คอลัมนิสต์

"จรัล"คนตุลาอารมณ์ค้าง ฝังใจจำ "ปฏิวัติฝรั่งเศส"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ชูธงทวนกระแส   โดย...  พรานข่าว 

 

 

          พักนี้ ในกลุ่มผู้ลี้ภัยคดี 112 ในยุโรป มีการเปิดศึกวิวาทะระหว่างกลุ่มของจรัล ดิษฐาอภิชัย กับกลุ่มโรส ลอนดอน โดยจรัลเองตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มโรสอย่างรุนแรง ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และล่วงล้ำเรื่องส่วนตัวของเขา

 

 

          ดังที่ทราบกัน “จรัล ดิษฐาอภิชัย” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เป็นพลเมืองชาวฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2561 เขาจึงทำหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือ “คนเสื้อแดง” ที่ลี้ภัยอยู่ในลาว และกัมพูชา 


          ด้วยความเป็นนักคิด นักจัดตั้ง จรัลจึงพยายามสร้างองค์กร “แนวร่วมขบวนการเสรีไทยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นสช.) และยังสวมหมวกผู้ประสานงาน “องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย” ประจำยุโรป ช่วงปี 2557-2558 


          แม้องค์กรดังกล่าวข้างต้น จะไม่มีอยู่แล้ว แต่จรัลยังไม่ยอมถอย พยายามรวบรวมคนลี้ภัยให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการสืบทอดอำนาจของกลุ่มประยุทธ์


          “จรัล” เป็นคนพัทลุง เรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นใกล้เคียงกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มอิสระที่ชื่อ “สภาหน้าโดม” ซึ่งโด่งดังมากในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516


          ระหว่างปี 2517-2519 จรัลได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รับผิดชอบการจัดตั้งเยาวชน นิสิตนักศึกษาในเมือง จรัลเป็นคนที่สัตย์ซื่อต่อลัทธิมาร์กซ์เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง

 

 

 

"จรัล"คนตุลาอารมณ์ค้าง ฝังใจจำ "ปฏิวัติฝรั่งเศส"

กลุ่มไฟเย็นและจรัล

 


          หลัง 6 ตุลาคม 2519 จรัลเข้าป่าทางเขตงานฐานที่มั่นเขาค้อ-หินร่องกล้าไปได้สัก 1 ปี ในปี 2521 ก็ถูกพรรคส่งไปนำเพื่อนฝูงโดยมีตำแหน่งเป็นถึงหัวสำนัก 61 แห่งฐานที่มั่น ภูพยัคฆ์ จ.น่าน


          สำนัก 61 ภูพยัคฆ์ เป็นศูนย์รวมปัญญาชนปฏิวัติไทย การที่จรัลได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนัก ย่อมบ่งชี้ถึงความไว้เนื้อเชื่อใจของคณะกรรมการกลาง พคท.



          ปี 2527 จรัลหอบความผิดหวังต่อการปฏิวัติไทย กลับลงมาจากภูพยัคฆ์ น่านเหนือ และไปเรียนต่อปริญญาโทประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ช่วงนั้น จรัลอยู่ฝรั่งเศสพร้อมเมีย-ลูก โดยหาทุนเรียนปริญญาโท ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ความพ่ายแพ้ของการต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย” โดยมีที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เป็นอดีตคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส


          จากนั้นเขาพยายามเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปารีส 1 ซอร์บอน เพราะอยากอยู่ฝรั่งเศสต่อ แต่สอบไม่ผ่าน ลึกๆ แล้ว จรัลต้องการเรียนปรัชญาการเมือง และเรียน D.E.A. ทางประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส โดยมีวัตถุประสงค์เรียนวิชาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส เขาใช้เวลา 2 ปี ศึกษาค้นคว้าอยู่ในห้องสมุดของสถาบันศึกษาการปฏิวัติฝรั่งเศส


          หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จรัลในนามปากกา “อภิชัย ภราดร” ลงมือเขียนเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน และสำนักพิมพ์ผู้จัดการ ได้จัดพิมพ์ “การปฏิวัติฝรั่งเศส..จากวันยึดคุกบาสตีล ถึงวันสถาปนาสาธารณรัฐ” ออกมา 2 เล่ม

 

 

"จรัล"คนตุลาอารมณ์ค้าง ฝังใจจำ "ปฏิวัติฝรั่งเศส"

ซากคุกที่เหลือแค่อิฐสองแถว


          ฉะนั้น เมื่อกลุ่มวงดนตรีไฟเย็น เดินทางจากลาวถึงปารีส จรัลจึงพาไปชมคุกบาสตีล โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ ได้บันทึกไว้ในเฟซบุ๊กว่า “มาปารีสทีไร แล้วชอบให้พี่จรัลพามาที่นี่ ซึ่งเป็นแถวอิฐไม่กี่ก้อน ที่เป็นร่องรอยของคุกบาสตีล ที่เก็บไว้ให้เป็นสัญลักษณ์หลังจากสร้างรถไฟ”


          คุกบาสตีลถูกสร้างในปี ค.ศ.1370 และเป็นคุกที่พระเจ้าหลุยส์สร้างไว้เพื่อกักขังคนที่เป็นปฏิปักษ์หรือเป็นศัตรูกับราชวงศ์ วันที่ 14 กรกฎาคม 1789 กองกำลังประชาชนติดอาวุธที่โกรธแค้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอังตัวเนตต์ ได้พากันบุกคุกบาสตีล และทุบทำลายคุกบาสตีลทิ้ง


          อิฐสองแถวเป็นร่องรอยเดียวที่เหลือเอาไว้รำลึกการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งวันนี้ จรัลยังฝันถึงการปฏิวัติ...ฝันนั้นตกค้างมาจากภูพยัคฆ์ ฐานที่มั่นใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย 
 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ