คอลัมนิสต์

"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

 

          เส้นทางค้นหา..ยอดเขาขี้อาย “Everest” เทคนิคและเคล็ดลับสำหรับผู้ไม่เคยเดินเขาเดินป่า...แต่อยากทำตามความฝันพิชิต "EBC" เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !

 

          ใครเคยมีความใฝ่ฝันอยากเห็นยอดเขาเอเวอเรสต์ หรือ ภูเขาขี้อาย ด้วยตาตัวเองใกล้ๆ ก็ต้องไปให้ถึง “อีบีซี” หรือ “เอเวอเรสต์เบสแคมป์” Everest Base Camp ก่อนไปต้องเตรียมความพร้อมหลายประการ โดยเฉพาะ เตรียมงบประมาณ ควรมีเผื่อไว้พอสมควร เพราะนอกจากค่าตั๋วเครื่องบิน ที่พัก ค่าซื้ออุปกรณ์จำเป็นแล้ว ยังต้องเตรียมไปจ่ายค่าลูกหาบขนกระเป๋า จ่ายค่าน้ำค่าอาหารระหว่างทางด้วย

 

 

          โปรดระลึกไว้เสมอว่า “ยิ่งสูงยิ่งแพง”!
          เส้นทางเทรคกิ้งไปเอเวอเรสต์ในเนปาล ไม่มีทางรถยนต์ให้เลือก ต้องเดินด้วยขาเท่านั้น หรือใครรวยหน่อยก็เหมาเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไป...การขนส่งสินค้าขึ้นไปบนนั้นมีต้นทุนสูง แม้แต่โค้ก 1 กระป๋องยังต้องส่งทางเฮลิคอปเตอร์ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ราคา “น้ำเปล่า” วางขายกรุงกาฐมาณฑุขนาด 1 ลิตร ราคาขวดละ 8–10 บาท แต่ในที่พักหรือเรียกกันว่า “ทีเฮาส์ (tea houses)” ยิ่งขึ้นไปสูงเท่าไรราคาจะเพิ่มสูงตามเป็นทวีคูณ ทีเฮาส์ใกล้ “อีบีซี” น้ำ 1 ลิตรราคาขวดละไม่ต่ำกว่า 120 บาท ไข่ต้ม 2 ฟอง 100 บาท

 

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

 


          การไปเทรคกิ้งเส้นทางทรมานร่างกายแบบนี้ ควรเลือกพักในสถานที่สะอาดและบริการอาหารมีคุณภาพ ซึ่งไม่ค่อยมีตัวเลือกมากนัก เส้นทางไปเอเวอเรสต์บางพื้นที่มี “ทีเฮาส์” ตั้งอยู่แค่ 2-3 แห่งเท่านั้น และไม่มี 7-11 ร้านโชห่วย หรือร้านขายอาหาร ต้องฝากท้องไว้กับโรงอาหารในทีเฮาส์ที่จองมา


          เมื่อคำนวณวันเดินทางทั้งหมด 15–18วัน งบประมาณที่เตรียมไว้รวมซื้อตั๋วเครื่องบินประมาณ 100,000 –150,000 บาท บางกรุ๊ปทัวร์โฆษณาราคาเหมาจ่ายต่ำกว่านี้หลายหมื่นบาท แต่ขอให้ระวังเพราะสุดท้ายมักอ้างว่าราคานี้ “ไม่รวมค่าโน่นค่านี่” ต้องทะเลาะกันระหว่างทางจนทำให้เที่ยวไม่สนุก

 

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

 



          เมื่อ “เตรียมงบประมาณ” เรียบร้อยแล้ว ต้องรีบ “เตรียมฟิตร่างกาย” ให้พร้อม เพื่อปรับตัวได้ในพื้นที่สูง สุดท้ายคือ “เตรียมใจ” เผื่อความผิดพลาดไม่มีโอกาสได้พิชิต เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !


          เนื่องจากร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน การปรับตัวหรือรับมือกับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเกิน 5 พันเมตร ที่มีปริมาณออกซิเจนเหลือแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนทำได้สำเร็จ !


          “บีไนฟ์” ไกด์หนุ่มเนปาลี ให้ข้อมูลว่า ร้อยละ 20 ของคนขึ้นไป “อีบีซี” ประสบความผิดหวัง เพราะร่างกายปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของออกซิเจนบางเบาไม่ได้ หลายคนฝืนร่างกายพยายามขึ้นไปต่อ สุดท้ายต้องเสียชีวิตไปอย่างไม่คาดคิด โดยเฉพาะนักเทรคกิ้งประเภทชอบฉายเดี่ยวหรือคนที่ไม่มีกรุ๊ปทีมช่วยกันดูแลอย่างดี แม้ไม่มีสถิติตัวเลขแน่นอน แต่คาดว่าไม่ต่ำกว่าปีละหลายสิบคนต้องเสียชีวิตหรือป่วยหนักระหว่างเส้นทางไปอีบีซี

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

บีไนฟ์

 

 


          หลายคนใฝ่ฝันอยากปีนให้ทะลุถึง “ยอดเขาเอเวอเรสต์” ที่สูงสุดในโลก หรือเรียกชื่อทางการว่า ซาการ์มาธา “SAGARMATHA” ตั้งตระหง่านอยู่เหนือระดับน้ำทะเล 8,848 เมตรนั้น ซึ่งต้องเริ่มจากไปให้ถึงพื้นที่เบสแคมป์สูงระดับ 5,364 เมตรให้ได้เสียก่อน เพราะเป็นแคมป์พื้นฐานของผู้ตั้งใจปีนขึ้นไปพิชิตยอดเอเวอเรสต์เท่านั้น เป็นเสมือนพื้นที่หยุดพักปรับร่างกาย เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับอากาศที่มีออกซิเจนน้อย บางคนอยู่เป็นอาทิตย์บางคนอยู่หลายเดือนแถวนี้ เพื่อรอจังหวะปีนภูเขาหิมะขึ้นไปพิชิตยอด


          ต่อจาก “เบสแคมป์” จะเป็นแคมป์ 1 สูงระดับ 5,943 เมตร แคมป์ 2 สูงระดับ 6,400 แคมป์ 3 สูงระดับ 7,162 และแคมป์ 4 สูงทะลุ 8,000 เมตร ถือเป็นแคมป์สุดท้ายเรียกว่า “เดธโซน” (DEATH ZONE) ออกซิเจนเหลือเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

 

 


          สำหรับคนธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่นักปีนเขาประเภท เมาเทนเนียริ่ง (Mountaineering) การตัดสินใจไปชื่นชม “อีบีซี” หรือเอเวอเรสต์เบสแคมป์ เสมือนการเดินทางไปท้าทายความทนทานของร่างกายเพราะปริมาณออกซิเจนในอากาศจะค่อยๆ ลดลง จากวันแรกที่เดินไต่เขาขึ้นไปจนถึงที่พัก ทุกวันปริมาณออกซิเจนในอากาศลดลงร้อยละ 5-10 ขึ้นไป หลังจาก 10 วันก็ถึงอีบีซี พื้นที่นั้นออกซิเจนเหลือแค่ร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งของที่เคยหายใจเข้าไป


          ระดับออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายคนส่วนใหญ่ต่อต้านทันที เริ่มแสดงความผิดปกติต่างๆ ออกมา ยิ่งอยู่บนพื้นที่สูงนานยิ่งเกิดผลกระทบต่อร่างกายมากขึ้น และการต้องเดินต่อเนื่องขึ้นไปสูงทุกๆ ร้อยเมตร จะเพิ่มความทรมานไปเรื่อยๆ นอกจากคนที่ร่างกายทนทานต่อความสูง หรือชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงจนชิน


          คนที่ตัดสินใจออกเดินทางไป “อีบีซี” ล้วนมีความฝัน และส่วนใหญ่ทำสำเร็จ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถไปพิชิตเบสแคมป์ได้ เพราะ 2 สาเหตุสำคัญ 1.เกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ขาพลิก เท้าเจ็บ ฯลฯ 2.โรคแพ้พื้นที่สูง

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

อินดรา

 


          “อาการแพ้พื้นที่สูง” (Altitude sickness) บางครั้งเรียกย่อๆ ว่าโรค เอเอ็มเอส (Acute Mountain Sickness : AMS) คนไทยทั่วไปคงไม่คุ้นชื่อโรคนี้นัก เพราะยอดเขาสูงสุดในประเทศไทยคือยอดดอยอินทนนท์ ความสูง 2,565 เมตร ไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายให้เป็นโรคนี้เท่าไร ต้องความสูงระดับ 3 พันเมตรขึ้นไป ร่างกายถึงเริ่มแสดงความผิดปกติออกมา ส่วนใหญ่รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด เหนื่อยง่ายมาก ปวดหัว เวียนหัว อาเจียน ฯลฯ


          ความน่าสนใจอยู่ที่ “อาการแพ้พื้นที่สูง” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน และไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่ร่างกายอ่อนแอเท่านั้น !


          เปรียบเสมือน “อาการเมารถ” บางคนเป็นมาก เป็นน้อย บางคนไม่เป็นเลย สุดยากจะคาดเดาจริงๆ ได้ยินเพื่อนๆ แชร์ประสบการณ์มาเยอะมาก ประเภทร่างกายแข็งแรงหนุ่มแน่นแมนสุด เข้าฟิตเนสทุกวัน หรือสาวแกร่งออกกำลังกายวิ่งวันละสิบกว่ากิโลทุกเช้า แต่พอเดินไต่ขึ้นไปเกิน 4 พันเมตร เกิดอาการแพ้พื้นที่สูงออกซิเจนน้อย กินยาอะไรก็ไม่หาย สุดท้ายต้องล้มเลิกเดินทาง ขอจากลาเดินลงเขาไปก่อนเพื่อนในกรุ๊ปคนอื่นๆ หรือกรณีพยายามอดทนสุดๆ แล้ว เหลืออีกแค่ไม่ถึง 1 ชั่วโมงกำลังจะถึงจุดหมายอีบีซี แต่ไม่ไหวต้องเรียกเฮลิคอปเตอร์มารับลงเขาอย่างเร่งด่วน


          ดังประโยคที่คนเนปาลชอบพูดว่า "ไม่มีอะไรแน่นอนบนภูเขาสูงเสียดฟ้า"

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

มาร์ติน  (Martin Pelzl)

 

 


          เพราะฉะนั้นก่อนไปขอให้ทุกคนเตรียมทำประกันการเดินทางไว้ล่วงหน้า หรือ “กรมธรรรม์ประกันภัยการเดินทางทั่วโลก” (Travel Guard Global Travel Insurance) มีหลายบริษัทให้เลือกใช้ราคาไม่แพง ประมาณ 2 พันบาทขึ้นไป ข้อตกลงความคุ้มครองแล้วแต่เลือกออปชั่นว่าให้เท่าไร แต่ขอเน้นต้องมีเงื่อนไขข้อที่ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายเพื่อการเคลื่อนย้ายเพื่อการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน” การซื้อกรมธรรม์ประกันภัยแค่ไม่กี่พันบาท แต่ให้ความคุ้มครองส่วนนี้ประมาณ 1-2 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่าคุ้มมาก ถ้าไม่ยอมซื้อประกันแล้วต้องจ่ายเอง อาจควักหลายแสนบาทขึ้นไป จากประสบการณ์ยิ่งเดินขึ้นไปสูงเกิน 5 พันเมตร จะได้ยินเสียง เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นๆ ลงๆ บ่อยมาก ไกด์บอกว่าเป็นของบริษัทประกันมารับคนป่วยเอเอ็มเอส


          หลังจากซื้ออุปกรณ์ครบเซ็ต ซื้อประกันภัย ฟิตร่างกายเรียบร้อยแล้ว ใครมีเวลาก็ควรไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลว่าจะไปเที่ยวประเทศเนปาลควรฉีดวัคซีนอะไรบ้าง และควรเตรียมยาอะไรไปบ้าง (เคล็ดลับ : ขอแนะนำให้ฉีดวัคซีนบาดทะยักและไทฟอยด์ป้องกันไว้ก่อน)


          ในที่สุดระยะแห่งการเตรียมตัว 6 เดือนก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว แม้บางคนรู้สึกร่างกายยังไม่ค่อยฟิต รองเท้าไม่ค่อยเฟิร์ม ก็ไม่ต้องสนใจแล้ว วินาทีนี้รอแค่โชคช่วยกับดวงดีก็พอ !

 

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

 


          สนามบินตริภูวัน “Tribhuvan International Airport” กรุงกาฐมาณฑุเป็นสนามบินเล็กๆ คนไทยสามารถทำวีซ่าเข้าประเทศเนปาลได้ที่นั่น ส่วนระบบการขนส่งกระเป๋ายังไม่ค่อยเรียบร้อยมากนัก ขอให้เผื่อเสียเวลาในสนามบินไว้เลยประมาณ 2 ชั่วโมง


          หลังจากเข้าที่พักวางกระเป๋า ก็ออกไปเดินเล่นช็อปปิ้ง หาอาหารพื้นเมืองกินให้สบายใจ ใครชอบกินเนื้อสัตว์ต้องกินตุนไว้เยอะๆ เพราะหลังจากออกจากกาฐมาณฑุเนื้อสัตว์หายากและไม่ค่อยปลอดภัยมากนัก ถ้าไม่อยากเสี่ยงระหว่างเส้นทางเดินสิบกว่าวัน ต้องกินแต่ข้าว อาหารทำจากแป้ง และเครื่องเทศกับผักปรุงสุกเท่านั้น


          มาร์ติน (Martin Pelzl) นักข่าวเยอรมันหัวหน้ากรุ๊ปทัวร์ของเรา ค่อนข้างเข้มงวดกับการห้ามกินเนื้อสัตว์เด็ดขาดในระหว่างการเดินทาง เพราะเนื้อสัตว์ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อปลา ล้วนต้องเอามาจากพื้นที่ด้านล่างแล้วบรรทุกสิ่งของขึ้นไปส่งบนภูเขาสูงด้วยการใส่ไว้บนจามรี(Yak) ม้า หรือ สัตว์ตระกูลลา ใช้เวลาเดินหลายวันกว่าจะถึงจุดหมาย เมื่อเนื้อสัตว์ไม่ได้ผ่านการขนส่งด้วยรถที่มีตู้แช่เย็น โอกาสปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือมีเชื้อโรคปะปนสูงมาก ถ้านำไปปรุงอาหารแบบไม่ถูกวิธี อาจทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรง นักท่องเที่ยวหลายคนมีอาการป่วยและถูกหามลงภูเขาไปเข้าโรงพยาบาล เพราะกินอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ไม่สะอาด


          ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องเตรียมไปคือ ยาสามัญทั่วไป รวมถึงยารักษาโรคประจำตัว และที่ลืมไม่ได้เด็ดขาดคือยาพาราเซตามอล เตรียมไปเยอะๆ ช่วยลดอาการปวดหัวจากโรคเมาพื้นที่สูงได้พอสมควร ส่วนยารักษาอาการ AMS (Acute mountain sickness) ควรปรึกษาและกินตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น


          เส้นทางการเดินเทรคกิ้งสู่ “อีบีซี” ปกติใช้เวลาเดินขึ้นเทือกเขาหิมาลัย 9-10 วัน และเดินลง 3-5 วัน สามารถเลือกทางเดินและที่พักได้หลายเส้นทาง หากโชคไม่เข้าข้างเผชิญสภาพอากาศไม่ดี หรือมีอาการเจ็บป่วยระหว่างทางต้องหยุดพัก อาจใช้เวลาเดินทางมากกว่านี้


          หัวหน้ากรุ๊ปเราเคยขึ้นไปถึงพื้นที่ “อีบีซี” ประมาณ 5 ครั้ง โดยใช้เส้นทางต่างๆ กัน สำหรับทริปนี้ “มาร์ติน” ตัดสินใจเลือกใช้เส้นทางเดินขึ้นเขามาตรฐานทั่วไป โดยกำหนดไว้ที่ความสูงต่างระดับกัน 9 วันคือ


          วันที่ 1–2 บินจาก Kathmandu ไป Lukla ความสูง 2,800 ม.
          วันที่ 3 เดินลงเขาจาก Lukla ไป Phakding ความสูง 2,600 ม. ระยะทาง 8 กม. ใช้เวลาประมาณ 4–6 ชม.
          วันที่ 4–5 เดินขึ้นเขาจาก Phakding ไป Namche Bazaar ความสูง 3,440 ม. ระยะทาง 10 กม. ใช้เวลาประมาณ 6–8 ชม. จากนั้นพักร่างกาย 2 คืน ที่ Namche Bazaar เพื่อให้ร่างกายคุ้นเคยกับความสูงเกิน 3 พันเมตร เรียกว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับอากาศ (acclimatization)
          วันที่ 6 เดินขึ้นเขาจาก Namche Bazaar ไป Pangboche ความสูง 3,985 ม. ระยะทาง 10 กม. ใช้เวลาประมาณ 7–8 ชม.
          วันที่ 7 เดินขึ้นเขาจาก Pangboche ไป Dingboche ความสูง 4,410 ม. ระยะทาง 9 กม. ใช้เวลาประมาณ 7–8 ชม.
          วันที่ 8 เดินขึ้นเขาจาก Dingboche ไป Lobuche ความสูง 5,030 ม. ระยะทาง 7 กม. ใช้เวลาประมาณ 8 ชม.
          วันที่ 9 เดินขึ้นเขาจาก Lobuche ไป GorakhShep ความสูง 5,140 ม. ระยะทาง 4.5 กม. ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชม.(ยิ่งสูงยิ่งเดินช้า)
          เมื่อไปถึง GorakhShep บางคนอาจหยุดค้างคืนก่อน หรือบางคนอาจสู้ตายขอเดินต่อเนื่องไปยังพื้นที่เป้าหมายเพื่อพิชิตเอเวอเรสต์เบสแคมป์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 3.5 กม. ใช้เวลาเดินอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมงตามสภาพอากาศ หากอากาศไม่เต็มใจมีฝนตกอาจต้องรอจนฟ้าเปิดเท่านั้น


          สรุปได้ว่า ใครอยากขึ้นเทือกเขาสูงไปยลโฉม ยอดเขาขี้อาย “Everest” ไม่ใช่แค่มีร่างกายแข็งแรงเท่านั้น ต้องอาศัยทั้งโชค ดวง และความทรหด !

 


           วิธีสังเกต“อาการแพ้พื้นที่สูง” 
          “อาการแพ้พื้นที่สูง” (Altitude sickness) ภาษาแพทย์คือ Acute Mountain Sickness (AMS) เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายคนทั่วไปที่ไม่ได้เกิดหรือเคยชินกับการอาศัยอยู่พื้นที่สูง เมื่อเดินทางขึ้นไปบนภูเขาสูงกว่า 2,500 เมตรขึ้นไป เจอกับภาวะอากาศมีออกซิเจนเบาบางน้อยลงเกินร้อยละ 20 จะรู้สึกปวดหัว มึนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว ไม่มีแรง เป็นไข้ต่ำๆ

 

 

 

\"ศึกษาเส้นทาง-โรคแพ้ความสูง\"..ยอมเสี่ยงเพื่อเอเวอเรสต์

 


          หากอาการไม่หนักมากได้พักปรับตัวประมาณ 10-12 ชั่วโมง ร่างกายค่อยๆ เริ่มกลับคืนสู่สภาพปกติ อาการปวดหัวลดลง แต่เมื่อเดินทางขึ้นไปสูงอีก ร่างกายจะเกิดอาการขึ้นมาอีก นอกจากปวดศีรษะมากขึ้น อาจมีอาการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย หากเป็นระดับไม่รุนแรงมากนัก ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวได้เอง แต่บางคนร่างกายปรับตัวไม่ดีอาจกลายเป็นอาการโรคแพ้พื้นที่สูงแบบรุนแรง HACE (High Altitude Cerebral Edema) หมายถึงภาวะสมองเริ่มบวมปวดศีรษะรุนแรง และรู้สึกว่าเวลาลุกเดินหรือเคลื่อนไหวไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

 

          ใครมีอาการ “เดินเหวี่ยงตัว บังคับร่างกายไม่ได้ หรือเดินเซไปมา” ควรรีบแจ้งให้เพื่อนร่วมทางหรือไกด์ทราบทันที เพราะต้องหาหนทางเดินกลับลงไปสู่พื้นที่ต่ำและรีบไปพบแพทย์ทันที ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการหมดสติ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

 

......................................

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 6 ทักษะจำเป็นสำหรับงานอนาคตผู้นำ-คนทำงานตอบโจทย์ดิจิทัล
 “สต็อปสโตน”... เทคนิคขึ้นชม...เอเวอเรสต์เบสแคมป์ !ตอน 3

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ