คอลัมนิสต์

เปิดกลเกมแก้ไข รธน. ...เพื่อใคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทุกสายตาพุ่งไปที่การประชุมรัฐสภาวันพรุ่งนี้ที่จะมีการพิจารณาวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เปิด 3 แนวทาง "ถอนร่าง-ชะลอโหวต-โหวตต่อวาระ 3"  แต่ฟันธงร่างแก้ไข รธน. ฝ่าวาระ 3 ไม่ได้แน่ และยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คลอดช้า เข้าทางรัฐบาล.. ทำไม    

วันพรุ่งนี้(17 มี.ค.) ที่ประชุมรัฐสภามีวาระพิจารณา“ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม” เป็นการพิจารณาในวาระ 3 หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 1 และ 2 มาแล้ว

แต่การที่จะเดินหน้าไปสู่การโหวตวาระ 3 ไม่ง่ายเสียแล้ว เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยคำร้องของประธานรัฐสภาตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐและนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) เสนอต่อประธานรัฐสภาให้ส่งผ่านไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญท้้งฉบับเพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร. ) ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจทำได้หรือไม่

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกลางออกมาแล้วสรุปสาระสำคัญได้ว่า

1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐสภากำลังดำเนินการอยู่มีหมวด 15/1 เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  และมีมาตรา 256/1 ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

2.แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน หมวด 15 ที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น บัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติที่ให้จัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ 

3. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ย่อมมีผลยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 60 

4.ดังนั้นหากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ออกเสียงประชามติเสียก่อน 

ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน มองว่า เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 1 และวาระ 2 เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการทำประชามติถามประชาชนเสียก่อนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ร่างฯที่ผ่านวาระ 1 และวาระ 2 มาแล้วนั้นจึงใช้ไม่ได้ เสียไป โหวตวาระ 3 ต่อไม่ได้  

ส่วนฝ่ายค้าน ยืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภาวาระ 1 และวาระ 2 มาแล้วนั้น  เป็นการแก้ไขมาตรา 256  เพียงมาตราเดียว ยังไม่ถึงขั้นตอนยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ต้องไปทำประชามติถามประชาชนก่อน  ร่างแก้ไขรัฐธรรมูญทีี่กำลังดำเนินการจนผ่านวาระ 1 และวาระ 2 มาแล้วนั้น จึงไม่เสียไป สามารถโหวตวาระ 3 ได้  และยืนยันว่าจะโหวตวาระ 3 แน่นอน

ดังนั้นในที่ประชุมสภาวันพรุ่งนี้ จะเกิดขึ้นได้ 3 แนวทาง

 1.โหวตให้ถอนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมออกไป ทำให้ร่างตกไป  จากนั้นก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ เริ่มตั้งแต่การทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากผ่านประชามติ ก็ต้องเริ่มจากการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกันใหม่ เริ่มตั้งแต่วาระแรกเลย 

 2. ชะลอโหวตวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม  จากนั้นไปทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากผ่านประชามติ ก็ยังต้องมาอภิปรายกันในที่ประชุมรัฐสภาอีกว่า สามารถนำเอาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 1 และวาระ 2 มาโหวตในวาระ 3 ได้เลยหรือไม่

หรือต้องเริ่มเสนอร่างกันใหม่เริ่มตั้งแต่วาระแรก และอาจมีการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 2 มาแล้ว  ตกไปแล้วหรือไม่

3.โหวตวาระ 3  ซึ่งทางฝ่ายค้านไม่สามารถสู้ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ในเรื่องจำนวนเสียงได้อยู่แล้ว ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตกไป ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ ตั้งแต่การทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หากผ่านประชามติ ก็ต้องเริ่มจากการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกันใหม่ เริ่มตั้งแต่วาระแรกเลย

จะเห็นได้ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 2 มาแล้ว.. ในวันพรุ่งนี้ไม่สามารถดันผ่านวาระ 3 ไปได้เลย  ไม่ว่าจะออกแนวทางไหน

แล้วหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดช้า ใครได้ประโยชน์ 

หากมองที่ “ไทม์ไลน์” รัฐบาล ก็จะได้คำตอบ 

รัฐบาลนี้จะมีอายุครบเทอม 4 ปี ในวันที่ 23 มี.ค. ปี2566 ( อายุรัฐบาลยึดตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเลือกตั้งเมื่อ  24 มีนาคม 2562 )หากร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านวาระ 1 และ 2 เดินไปตามปกติสู่การโหวตวาระ 3 และไม่ตกไป ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะเสร็จและประกาศใช้ประมาณธันวาคม 2565  ก่อนครบอายุรัฐบาล

และเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ รัฐบาลก็ต้องยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้้ง ซึ่งต้องเลือกตั้งตามกติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐบาลหรือผู้กุมอำนาจในปัจจุบันไม่อาจมั่นใจได้ว่า ส.ส.ร. จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมามีิกติกาอย่างไร

แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญสะดุดหรือต้องนับหนึ่งกันใหม่  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะเสร็จประกาศใช้ได้หลังอายุรัฐบาล 

นั่นหมายความว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะใช้รัฐธรรมนูญปี 60 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้กติกาเดิมที่รัฐบาล หรือผู้กุมอำนาจในปัจจุบันได้เปรียบ โดยเฉพาะการให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกฯเหมือนเดิม 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ