คอลัมนิสต์

"ค่าโง่โฮปเวลล์"... คนทุจริตอยู่ไหน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... ร่มเย็น

 

    

 

     

          ไขข้อข้องใจ “โฮปเวลล์” สร้างไม่เสร็จ ทิ้งเสาตอม่อไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความอัปยศ แล้วทำไมเราจึงแพ้คดี และยังต้องจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่บริษัทโฮปเวลล์ ซึ่งเป็นเอกชนอีก

 

 

          ว่ากันว่า... จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องค่าเสียหาย เกิดขึ้นในปี 2547 ภายหลังการบอกเลิกสัญญาสัมปทานอย่างเป็นทางการในปี 2541 เนื่องจากก่อสร้าง 7 ปี โครงการมีความคืบหน้าเพียง 13.77% ขณะที่แผนงานกำหนดว่าควรมีความคืบหน้า 89.75% การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือว่าโครงสร้างทุกอย่างตกเป็นกรรมสิทธิ์ จึงมีความพยายามนำโครงสร้างบางส่วนมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม รังสิต-บางซื่อ ขณะที่โฮปเวลล์เห็นว่าเป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน


          เท่าที่ได้รับฟังจากเวทีสัมมนาทางวิชาการ บทเรียนกรณีศึกษาคดีโฮปเวลล์ จัดโดยสมาคมนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศ.อนันต์ จันทรโอภากร กรรมการกฤษฎีกา  บอกว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจในคดีโฮปเวลล์ คือ การคัดค้านของรัฐในประเด็นใด ต้องทำตั้งแต่อยู่ในชั้นองค์คณะอนุญาโตตุลาการ ไม่ใช่ไปนั่งเฉยๆ รอไปค้านในชั้นศาล ทำแบบนี้ก็ต้องถูกกฎหมายปิดปาก ทุกอย่างมันทำตรงปลายน้ำไม่ได้ ต้องทำตั้งแต่ต้นทาง

 

          เราชอบเรียกกัน “คดีค่าโง่” หมายถึงอะไร ใครโง่ เพราะว่าถ้าพิสูจน์ได้ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะเพราะเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต แล้วจะให้รัฐจ่ายค่าเสียหายได้อย่างไร วันนี้ศาลปกครองตัดสินแล้วให้รัฐจ่าย 11,888 ล้านบาท แต่มันไม่ใช่แค่นั้น คดีฟ้องกันเป็น 10 ปี บวกดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี คนไทยตายน่ะ


 


          ในทางปฏิบัติ การริเริ่มโครงการต้องมี 3 ขั้นตอน 1.คนสร้างโครงการหรือตัวชง ไม่มีทางที่รัฐมนตรีหรือนักการเมืองจะชงเอง 2.ขั้นตอนการลงนามในสัญญา 3.การบริหารสัญญา ต้องตรวจสอบไปใน 3 ขั้นตอน


          อย่าง “คดีคลองด่าน” คนทำหนีออกนอกประเทศ รัฐไม่จ่ายค่าเสียหายเพราะมีการทุจริต ส่วนกรณี “โฮปเวลล์” “คนชง” อาจยังไม่ตาย แต่ดูเหมือนเราไม่สนใจจะสืบค้นว่าตอนทำโครงการมีความไม่โปร่งใสอย่างไร พอศาลตัดสินออกมาไม่ตรงใจก็หงุดหงิด


          ลองคิดดูว่า ถ้าเราเป็นนักการเมืองแพ้คดี หรือไปแข่งกีฬาแล้วแพ้ จะตอบคำถามนักข่าวอย่างไร ก็ต้องบอกว่ากรรมการไม่เป็นธรรม คนฟังพอใจ คนพูดรอดตัว


          ขณะที่ ศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ ระบุว่า ข้อโต้แย้งที่สำคัญในการขอเพิกถอนหรืองดบังคับคำสั่งอนุญาโตตุลาการ จะมีได้ต่อเมื่อขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี 


          หากถามว่าขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน ก็ขอยกตัวอย่างคดีทางด่วนบางนา-บางปะกง ซึ่งในปี 2536 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทำสัญญากับกิจการร่วมค้าแห่งหนึ่ง แล้วมีข้อพิพาทเรื่องการส่งมอบที่ดินล่าช้าและขอแก้ไขแบบ ทำให้ราคาสูงขึ้น กิจการร่วมค้าฯ จึงขอปรับราคาเพิ่มขึ้น 6,000 ล้านบาท อนุญาโตตุลาการตัดสินให้จ่าย แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นว่าการบังคับของอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เนื่องจากผู้ว่าการ กทพ.ขณะนั้น ไปรับหุ้นจากกิจการร่วมค้าฯ แห่งนั้น และยังมีพิรุธรีบร้อนทำสัญญาทั้งที่รู้ว่าส่งมอบพื้นที่ไม่ได้แน่ๆ สำนักนายกฯ จึงยื่นฟ้องคดี ต่อมาศาลชี้ว่ามีการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ใช้สิทธิไม่สุจริต ฎีกาปฏิเสธไม่รับคำวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการ แต่ก็ไม่มีการติดตามว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับหุ้นถูกดำเนินการอย่างไรบ้าง นี่เป็นบทเรียนหนึ่ง


          แล้วหลักความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เกี่ยวกับคดีโฮปเวลล์ เป็นอย่างไร “คดีโฮปเวลล์” มีคำพิพากษาเป็นร้อยหน้า ปัญหาคือ ศาลควรตรวจสอบเหตุแห่งความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีหรือไม่ ก่อนหน้านี้ในคดีทางด่วนบางปะอิน ศาลปกครองสูงสุดตัดสินออกมาแบบเดียวกัน แต่คดีทางด่วนบางปะอินถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ ฝ่ายผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย ค้านให้พิจารณาลงไปในเนื้อความ ซึ่งจะพบว่า มีเหตุขัดต่อความสงบเรียบร้อยฯ  อนุญาโตตุลาการตัดสินผิด เพราะยังไม่ได้นำสืบและชี้ว่ามีรายได้ที่ขาดไป เมื่อไม่มีหนี้การไปบังคับให้จ่ายจึงขัดต่อหลักศีลธรรมอันดี


          แต่ “คดีโฮปเวลล์” ไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ และไม่ลงไปในเนื้อคดี ไม่ได้ตรวจสอบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของคู่กรณีขัดต่อหลักความสงบเรียบร้อยฯ หรือไม่ แนวคำวินิจฉัยบอกเพียงว่าไม่มีข้อสงสัย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการพิจารณาว่าจะบังคับตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เพราะอาจมีความรู้หรือความเห็นอื่นแตกต่างไปจากที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยไว้ แต่ในคดีโฮปเวลล์เราไม่พบข้อโต้แย้งอย่างจริงจังของฝ่ายราชการว่ากรณีนี้มีพิรุธอย่างไร ศาลจึงตัดสินไปตามข้อเท็จจริงที่นำเสนอ จึงมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอว่า อาจเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ชงคดีโดยไม่เรียบร้อย หากพบพิรุธก็ต้องดำเนินคดี ต้องมีการรับผิดทางละเมิดและทางอาญา กรณีค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นผลประโยชน์ของประชาชน จึงต้องตรวจสอบและติดตามกันอย่างละเอียด แม้คดีตัดสินไปแล้วก็ต้องสำรวจตรวจสอบกันอย่างจริงจัง


          แม้ว่าในวงเสวนาวิชาการ จะไม่มีคำตอบ ถูก-ผิด แต่ไม่ว่าจะเป็นโฮปเวลล์ คลองด่าน หรือคดีค่าโง่อื่นๆ ต่างก็เป็นกรณีศึกษาที่สังคมควรได้รับสัญญาณว่าคนไทยควรต้องทำอย่างไร เพราะหลายอย่างยังซ้ำรอยเดิม ตรวจพบการทุจริตแต่ไม่เอาผิด ปล่อยให้ประเทศต้องแบกรับค่าโง่

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ