คอลัมนิสต์

ขุมทรัพย์"พลังงาน"ต้นตอ"เสียสัตย์-แย่งเค้ก"ในพลังประชารัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... กวาดบ้านกวาดเมือง โดย... ลมใต้ปีก

 

 


          ไม่จบไม่สิ้นสำหรับการแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานของ “กลุ่มพลัง” ต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ แม้นายกรัฐมนตรีจะยืนยันว่า “นิ่งแล้ว” แต่ล่าสุดยังมีการ “ทบทวนใหม่” ในคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ แม้รายชื่อ รอบแรกจะถูกส่งไปถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วก็ตาม แต่มีการอ้างว่า การคัดสรรคนไปเป็นรัฐมนตรีต้องผ่านกระบวนการของกรรมการบริหารพรรคให้ถูกต้อง จึงขอชื่อกลับมา “รับรองใหม่”

 

 

          การรับรองใหม่ครั้งนี้ มีรายงานว่า ชื่อของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งสามมิตร ที่ถูก “ตีตก” ไปในรอบแรกกลับโผล่เข้าไปใหม่ และ “ปักหมุด” ใส่มือนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หวังเบียดปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 อย่าง ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ให้กระเด็นไปนั่งกระทรวงศึกษาธิการ ต้องตามไปดู ว่าอะไรที่ทำให้ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล้าฝ่ากระแส “เสียสัตย์” ที่เคยประกาศเมื่อ 4 สิงหาคม 2561 ในเวที "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ของ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และ อมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ว่า “ผมจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลนี้”


          “ก่อนพูดคุณเป็นนายคำพูด หลังพูดคำพูดเป็นนายคุณ” คือ อมตวาจา ที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี สอนนักการเมืองให้ “ยึดมั่น" ในคำพูด แม้ต่อมา สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ จะอ้างว่า “ได้ถอน” คำสัตย์ ที่ประกาศไว้ โดยประกาศถอนหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม ในการให้สัมภาษณ์ต่อ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ในรายการ The Daily Dose แล้วก็ตาม 


          แต่นักการเมืองที่เป็นแบบอย่าง ไม่ควร “ชักเข้าชักออก” พร้อมจะพูดอะไรและถอนอะไรก็ได้ เพียงแค่เมื่อ “เวลาเปลี่ยนไป” เพราะเท่ากับเป็นการ “ไม่รักษาคำพูดกับประชาชน” 

 

          ผลประโยชน์ก้อนโตในกระทรวงพลังงาน แม้งบประมาณแผ่นดินในกระทรวงพลังงานมีไม่กี่พันล้านบาท เทียบไม่ได้กับกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีมากกว่า 2 แสนล้านบาท แต่กลับเป็นกระทรวง “เหลือ”ที่นักการเมืองไม่อยากนั่ง แต่เหตุไฉนจึงออกอาการ "แย่งชามข้าว”ในกระทรวงพลังงาน 

 


          นอกจากเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงพลังงาน มีเม็ดเงินรวมกว่า 4 แสนล้าน ยังมี “ขุมทรัพย์” ที่รอ “เสนาบดีคนใหม่” เข้ามาตัดสินใจเชิงนโยบายอีกหลายอย่าง อาทิ การเปลี่ยนหลุมรับซื้อน้ำมันที่ประเทศไทยใช้น้ำมันวันละ 183 ล้านลิตร หรือ 1.1 ล้านบาร์เรล โดยในตลาดค้าน้ำมันเป็นที่รู้กัน (พ่อค้าน้ำมันวิ่งเต้น ผู้ซื้อ) จ่ายค่าคอมมิชชั่น (kickback) บาร์เรลละ 3 ดอลลาร์สหรัฐ ผู้ซื้อรายใหญ่ในประเทศไทยคือ ปตท. นั่นคือเหตุที่นักการเมืองพยายามครอบครอง ปตท. ที่ยังมีเรื่องการซื้อแหล่งพลังงานในต่างประเทศทั่วโลก ที่มักจะมี “เงินทอน” มหาศาล รวมถึงการเช่าเรือขุดเจาะและสำรวจแหล่งปิโตรเลียม 


          ยุคปัจจุบันที่นิยมทำกันคือการขอใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า จากนโยบายรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ในอดีต เรียกกันสูงถึง “เมกะวัตต์ละกิโล” ปัจจุบันทันทีที่มีการเก็งว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรีพลังงาน มือเดินงานของอดีตรัฐมนตรีอุตสาหกรรมชื่อ “ส.ท.” เริ่มเดินไปหานักลงทุนว่า “ใครอยากได้ใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า ให้จ่ายมาก่อน" ถ้าเข้าก่อนจ่ายถูก ถ้าเข้าทีหลังจ่ายแพง 


          ยังมีเรื่องการเปลี่ยนแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ ที่มุ่งเน้นโรงไฟฟ้า จากก๊าซธรรมชาติมากกว่าเชื่อเพลิงอย่างอื่น ที่ทำให้นักลงทุน เตรียม “วิ่งเต้น” ขนานใหญ่ 


          นี่คือ “ขุมทรัพย์”บางส่วนที่นักการเมือง “รุมตอม”กระทรวงพลังงาน จนยอม “พรรคแตก” เพราะผลประโยชน์ที่ยอมกันไม่ได้ และเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การจะเลือกใครไปนั่ง เป็น “ปู่โสม”เฝ้าทรัพย์กระทรวงนี้ควรปราศจากข้อ กังขาของสังคม ตั้งแต่เริ่มต้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ