดนตรีหรือค่ายเพลงก็คงไม่ต่างจะปรัชญาศิลปะ 2 สายที่กล่าวมาข้างต้น เป็นโจทย์ที่ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องยาก หากจะหลอมรวม 2 แนวคิดเข้าด้วยกัน


          ใครทำได้ยกแชมป์ให้เลย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ