คอลัมนิสต์

ศึกภายใน "รัฐบาลประยุทธ์ 2" เข้มข้น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...   ร่มเย็น

 

 

          การจัดตั้ง “ครม.ประยุทธ์ ภาค 2” กำลังเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองและถูกจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะโผ ครม.ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ ตามโควตาของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการนำรายชื่อทั้งหมดไปตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือคุณสมบัติต้องห้ามต่างๆ ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

 

 

          เมื่อวันก่อน “สวนดุสิตโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี "โผ ครม.ประยุทธ์ ภาค 2” จำนวนทั้งสิ้น 1,254 คน โดยมีคำถามที่น่าสนใจว่าประชาชนคิดอย่างไรกับโผ ครม.   


          อันดับหนึ่งเลยตอบว่า ปัญหาเยอะมีแต่เรื่องผลประโยชน์ การต่อรองแย่งเก้าอี้กันวุ่นวายคิดเป็น 32.81% 


          หลังเลือกตั้งตามกติการัฐธรรรมนูญ 60 ได้เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  เริ่มตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มีจำนวนพรรคการเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 27 พรรคการเมือง จากเดิมที่เคยมีสูงสุด 23 พรรคการเมืองในสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช 


          ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็มีจำนวนมากสุดถึง 19 พรรคการเมือง จากที่ในอดีตมีมากสุดคือ 9 พรรคร่วมรัฐบาล


          และที่ผ่านมา “รัฐบาลผสม” อยู่ไม่ครบเทอม 4 ปีทั้งสิ้น โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ปีครึ่ง นั่น...ขนาดยังไม่ถึงรัฐบาลผสม 19 พรรค   


          อีกทั้งการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ก็ค่อนข้างนาน โผ ครม.เปลี่ยนไปมาหลายรอบ จึงเป็นอาการที่ไม่ดี และส่งสัญญาณให้เห็นว่ายาก กว่าที่จะทาบทามแต่ละพรรคการเมืองมาร่วมรัฐบาลได้ ต่อรองตำแหน่งกันจนถึงวินาทีสุดท้าย

 

          และเมื่อจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” ได้แล้ว ความน่าห่วงก็อยู่ที่การขับเคลื่อน “รัฐนาวา” ให้ไปรอด เนื่องจากแต่ละพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีนโยบายของตนเองที่เป็นจุดขายและหาเสียงไว้กับประชาชนตอนเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องทำให้ได้ มิเช่นนั้นเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคการเมืองนั้นก็ลำบาก อีกทั้งแต่ละพรรคก็จองคนละกระทรวง สองกระทรวง  แล้วเวลาจะมาทำงานร่วมกัน จะทำงานร่วมกันได้หรือไม่ในเรื่องนโยบาย

 


          ขณะที่บางนโยบายกลับขัดกัน อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ตอนที่เข้าร่วมรัฐบาล ได้ยื่นเงื่อนไขชัดเจนว่าต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคพลังประชารัฐค่อนข้างมีจุดยืนไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ที่ใช้บังคับอยู่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว เป็นจุดที่ขัดแย้งกันเอง 


          หรือพรรคภูมิใจไทย ชัดเจนเรื่องนโยบายกัญชาเสรี  ซึ่งเป็นนโยบายที่ตอนนี้คนจำได้มากที่สุดกว่านโยบายของทุกพรรคการเมือง แล้ว...พรรคร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้


          หรืออย่างพรรคพลังท้องถิ่นไท ที่มีนโยบายกระจายอำนาจ รวมทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ฟังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดหลังเข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล กลับไม่มีเรื่องการกระจายอำนาจอยู่เลย และหากมองย้อนไปจาก 5 ปีของรัฐบาล คสช. มีแต่จะรวมศูนย์อำนาจ


          ดังนั้น “ศึกภายใน” ของพรรคร่วมรัฐบาล จึงเข้มข้นที่สุด ที่จะสั่นคลอนรัฐบาล มิใช่ “ฝ่ายค้าน”


          และ “รัฐบาลประยุทธ์ภาค 2” จะไม่มีช่วงเวลา “ฮันนีมูน” ตั้งแต่วันแรก ซึ่งปกติแล้วทุกรัฐบาลจะมีช่วง “ฮันนีมูน” ระยะสั้นๆ 3 เดือน 6 เดือน แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ที่เรียกว่า “เป็ดง่อย” ตั้งแต่วันแรก เพราะรัฐบาลมีเสียงเกินครึ่งมาแค่ 4 เสียง และเมื่อเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ “รัฐนาวา” ก็พร้อมที่จะอับปางได้ทุกเมื่อ ไม่ต้องถึงขนาดพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคภูมิใจไทย แค่พรรค 10 ที่นั่ง 3 ที่นั่ง 2 ที่นั่ง ถอนตัว รัฐบาลก็ลำบากแล้ว จะผ่านร่างกฎหมายแต่ละฉบับ จะต้องนั่งนับหัว ส.ส.กันทุกครั้ง เรียกว่าเข้าห้องน้ำก็ไม่ได้ ลาป่วย ลากิจ ก็ไม่ได้  เพราะว่า เมื่อ “ปริ่มน้ำ” ทุกเสียงมีความหมาย


          “มีข้อมูลว่าในอดีต รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ การโหวตในสภาแต่ละครั้ง ต้องมีการซื้อเสียง การซื้อเสียงในที่นี้ไม่ใช่นักการเมืองซื้อเสียงจากชาวบ้าน แต่ไปเกิดขึ้นในทีี่ประชุมสภาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเพื่อให้ร่างกฎหมายสำคัญผ่านสภาให้ได้ มิเช่นนั้นรัฐบาลก็ล่ม เพราะว่ารัฐบาลผสมส่วนมากทีี่ไปไม่รอด ไม่ใช่เพราะฝ่ายค้าน แต่ไม่รอดเพราะความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ต่อรอง แบ่งเค้ก กันไม่ลงตัว ก็จะมีพรรคร่วมถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล สุดท้ายรัฐบาลก็ล่ม”   


          ต้องจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำอย่างไรเพื่อให้รัฐบาลเดินหน้าไปได้ ไม่ล่มภายในระยะเวลาอันสั้น โดยหากต้องการอยู่เกินอายุค่าเฉลี่ยของรัฐบาลผสม คือ อยู่ได้ 2-3 ปีขึ้นไป ก็ต้องใช้ “กำลังภายใน” เยอะ 


          “วิธีหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ ก็คือ ดึง ส.ว.มาช่วย โดยต้องมีการตีความกฎหมายแบบพิสดารว่า ร่างกฎหมายทุกฉบับที่เข้าสภาเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ ส.ว.มาช่วยในการโหวตเสียงในสภาได้ เพราะว่าเมื่อเสีียงปริ่มน้ำ ลำพังอาศัยเพียงแค่เสียง ส.ส.คงไม่ได้ อีกทั้งไว้ใจพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันก็ไม่ได้  ดังนั้นก็ต้องอาศัยกลไกของ ส.ว.มาช่วยโหวตผ่านร่างกฎหมายให้ชนิดไม่แตกแถว ซึ่ง ส.ว.ทำให้เห็นมาแล้วในการโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีเสียงแตกแม้แต่เสียงเดียว”


          อย่านึกว่าการให้ ส.ว.มาร่วมโหวตร่างกฎหมายจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้ใช้ “หลักรัฐศาสตร์” กันแทบหมดแล้ว  ในขณะที่ “หลักนิติศาสตร์” พร่ามัว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ