คอลัมนิสต์

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

 

 

          สโลแกนที่ว่า “วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ” แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนทำผิดกฎจราจร แม้แก้กฎหมาย เพิ่มโทษขนาดไหน หลายๆ คนยังทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” ยิ่งไปกว่านั้นบางรายยังทำผิดซ้ำซ้อน ได้รับใบสั่งซ้ำซาก ทั้งที่ของเดิมยังไม่ได้ไปจ่ายค่าปรับ ตลอดจนพฤติกรรมตำรวจจราจร(บางนาย) ที่ทำตัวนอกรีตแหกแถวขูดรีดเอาเปรียบประชาชน ทำให้หลายคนไม่ไว้ใจ ซ้ำร้ายยังระแวงตำรวจจนเกิดการกระทบกระทั่งบาดหมางระหว่างประชาชนกับตำรวจ ยิ่งแล้วเป็นเรื่องของการยึด “ใบขับขี่”

 

 

 

 

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

 

 

          ปัญหาจราจรเสมือนเป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยก็แก้ได้ไม่ถูกปม บ้างก็บอกกฎหมายจราจรเก่าคร่ำครึล้าสมัย ไม่ทันยุค หรือเอื้อประโยชน์ให้ตำรวจกินส่วนแบ่งค่าปรับ แต่บางครั้งพฤติกรรมของบางคน หรือหลายคนคงลืมสำนึก ไม่เคารพกฎหมายขาดวินัยจราจร จึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ “ตำรวจ” ในแต่ละยุคแก้กฎ เพิ่มนโยบายกวดขัน ซึ่งปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เริ่งดำเนินการใบแล้ว และมีอีกเพียบที่จ่อคิวนับถอยหลังรอวันมีผลบังคับใช้


          เริ่มต้นเดือนกันยายน 2562 ตำรวจได้ดำเนินการกฎเกณฑ์การจราจรไปแล้ว 2 เรื่อง เริ่มจากวันที่ 1 กันยายน ตำรวจนครบาลก็เอาฤกษ์เอาชัยนับหนึ่งกวดขันรถบนท้องถนน โดยเฉพาะแยกไฟแดงกับ โครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ “Red light camera system” ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติ ทันทีที่เริ่มตรวจจับจริงก็เห็นผลทันตา เพราะเพียงแค่วันแรกก็มีสถิติชัดว่าคนไทยขาดสำนึกไม่มีวินัยจราจร

 

 

 

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก

 


          พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) บอกว่า สำหรับวันแรกที่ใช้ระบบตรวจจับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจรแบบใหม่ หรือ Red light camera system ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบตรวจจับรถที่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรแบบอัตโนมัติ บริเวณ 30 จุดทางแยก และก่อนหน้านี้เราได้ประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด เนื่องจากต้องการให้ประชาชนที่ใช้รถปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อการลดอุบัติเหตุในแต่ละจุดจะมีการติดตั้งป้ายเตือนก่อนถึงแยกสัญญาณไฟแดงประมาณ 50-100 เมตร ให้รู้ว่าบริเวณแยกด้านหน้ามีการติดตั้งกล้อง ส่วนคนที่ฝ่าฝืนถือว่าเป็นการจงใจ ตั้งใจ ซึ่งจริงๆ แล้วตำรวจไม่ได้มุ่งหวังที่จะออกใบสั่งเพียงอย่างเดียว เรามีความต้องการไม่อยากให้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรเพื่อความปลอดภัยมากกว่า

 



          สำหรับ 30 จุด พบมีผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟโดยนับตั้งแต่เวลา 00.01 ของวันที่ 1 กันยายน จนถึงเวลา 15.00 น. พบมีผู้ฝ่าฝืนรวมรถทุกประเภททั้งหมด 538 ราย ซึ่งแยกที่พบว่ามีการกระทำความผิดมากที่สุดยังคงเป็นแยกรัชดา-พระราม 4 จำนวน 269 ราย คิดเป็น 49.9 % รองลงมา อโศก เพชรบุรี จำนวน 78 ราย คิดเป็น 14.5% เมื่อจำนวนตัวเลขออกมาแบบนี้ทำให้ตำรวจจะต้องนำไปวิเคราะห์ในเชิงลึกอีกครั้งว่า เพราะเหตุใดจึงมีการฝ่าฝืน ซึ่งจะต้องมีการนำไปแก้ไขทั้งในเรื่องโครงสร้าง กายภาพ หรือเป็นการตั้งสัญญาณไฟไม่เหมาะสม

 

 

 

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

 


          “ตัวเลขผู้ฝ่าฝืนยังถือว่าจำนวนลดลงจากเดิมที่เราทดลองตรวจจับเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ประมาณ 948 รายด้วยกัน ถือว่าจำนวนลดลงร่วม 410 ราย คิดเป็น 43.24% ซึ่งเราคาดว่าการประชาสัมพันธ์ การติดตั้งป้ายเตือน จะทำให้มีผู้กระทำความผิดน้อยลงไป” พล.ต.ต.จิรสันต์ ระบุ


          พล.ต.ต.จิรสันต์ บอกอีกว่า ที่ผ่านมามีการปรับปรุงพัฒนากล้องทั้งในเรื่องความคมชัดในเวลากลางคืน มีการนำระบบอินฟราเรดเข้ามาใช้ ทำให้เวลากลางคืนเราสามารถจับภาพได้ชัดเจนมากขึ้น ด้วยความคมชัด 12 ล้านเมกะพิกเซล นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงให้สามารถจับภาพรถได้ทุกประเภท


          ถัดจากเรื่องจับรถฝ่าไฟแดงไม่กี่วัน ตำรวจก็ได้รับอนุมัติให้ประเดิมเรื่องที่สอง ซึ่งเริ่มไปแล้วเช่นกันในวันที่ 3 กันยายน นั่นคือ “รางวัลแจ้งจับเด็กแว้น” หากสามารถนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้อนุมัติหลักการเรื่องเงินค่าตอบแทนการแจ้งเบาะแสของภาคประชาชน และให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กแว้น ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำชับสั่งการให้ดำเนินการปราบปรามอย่างจริงตั้งแต่เดือนมิถุนายน

 

 

 

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์

 


          พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ อธิบายว่า เพื่อให้ปัญหาการแข่งรถหมดไปอย่างยั่งยืนจึงมีแนวคิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยการแจ้งเบาะแส ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ ภาพถ่าย ระบุวันเวลาเกิดเหตุ สถานที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ในการกระทำผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ตร., ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน 1599, ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 หากเบาะแสที่แจ้งมานำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีใน 3-4 ข้อหา ประกอบด้วย การแข่งรถในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, การขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา, ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น หรือเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริมให้มีการแข่งรถ (แอดมินเพจ) โดยหลังจากที่ตำรวจมีการสืบสวนขยายผลจับกุมได้ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินรางวัลนำจับจำนวน 3,000 บาทต่อ 1 ครั้ง ซึ่งจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้น 10 วันทำการ นับแต่มีการจับกุม และยืนยันข้อมูลบุคคลที่แจ้งเบาะแสเจ้าหน้าที่จะปกปิดเป็นความลับ 


          อีกเรื่องดูแล้วเหมือนจะเป็นข่าวดีอาจทำให้ประชาชนได้เฮดังๆ กับ “พ.ร.บ.จราจรทางบกฉบับใหม่” เพราะพ.ร.บ.ฉบับล่าสุดนี้ระบุให้ตำรวจยกเลิกเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ หรือยึดใบขับขี่ ทำได้เพียงขอดูได้ เพื่อออกใบสั่งไปชำระค่าปรับเท่านั้น โดยจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 20 กันยายนนี้ ขณะเดียวกันประชาชนก็สามารถพก “ใบขับขี่ดิจิทัล” แทนของจริงได้

 

 

 

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ

 


          กรณีนี้ พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการศึกษา (รองผบช.ศ.) กล่าวว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กันยายน โดยมีสาระสำคัญคือเจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเรียกตรวจใบอนุญาตขับขี่ แต่ไม่มีอำนาจในการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับอีกต่อไป จะต้องคืนให้ประชาชน โดยผู้ขับขี่จะต้องพกใบอนุญาตขับขี่ขณะขับรถ และจะต้องแสดงใบขับขี่เมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจ ซึ่งสามารถแสดงได้ 3 แบบ ได้แก่ 1.ใบอนุญาตขับขี่ตัวจริงแบบเดิม 2.ใบอนุญาตขับขี่ด้วยวิธีการทางข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบขับขี่ดิจิทัล ผ่านแอพพลิเคชั่น DLT QR LICENCE และ 3.สำเนาภาพถ่ายใบอนุญาตขับขี่ตามแบบฟอร์มที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดซึ่งไม่สามารถใช้ภาพที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือได้


          "หลังจากประกาศใช้แล้วประชาชนสามารถพกใบอนุญาตขับขี่ได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 แบบ ยืนยันว่าสามารถใช้ได้จริง เพราะบังคับเป็นกฎหมาย เพื่อความสะดวกสบายของประชาชน สำหรับกฎหมายใหม่ฉบับนี้เจ้าพนักงานจราจรไม่จำเป็นต้องยึดใบขับขี่ เนื่องจากมีระบบใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งสามารถเปรียบเทียบปรับได้ โดยเจ้าพนักงานจราจรจะตรวจสอบความถูกต้องของใบขับขี่ จากนั้นจะบันทึกข้อมูลผู้ขับขี่และการกระทำความผิดลงในใบสั่ง ให้แก่ผู้ขับขี่พร้อมใบขับขี่ ส่วนต้นขั้วใบสั่งจะนำกลับไปที่สถานีตำรวจ หรือหน่วยงานจราจร เพื่อลงบันทึกตัดแต้ม เมื่อผู้ขับขี่มาเสียค่าปรับจะทราบว่าถูกตัดแต้มไปเท่าใด และหากแต้มหมดทั้ง 12 แต้ม จะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน และแต้มจะกลับคืนมา 12 คะแนนตามเดิม โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการอบรมใหม่ และต้องสอบให้ผ่าน จะได้รับแต้มคืน


          หากภายใน 3 ปี ผู้ขับขี่ถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เกินกว่า 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 3 จะถูกพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 1 ปี และช่วงระหว่าง 1 ปี หากกระทำผิดอีกเป็นครั้งที่ 4 จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ในทันที" พล.ต.ต.เอกรักษ์ ยืนยัน


          สอดคล้องกับอีกเรื่องที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นั่นคือการชำระค่าปรับจากใบสั่งจราจร เพราะถึงแม้ใบสั่งของตำรวจจะยังเป็นกระดาษ แต่หลังการเชื่อมระบบหลังบ้านทั้ง กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางชำระที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งวันที่ 1 ตุลาคม จะเชื่อมระบบทุกหน่วยงาน 

 

 

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

 

 


          นายธวัชชัย ชีวานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย บอกว่า กรุงไทยเป็นผู้พัฒนาระบบบริหารจัดการใบสั่งจราจร (Police Ticket Management-PTM) ที่เชื่อมโยงทั้งธนาคาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก โดยเฟส 2 เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะเชื่อมโยงให้เป็นระบบออนไลน์ ทำให้การชำระเงินง่ายขึ้น และจะเปิดตัวเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลใบสั่งของตนเองย้อนหลัง สามารถเช็กได้ทั้งใบสั่งแบบกล้อง (แบบที่กล้องจับภาพแล้วส่งไปทางไปรษณีย์) ใบสั่งแบบเล่ม และคาดว่าช่วงต้นปีหน้าจะมีแอพพลิเคชั่นออกมาให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายขึ้น มีระบบแจ้งเตือนให้จ่ายใบสั่ง หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มการบันทึกคะแนนความประพฤติก็จะสามารถตรวจสอบได้ทั้งบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น


          อย่างไรก็ตามคนที่ยังไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งจราจรยังสามารถต่อทะเบียนและชำระภาษีประจำปีได้ แต่จะยังไม่ได้ป้ายวงกลมตัวจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะออกเป็นสำเนาเอกสารชั่วคราวให้ โดยมีอายุการใช้งานได้ 30 วัน หากยังไม่ชำระค่าปรับ เมื่อพ้น 30 วันที่เอกสารชั่วคราวหมดอายุแล้ว หากถูกเรียกตรวจก็จะมีความผิดอีกกระทงฐานใช้รถยนต์โดยไม่มีเครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี หรือป้ายวงกลม มีโทษปรับ 2,000 บาท ขณะเดียวกันตำรวจก็สามารถแจ้งกรมการขนส่งให้งดออกป้ายวงกลมสำหรับรถคันดังกล่าวและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนอีกด้วย แม้จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2562 แต่ระหว่างนี้ก่อนไปถึงวันเริ่ม และย้อนไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 ก็จะถูกนำข้อมูลมาเชื่อมโยงกับระบบที่ว่านี้ด้วย เนื่องจากปกติแล้วใบสั่งมีอายุความ 1 ปี ซึ่งการดำเนินการที่เข้มงวดแบบนี้จะช่วยให้ประชาชนเคารพกฎจราจรมากขึ้นก็เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน

 

 

กฎจราจรใหม่..สะท้อน(วินัย) คนไทย โอนลี่ 

 

 


          นอกจากนี้ในช่วงปลายปียังมีอีกกติกาที่ตำรวจต้องออกมากวดขันคนที่ใช้รถใช้ถนน ซึ่งสอดรับกับหลายๆ กฎที่บังคับใช้ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับใหม่) ซึ่งจะเป็นการตัดคะแนนความประพฤติกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร โดยเริ่มในวันที่ 19 ธันวาคม 2562


          กฎหมายแก้ได้ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ล้าหลัง แต่จะไม่มีประโยชน์และขาดประสิทธิภาพ หมดความขลัง ถ้าคนยังขาดสำนึก ไม่มีวินัย ไม่เคารพกฎ..!!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ