คอลัมนิสต์

นักวิชาการชี้"กับดัก"การเมืองคือรธน.แนะแก้ผ่าน"ฉันทามติร่วม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ขนิษฐา เทพจร

 

 

          เนื่องในวันสถาปนา คณะรัฐศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 70 ปี ร่วมจัดเวทีเสวนา หัวข้อ "มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจการเมืองไทย : กับดักหรือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" โดยมีนักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นที่คาบเกี่ยวกับประเด็นเศรษฐกิจ-การเมือง รวมถึงช่วยชี้ทางออกจากวังวนปัญหาการเมือง ที่หลายฝ่ายโฟกัสไปที่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้นคือ การจัดสรรอำนาจของกลไกต่างๆ ผ่าน “กติกาสูงสุด” ของประเทศ ที่ถูกออกแบบไว้ล่าสุด ว่าคือตัวปัญหาของการเมืองไทย

 

 

          โดย ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนมุมมองทางวิชาการ ต่อประเด็นกับดักการเมืองไทย ที่มีจุดเริ่มจาก “รัฐธรรมนูญ”

 

 

 

นักวิชาการชี้"กับดัก"การเมืองคือรธน.แนะแก้ผ่าน"ฉันทามติร่วม"

ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ

 


          “สิ่งสำคัญของการเมืองไทย สังคมไทยไม่เห็นค่ากฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เชื่อมั่น ศรัทธา ต่อระบอบการปกครองแบบนี้ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ความเป็นกฎหมายสูงสุดไม่ได้รับความเชื่อมั่น คือ การออกแบบรัฐธรรมนูญที่ไม่สมดุลทางอำนาจ ทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายศาล ถูกเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญของประเทศยังพบการถูกทำลายอยู่บ่อยครั้ง เพราะขาดการมีฉันทามติร่วมกัน รวมถึงไม่มีเซ้นส์ยึดมั่น ถือมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีคนหลากหลายวัยต้องอยู่ภายใต้กติกาดังกล่าว ทั้งที่การออกแบบรัฐธรรมนูญต้องทำให้เสียงประชาชนเท่ากันและถูกเห็นค่าอย่างเท่าเทียม รวมถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนต้องได้รับการเคารพ” ผศ.ดร.วรรณภา กล่าว


          นักวิชาการสาวจากคณะรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า ภาพรวมของกับดักการเมืองไทย ส่วนตัวเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแบบไม่สมดุล ทั้งนี้มองว่า กับดักทางการเมืองยังมีทางออก เหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือ ต้องสร้างดุลทางอำนาจ ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล และทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือแบบเป็นทางการที่ทำให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตย รวมถึงเป็นเครื่องมือที่แก้ปัญหาในอดีต ไม่เฉพาะการแก้ไขความขัดแย้งเท่านั้น เนื่องจากในอนาคตยังอาจเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้อีก โดยปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทางออกตามกลไกของรัฐธรรมนูญ คือ ใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 166 เพื่อทำประชามติเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การยกระดับการพูดคุยระดับชาติ เกิดฉันทามติร่วม และสาธารณะยอมรับ รวมถึงกำจัดข้อครหาว่า บางฝ่ายคือผู้ที่สืบทอดอำนาจ หรือบางฝ่ายต้องการล้มล้างระบอบที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ



นักวิชาการชี้"กับดัก"การเมืองคือรธน.แนะแก้ผ่าน"ฉันทามติร่วม"

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ

 


          ขณะที่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งฉายภาพจากมุมมองของนักวิชาการต่างประเทศว่า ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลง จะซ่อนแฝงอยู่ในปัจจุบัน เมื่อดูปัจจุบันคิดถึงสิ่งที่เห็น และไม่เห็น แต่มีแนวโน้มที่ซ่อนแฝง จากความใฝ่ฝันของคนในทางการเมือง


          “หากขับรถอยู่ ไม่สามารถมองผ่านกระจกหน้าได้ เพราะมีความมืด อย่างเดียวที่มองเห็นคือ มองกระจกหลัง นี่เป็นชะตากรรมของมนุษย์ เราไม่รู้อนาคตคืออะไร ที่พอรู้บ้างคืออดีตที่ผ่านมา แล้วพยายามคิดว่าคล้ายอดีตที่ผ่านมา ซึ่งการมองไปข้างหน้าย่อมมีข้อจำกัด เหมือนคำของนักวิชาการที่เคยบอกว่าประเพณีของคนรุ่นก่อน หน่วงทับสมองของผู้มีชีวิตอยู่เหมือนฝันร้าย ทั้งนี้การเมืองไทยในมุมมองของผม ที่เข้าใจได้คือ มีการเปลี่ยนย้าย ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และนำไปสู่การเมือง รวมถึงระบอบที่เปลี่ยนแปลงตามปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวทางสังคม ตั้งแต่ปี 2475, ปี 2516 เป็นต้นมา”


          ศ.ดร.เกษียร กล่าวด้วยว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มีได้ แม้จะริบหรี่ คือ การรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน จากอำนาจรัฐ ทั้งกระบวนการผ่านกฎหมาย และให้ใช้กระบวนการของรัฐสภาเป็นที่ถกเถียง นอกจากนั้นคือต้องไม่มีรัฐประหาร ไม่มีตุลาการธิปไตยปกครองโดยเสียงข้างน้อย ไม่มีการฉวยโอกาสใช้สถาบันหลักของบ้านเมืองเป็นเครื่องมือทำร้ายกันในทางการเมือง


          “กับที่มีคนถามว่าเราจะสร้างระบบใหม่ขึ้นได้หรือไม่ ผมว่าเกิดขึ้นได้ แต่การสร้างระบอบใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากการสรุปบทเรียน จากประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เก่า ส่วนผู้มีอำนาจที่ยึดและมองมุมเศรษฐกิจ ผมว่า เขาจะไม่ยอมหากไม่สามารถทำให้เอื้อต่อเขาในส่วนแบ่งที่คุ้มค่า มีคนถามด้วยว่าฐานะที่เกิดในยุคประชาธิปไตย จะยอมรับกับระบบใหม่ได้หรือไม่นั้น สิ่งที่ต้องตอบคำถามให้ได้คือ นิยามคำว่าประชาธิปไตยระบบนี้ กับตัวคุณเหมือนกันหรือต่างกันหรือไม่ รวมถึงนิยามประชาชนของระบอบนี้กับประชาชนเหมือนกันหรือไม่” ศ.ดร.เกษียร กล่าว


          ส่วน รศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายความคิดจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่พบว่า เศรษฐกิจไทยโตช้า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีค่าเฉลี่ยการเติบโต เพียง 3 เปอร์เซ็นต์ และโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคใกล้เคียง โดยปัจจัยสำคัญคือ วิกฤติจากภาคเกษตรกรรม และระบบอุตสาหกรรมที่โตช้า เนื่องจากไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันที่ได้จากค่าแรงราคาถูก เมื่อค่าแรงของประเทศเพิ่มสูงขึ้นจึงทำให้กลายเป็นผลกระทบที่ส่งผลต่อศักยภาพและความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่การลงทุนโดยรวมลดลง เพราะโครงสร้างพื้นฐานในรอบ 20 มีมีการลงทุนน้อย ทำให้เกิดผลในเชิงประจักษ์ คือ กระทบต่อจีดีพีของประเทศ นอกจากนั้นคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเสื่อมถอยลง เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ทำให้การลงทุนถดถอยตามไปด้วย นับจากการรัฐประหาร ปี 2549

 

 

นักวิชาการชี้"กับดัก"การเมืองคือรธน.แนะแก้ผ่าน"ฉันทามติร่วม"

รศ.ดร.อภิชาติ สถิตนิรามัย

 


          ศ.ดร.อภิชาติ กล่าวด้วยว่าปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ คุณภาพทางการศึกษาลดต่ำ มีความเหลื่อมล้ำ และมีความไม่เท่าเทียมของคุณภาพการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัญหาสุขภาพพบการเกิดโรคใหม่มากขึ้น และคาดว่าประชาชนจะตายเพิ่มมากขึ้นในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 60 ปี ทั้งนี้คณะเคยสำรวจความเห็นต่อความมั่นคงในชีวิตของประชาชน คนส่วนใหญ่ที่มีฐานะเป็นชนชั้นกลางระดับบน ตอบว่า ชีวิตไม่มั่นคง และมองว่าภายใต้สถานการณ์บางอย่างการใช้ระบอบเผด็จการจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า โดยมีคำอธิบายได้ว่าความรู้สึกไม่มั่นคง เกิดจากความท้าทายจากกระแสโลกาภิวัตน์


          “เมื่อคุณภาพทุกด้านลดประสิทธิภาพลง ทั้งการมีเสถียรภาพทางการเมือง คุณธรรมของผู้ปกครอง คุณภาพทางการศึกษา ระบบราชการที่ไม่มีคุณธรรม ทำให้ไม่มีใครที่กล้าเข้ามาลงทุน ระบอบเผด็จการประชาธิปไตยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขับเคลื่อนโดยรัฐราชการนั้น ไม่สามารถกระตุ้นหรือสร้างสมรรถภาพของการแข่งขันในประเทศได้ เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากกลไกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่สร้างกับดักจนไม่เห็นแสงสว่างของปลายอุโมงค์ได้” ศ.ดร.อภิชาติ กล่าว


          ส่วน ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองต่อทิศทางข้างหน้า ว่าด้วยเศรษฐกิจการเมืองไทย ว่าวิสัยทัศน์ทางการเมืองและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ต้องเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ แต่ต้องยอมรับในข้อจำกัด ที่ไม่สามารถกระจายไปทั่วประเทศภายใต้เวลาที่มีอย่างจำกัด ดังนั้นสิ่งที่เขามองคือ ต้องเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศให้มากขึ้น นอกจากนั้นกลุ่มชนชั้นนำหวังลึกๆ ว่า การลงทุนจะเกี่ยวข้องกับบีอาร์ไอ หรือถนนสายไหม ของประเทศจีน ดังนั้นวิสัยทัศน์ที่ระบุนั้นคือแผนอีอีซี เพื่อตอบโจทย์การลงทุน สร้างอุตสาหกรรมใหม่ รวมถึงกระจายศูนย์กลางเศรษฐกิจไปยังรอบนอก โดยเฉพาะเมืองใกล้ชายทะเล เป็นต้น

 

นักวิชาการชี้"กับดัก"การเมืองคือรธน.แนะแก้ผ่าน"ฉันทามติร่วม"

ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา

 


          ขณะที่ประเด็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเมืองไทย นั้น “ศ.ดร.อารยะ” กล่าวว่า มีทั้งปัจจัยภายนอก และนโยบายฝ่ายการเมืองรวมถึงฝ่ายทุนที่กุมอำนาจทางการเมือง อาทิ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน, เศรษฐกิจการเมืองโลก รวมถึงการตัดสินใจทางการเมืองและกลุ่มทุนต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาและระวังคือ โจทย์และความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงปัญหาในอดีต เช่นความเหลื่อมล้ำที่มีโครงสร้างแตกต่างจากอดีต


          “โอกาสของประเทศที่จะก้าวข้ามกับดักทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้ แม้จะกุมอำนาจได้ทั้งประเทศ แต่ตัวแปรของปัจจัยภายนอก หากระบบการค้าของโลกเป็นเสรี สามารถสร้างความเสถียรได้ แต่ต่อไปนั้นบริษัทขนาดใหญ่จะกุมอำนาจแบบข้ามพรมแดน แม้จะคุมภายในได้ จะไม่ตกเป็นของบริษัทต่างประเทศ หากไม่เพิ่มขีดความสามารถของแรงงานให้ทัดเทียมกับคู่แข่งขัน” ศ.ดร.อารยะ กล่าว

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ