ข่าว

"ฝีดาษวานร" ยังระบาด อีสานใต้ พบป่วยแล้ว 9 ราย แนะหลีกเลี่ยงสัมผัส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ฝีดาษวานร" ยังระบาดต้องเฝ้าระวัง จังหวัดอีสานใต้ พบผู้ป่วยแล้ว 9 ราย แนะหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับคนแปลกหน้า และเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง

นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์ "ฝีดาษวานร" หรือ ฝีดาษลิง ในประเทศไทย ว่า ถึงแม้ โรคฝีดาษวานร จะมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลง แต่ก็ถือว่ายังเป็นโรคติดต่อที่ยังต้องเฝ้าระวัง ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มี ผื่น ตุ่ม หรือหนอง รวมถึงการใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ โรคฝีดาษวานร ซึ่งสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศไทย ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 - 15 มี.ค. 2567 พบผู้ติดเชื้อแล้ว 750 ราย เป็นชาวไทย 675 ราย ชาวต่างชาติ 71 ราย ไม่ระบุสัญชาติ 4 ราย และมีผู้เสียชีวิต 10 ราย

 

 

ซึ่งมีประวัติสัมผัสแนบชิดเกี่ยวเนื่องกับการมีเพศสัมพันธ์ โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี ได้รับรายงานผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาใน กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ระยอง เชียงใหม่ ส่วนพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 9 ได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 - 13 ก.พ. 2567 พบ ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร แล้ว 9 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด จำนวน 5 ราย รองลงมา คือ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2 ราย, จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1 ราย และ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 1 ราย ตามลำดับ

 

ซึ่งพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้ติดเชื้อ โรคฝีดาษวานร ได้ คือ การสัมผัส-ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร รวมถึง การสัมผัสหรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า เครื่องนอน จาน ชาม ช้อน แก้วน้ำ เป็นต้น โดยกลุ่มผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ สามารถจะส่งผ่านเชื้อไปสู่ทารกได้ นอกจากนี้ การนั่งใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเป็นเวลานานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมถึง การอยู่ในสถานที่แออัด เป็นต้น ก็มีความเสี่ยงทำให้ติดเชื้อ โรคฝีดาษวานร ได้

 

 

ดังนั้น หากพบว่าติด โรคฝีดาษวานร ควรเข้ารับการรักษาทันที โดยรักษาฟรีตามสิทธิการรักษา ซึ่งกรณีผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วยจะรักษาตามอาการ ส่วนผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรครุนแรง ได้แก่ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีระดับเซลล์ภูมิคุ้มกัน ชนิดซีดี 4 น้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร, ผู้ป่วยตั้งครรภ์, ผู้ป่วยที่มีภาวะทางผิวหนัง หรือโรคทางผิวหนังร่วม เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โรคอีสุกอีใส โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น หรือมีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยไม่มีค่าใช้จ่าย 

 

ซึ่ง กรมควบคุมโรค ได้สนับสนุนยารักษาให้กับโรงพยาบาลนำไปรักษาผู้ป่วยดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงอาการแทรกซ้อน แต่ถ้าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ใช่สิทธิการรักษาของตัวเอง จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอื่นๆ นอกเหนือจากค่า ยาต้านไวรัส โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

โดย : ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ