คอลัมนิสต์

ดาบสองคม ‘พิธา-ก้าวไกล’ ปิดทางนิรโทษฯ‘คดี 112’ ตะวันทะลุธง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สะดุดขาตัวเอง พิธา-ก้าวไกล สะท้านกรณีตะวัน-ทะลุวัง ป่วนขบวนเสด็จ แนวร่วมมุมกลับขยายวงต้านค่ายส้ม ปิดทางนิรโทษฯคดี ม.112

ตายน้ำตื้น พิธา-ก้าวไกล สะท้านกรณีตะวัน-ทะลุวัง ป่วนขบวนเสด็จ แนวร่วมมุมกลับขยายวง ส่อปิดทางนิรโทษฯ คดี ม.112


รวมไทยสร้างชาติรุกไล่คนเบื้องหลังตะวัน-ทะลุวัง เพื่อไทยลอยตัว รอจังหวะสลัดทิ้งก้าวไกล ชงนิรโทษกรรมไม่ครอบคลุมคดี ม.112


ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพรรคก้าวไกล หาเสียงแก้ไข ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ ได้อธิบายถึงพฤติกรรม ‘เซาะกร่อนบ่อนทำลาย’ โดยโยงการทำกิจกรรมนอกสภาร่วมกับนักกิจกรรมการเมืองอย่างตะวัน-กลุ่มทะลุวังด้วย
 

ชั่วโมงนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล กำลังได้รับผลกระทบจากกรณีตะวัน หรือทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ก่อเหตุก่อกวนขบวนเสด็จ


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ไม่ได้สนับสนุนพฤติกรรมของทานตะวัน ที่แสดงออกต่อขบวนเสด็จ ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับนายประกัน เป็นสิทธิการประกันตัว ต้องแยกเป็นกรณี ควรใช้ความละมุนละม่อม หาทางออกร่วมกัน เพื่อทำให้สถานการณ์คลี่คลาย


จริงๆ แล้ว สส.พรรคก้าวไกล ผ่านการขึ้นโรงขึ้นศาล และใช้ตำแหน่งประกันตัวนักกิจกรรมการเมือง รวมถึงกลุ่มทะลุวัง จึงถูกมองว่า สส.เหล่านี้อยู่เบื้องหลังกลุ่มนักกิจกรรมดังกล่าว


อย่างไรก็ตาม พิธา และ สส.ก้าวไกล ต่างประสานเสียงว่า ไม่ได้ให้การสนับสนุนตะวัน-กลุ่มทะลุวัง โดยอ้างว่าการเคลื่อนไหวของตะวันและพวกเป็นอิสระ 


เอฟเฟกต์กรณีป่วนขบวนเสด็จ อาจส่งผลถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯที่พ่วงการล้างผิดคดี ม.112 ของพรรคก้าวไกล และอาการเกินธงหรือทะลุธงของตะวัน น่าจะทำให้การนิรโทษกรรมคดี ม.112 แทบจะปิดประตูตาย
 

จุดเปลี่ยนทะลุวัง
การเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแฟลชม็อบช่วงปี 2563-2564 หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่


จุดเปลี่ยนของแฟลชม็อบ ยกระดับสู่แนวทางการต่อสู้แบบทะลุเพดานคือ คำประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ซึ่งระบุข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้มีการแก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563


นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ได้ถูกนำมาอภิปรายอย่างกว้างขวางในเวทีม็อบเยาวชนคนรุ่นใหม่


ปี 2564 กลุ่มทะลุวัง ก็เป็นดอกผลการต่อสู้ทะลุเพดาน โดยเริ่มจากนักกิจกรรมการเมือง 3 คนคือ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, ใบปอ-ณัฐนิช นักศึกษาธรรมศาสตร์ และสายน้ำ-นภสินธุ์ ทำกิจกรรมโพลเกี่ยวกับขบวนเสด็จ และเสนอให้ยกเลิก ม.112 


ล่าสุด ตะวันร่วมกับแฟรงค์-ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ป่วนขบวนเสด็จ อันนำไปสู่การถูกจับในข้อหาฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

 

 

กรณีตะวัน ส่อเค้า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชน จะถูกปัดตกในสภาฯ

 

 

ปิดตายนิรโทษฯคดี 112
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่านับจากมีการชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ช่วงปี 2563-2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 263 คน ใน 288 คดี 


ด้วยเหตุนี้ จึงมีการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง ที่พ่วงการล้างผิดคดี ม.112 โดยภาคประชาชน และพรรคก้าวไกล


เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งระบุไว้ชัดเจนถึง 5 ฐานความผิดที่จะได้นิรโทษกรรมทันที โดยมีคดีมาตรา 112 รวมอยู่ด้วย 


พรรคก้าวไกล เสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคล ซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... โดยมุ่งเน้นการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจแสดงออกทางการเมือง ไม่ได้ระบุฐานความผิดเป็นการเฉพาะ


ทางแกนนำก้าวไกล ทั้งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และชัยธวัช ตุลาธน ต่างย้ำชัดว่า การนิรโทษกรรมต้องรวมมาตรา 112 ด้วย เพราะจะเป็นประตูอีกบานในการคลี่คลายความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมือง


พลันที่เกิดกรณีป่วนขบวนเสด็จ กูรูการเมืองหลายสำนักวิเคราะห์ตรงกันว่า ก้าวไกลสะดุดขาตัวเองและตายน้ำตื้น ด้วยปฏิบัติการทะลุธงของตะวันและพวก 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ