คอลัมนิสต์

 ลุ้น ปาล์มกิโล 4 บาท เกษตรกรฝันค้าง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ มีมติเห็นชอบประกันรายได้ราคาปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม เตรียมเสนอครม.พรุ่งนี้ รอลุ้นชาวสวนปาล์มฝันค้างหรือไม่

        โอภาส บุญล้อม

         แล้ว...คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน  ก็ได้มีมติเห็นชอบการประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม กำหนดราคาปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีเงื่อนไขว่า เปอร์เซนต์น้ำมัน 18% ไม่เกินครอบครัวละ 25 ไร่ โดยจ่ายปีละ 4 ครั้ง

 

   กับอีกหลายมาตรการที่ออกมาเพื่อดึงราคาปาล์มให้สูงขึ้น

   1.ให้ใช้เป็นน้ำมัน B20 ให้เป็นภาคบังคับก่อนสิ้นปีนี้ 

   2. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า ที่ยังเหลือโควต้าอีก 130,000 ตัน ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว 

   3.ควบคุมสต็อกน้ำมันดิบ โดยให้มีการติดตั้งมิเตอร์ เพื่อวัดปริมาณรวมทั้งประเทศแบบเรียลไทม์ ว่ามีเท่าใด เพื่อให้ตัดสินใจทางนโยบายได้ 

   และ 4.ให้ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการเด็ดขาดกับผู้ลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ราคาปาล์มในประเทศตกต่ำ

    เรื่องการประกันราคาปาล์มหลังจากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ   ก็สามารถนำเข้าที่ประชุม ครม.ได้ในวันพรุ่งนี้ (20 ส.ค.)ทันที แต่หากไม่ทันน่าจะนำเสนอ ครม.ในสัปดาห์หน้า

      แต่ปัญหาใหญ่ก็อยู่ที่เรื่องเงินที่จะนำมาประกันราคาปาล์ม  ซึ่งสำนักงบประมาณก็จะไปคำนวณจำนวนเงินที่ต้องใช้ในเรื่อง ประกันราคาปาล์มกิโล 4 บาท ว่าต้องใช้เงินมากเท่าไหร่  เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่ได้มีการคำนวณงบประมาณหรือวงเงิน 

       คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 300,000 ครัวเรือน โดยเกษตรกรจะต้องลงทะเบียนผ่านกรมส่งเสริมการเกษตร เพราะยึดถือทะเบียนเกษตรกรเป็นหลัก หลังจากนั้น ธกส.จะจ่ายเงินส่วนต่างของรัฐบาลผ่านทางบัญชี 

       “ขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาทกว่า แต่หากใช้มาตรการข้างต้นราคาปาล์มน้ำมันจะสูงขึ้น” 

         ปาล์มน้ำมัน เป็น“พืชเศรษฐกิจ” ของประเทศ ที่จะเข้ามาแทนที่ยางพารา  แต่ที่ผ่านมา ปาล์มน้ำมัน ก็ราคาตกต่ำมากเช่นกัน จนบางรายยังไม่ทันได้เก็บเกี่ยวผลผลิตก็ขาดทุนไปก่อนแล้ว

       จนเคยมีเหตุการณ์ที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มในภาคใต้ รวมตัวเผาปาล์มประท้วงราคาที่ตก เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา 

        ปัญหาส่วนหนึ่งของราคาปาล์มตกต่ำมาจากการส่งออก เนื่องจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ผลิตปาล์มน้ำมันมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งหมด ซึ่งอินโดนีเซียครองอันดับ 1 ถึงร้อยละ 55.1 ตามมาด้วยมาเลเซียร้อยละ 33.77 และไทยร้อยละ 3.73  แต่ศักยภาพของไทยในการส่งออกมีน้อยกว่า การหาตลาดใหม่เป็นเรื่องยากมาก ทำให้มีปาล์มค้างสต๊อคอยู่หลายแสนตัน

       การที่แนวโน้มโลกที่ปฎิเสธการใช้น้ำมันปาล์ม  อาทิ     ผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่อย่างอินเดียปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 40 ,สหภาพยุโรป (EU) ประกาศจะใช้มาตรการ ‘zero palm oil’ พยายามเลิกใช้น้ำมันปาล์มภายในปี 2020-2021 เนื่องจากมีการพบกรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจ

        นอกจากนั้นหลายประเทศในยุโรปยังกังวลเรื่องของสิ่งแวดล้อม อย่างนอร์เวย์ก็มีมติจากรัฐสภาให้ห้ามนำเข้าปาล์มน้ำมันมาใช้เป็นในการผลิตเชื้อเพลิง เพราะพบว่าพื้นที่ปลูกสวนปาล์มนั้นมาจากการถางทำลายป่า ซึ่งบวกกับการพยายามหันไปหาพลังงานทางเลือกมากขึ้นอย่างไฟฟ้า การทำไบโอดีเซลจึงมีความจำเป็นลดลง เป็นแนวทางให้ประเทศในสหภาพยุโรปเดินตามในการลดใช้ปาล์มน้ำมันในการผลิตเชื้อเพลิงพลังงาน

      และเมื่อมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีผลบังคับให้ประเทศไทยต้องยกเลิกโควตาและลดภาษีนำเข้าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เปิดให้นำเข้าปาล์มน้ำมันจากต่างประเทศอย่างเสรี   ซึ่งราคาปาล์มน้ำมันที่นำเข้าจากต่างประเทศมีราคาที่ถูกกว่า ทำให้ปาล์มน้ำมันของไทยไม่สามารถแข่งขันได้แม้แต่ในประเทศของตัวเอง

      จึงเป็นเรื่องที่ท้าท้าย“รัฐบาลประยุทธ์ 2 ” อย่างมากกับการแก้ปํญหาราคาตกต่ำ กับการเสนอประกันรายได้ชาวสวนปาล์ม กำหนดราคาปาล์ม 4 บาทต่อกิโลกรัม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ