คอลัมนิสต์

เลขาฯ กกต. "จรุงวิทย์ ภุมมา" แนะสิ่งควรทำก่อนใช้สิทธิเลือกตั

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย


 


          24 มีนาคม คนไทยมีเวลา 9 ชั่วโมงเต็ม ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึง 5 โมงเย็น ในการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้หนึ่งเสียงของเรามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ แต่ก่อนออกไปใช้สิทธิ เรามาศึกษากันก่อนว่าในวันเลือกตั้งอะไรทำได้ และสิ่งใดเป็นข้อต้องห้าม ทำแล้วผิดกฎหมาย เสี่ยงคุก

 

 

          พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีคำแนะนำเป็นข้อปฏิบัติในวันเลือกตั้ง มาฝากประชาชนที่จะออกไปใช้สิทธิ์ ใช้เสียง ในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้

 

          - ไปลงคะแนนใช้สิทธิตั้งแต่เนิ่นๆ ในวันเลือกตั้ง
          24 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เปิดให้ลงคะแนนเลือกตั้ง จึงอยากแนะนำให้คนไทยทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นทั้งหน้าที่และสิทธิ เชื่อว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่คงได้ศึกษาข้อมูลมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครคนใด สังกัดพรรคการเมืองใด และคงตัดสินใจจนมีหมายเลขผู้สมัครในใจมาจากบ้านแล้ว ตามข้อมูลที่นำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวต หรือเอกสารแนะนำตัวที่ทำเป็นหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน รวมถึงการเดินหาเสียงแนะนำตัวถึงประตูบ้าน ตลอดจนโซเชียลมีเดียที่ทุกพรรคการเมืองใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน
แต่สำหรับคนที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกใคร ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครเบื้องต้นได้จากแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวตหรือจากเว็บไซต์ของ กกต. www.ect.go.th

 

 

เลขาฯ กกต. "จรุงวิทย์ ภุมมา" แนะสิ่งควรทำก่อนใช้สิทธิเลือกตั

 

 

          และขอแนะนำให้ผู้มีสิทธิเดินทางไปใช้สิทธิตั้งแต่เนิ่นๆ ในวันเลือกตั้ง มีหน่วยลงคะแนนกระจายเต็มทุกพื้นที่กว่า 9 หมื่นหน่วย โดยแต่ละหน่วยรองรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 800 คน จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาการกระจุกตัวของผู้มาใช้สิทธิ


          แต่ทุกคนจะต้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งก่อนเวลา 17.00 น. ถ้าพลาดไปหรือช้าไปเพียงนาทีเดียวก็ใช้สิทธิไม่ได้ แต่ถ้าเข้าไปแสดงตนในหน่วยเลือกตั้งก่อนเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกให้ได้ใช้สิทธิหย่อนบัตรคะแนนได้จนเสร็จสิ้น

 


          - นอกจากเตรียมตัวศึกษาข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองแล้ว ผู้มีสิทธิต้องเตรียมเอกสารอะไรไปแสดงที่หน้าหน่วยบ้าง
          ก่อนออกจากบ้านไปใช้สิทธิ เตรียมตัวออกจากบ้านไปให้พร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้แต่บัตรประชาชนที่หมดอายุแล้วก็ใช้ได้ แต่ถ้าลืมหรือหาบัตรประชาชนไม่เจอจริงๆ กฎหมายอนุโลมให้สามารถใช้บัตรหรือหลักฐานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ โดยต้องเป็นบัตรมีรูปถ่ายและหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เช่น บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ, ใบอนุญาตขับขี่ หรือหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)

 

 

 

เลขาฯ กกต. "จรุงวิทย์ ภุมมา" แนะสิ่งควรทำก่อนใช้สิทธิเลือกตั

 


          เมื่อไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้งขอให้ตรวจสอบซ้ำอีกครั้งจากบัญชีของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ติดไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งว่า ผู้สมัครที่เราตั้งใจมาเลือกถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เพราะในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้สมัครจำนวนมากที่มีปัญหาขาดคุณสมบัติ หากท่านไปลงคะแนนหรือกาเบอร์ให้ผู้สมัครเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นบัตรเสีย จากนั้นให้ไปตรวจสอบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในลำดับที่เท่าไร โดยบริเวณหน้าหน่วยลงคะแนนจะมีลูกเสือจิตอาสา คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบสิทธิ แต่เพื่อความสะดวกรวดเร็วผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งและลำดับการใช้สิทธิผ่านแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโหวตมาล่วงหน้า และขอให้บันทึกภาพหน้าจอโทรศัพท์ไว้เป็นหลักฐาน เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานเป็นที่เรียบร้อยจะให้ผู้มีสิทธิเซ็นชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิ และเซ็นชื่อรับบัตรเลือกตั้งที่ต้นขั้วบัตร แล้วเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจะฉีกบัตรออกจากต้นขั้ว พับบัตรส่งให้ผู้มีสิทธินำเข้าไปในคูหา
“เมื่อเข้าไปในคูหา อย่ารีบร้อนกาบัตรขอให้อ่านอย่างละเอียดอีกครั้ง หลายคนยังอาจจะมีข้อสงสัยว่า กาได้กี่เบอร์ หรือต้องกาช่องไหน เลือกตั้งรอบที่แล้วมีบัตร 2 ใบ ทำไมเลือกตั้งรอบนี้มีบัตรใบเดียว แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่คงศึกษากันมาพอสมควรแล้วก่อนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนกาบัตรเลือกตั้ง ขอให้ดูให้ดีว่าเราจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด หมายเลขใด แล้วกากบาทลงไปในช่องนั้น กาเบอร์เดียว หากกาเบอร์ผิดเปลี่ยนใจขีดคร่อม ขีดฆ่า จะถือเป็นบัตรเสียทันที ผมจึงขอเน้นย้ำให้ดูให้ละเอียดก่อนกาบัตร ตัดสินใจแล้วค่อยกา ห้ามเขียนข้อความอะไรลงไปในบัตรทั้งสิ้นเพราะจะกลายเป็นบัตรเสีย กาเบอร์เสร็จแล้วให้พับบัตรนำมาหย่อนใส่หีบบัตรซึ่งเป็นหีบพลาสติกใส”

 

 


          - ในขั้นตอนการนับคะแนนหลังปิดหีบ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
          เมื่อเวลาในการเลือกตั้งผ่านไปจนถึง 17.00 น. ปิดหีบเลือกตั้ง กรรมการประจำหน่วยจะตรวจนับบัตรในหีบว่ามีจำนวนตรงกับผู้มาใช้สิทธิ เพื่อยืนยันว่าไม่มีบัตรเลือกตั้งจากเขตอื่นเข้ามาปะปน จากนั้นจะเข้าสู่การนับคะแนน ซึ่งจะทำอย่างเปิดเผย ณ หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้เปิดให้ประชาชน ผู้สมัคร และผู้แทนพรรคการเมือง เข้าร่วมสังเกตการณ์โดยตลอดทุกขั้นตอน บัตรเลือกตั้งจะถูกเปิดเพื่อนับหมายเลขและบันทึกผลลงคะแนนลงบนกระดานประมวลผล กรณีมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการนับคะแนนของกรรมการ สามารถร้องคัดค้านที่หน้าหน่วยเลือกตั้งได้ เมื่อนับคะแนนเสร็จกรรมการจะรวบรวมผลคะแนนว่าผู้สมัครแต่ละพรรค แต่ละคนได้กี่คะแนน แล้วเข้าสู่กระบวนการรายงานผลคะแนนผ่านแอพพลิเคชั่นแรพพิทรีพอร์ต ซึ่ง กกต.ได้เชื่อมต่อระบบรายงานผลแบบเรียลไทม์กับสื่อมวลชนทุกสำนักข่าว คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 4 ชั่วโมงหลังปิดหีบ ก็จะทราบผลว่าในแต่ละเขตใครเป็นผู้ได้คะแนนสูงสุด (อย่างไม่เป็นทางการ 95%) หลังตรวจนับคะแนนกรรมการประจำหน่วยจะทำรายงานและติดประกาศผลคะแนนไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง ตัวแทนผู้สมัครจะไปถ่ายรูปเพื่อนำไปประมวลผลหรือสอบทานผลคะแนนได้


          นอกจากการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประชาชนผู้มีสิทธิแล้ว ยังมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ในประเทศไทย ก็ได้แสดงความจำนงขอเขาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยด้วย โดยจะเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่กระบวนการจัดการเลือกตั้ง มีการอำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้สิทธิอย่างไร รวมไปถึงการนับคะแนน การรวมผลคะแนน ทั้งนี้เพื่อยืนยันถึงความโปร่งใสในทุกๆ ขั้นตอน

 

 

 

เลขาฯ กกต. "จรุงวิทย์ ภุมมา" แนะสิ่งควรทำก่อนใช้สิทธิเลือกตั

 


          - อะไรบ้างเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ให้กระทำในวันเลือกตั้ง
          ในการลงคะแนน บัตรเลือกตั้งมีความสำคัญที่สุด กกต.เน้นย้ำเสมอให้อ่านรายละเอียดในบัตรเลือกตั้งให้ดี เพราะเมื่อกาบัตรไปแล้วจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อีกทั้งการเลือกตั้งต้องกระทำโดยตรงและลับ ไม่ให้ใครเห็นตอนกาเบอร์ กาเบอร์เสร็จแล้วก็ห้ามไม่ให้ใครเห็น ระเบียบ กกต. จึงห้ามไม่ให้นำกล้องถ่ายรูป หรือโทรศัพท์เข้าไปถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเด็ดขาด ใครถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งมีโทษจำคุก ใครกาบัตรแล้วชูให้ผู้อื่นดูว่ากาเลือกเบอร์นั้น เบอร์นี้ มีโทษจำคุก เผลอกาผิดก็อย่าฉีกบัตรเลือกตั้ง เพราะจะมีความผิดฐานทำลายบัตร โทษจำคุกเช่นกัน เซลฟี่ในคูหาเลือกตั้งก็ทำไม่ได้ ขอแนะนำว่าอย่าไปเสี่ยงทำผิดในหน่วยเลือกตั้ง หากกรรมการประจำหน่วยตรวจสอบเห็นภาพบัตรเลือกตั้งจะมีความผิดทันที


          “ถ้าอดใจไม่ไหว อยากถ่ายเซลฟี่ ก็ให้เซลฟี่หน้าหน่วยเลือกตั้งจะดีกว่า แม้แต่การรับสายโทรศัพท์ภายในคูหาลงคะแนนก็ไม่ควรทำ เพราะคนที่รอลงคะแนนอยู่ข้างนอกอาจชี้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ แม้แต่ตัวผมเองก็ยังระมัดระวัง เมื่อเข้าไปในคูหาเลือกตั้ง ต่อให้มีใครโทรเข้ามาจะไม่รับสายและไม่โทรออกเด็ดขาด เพราะถ้าถูกกล่าวหาแม้ไม่ได้ทำผิด ก็ต้องเสียเวลาไปแก้ข้อกล่าวหา ช่วงเวลาเพียงแค่ครู่เดียว ห้ามใจตัวเองดีที่สุด”

 


          - ข้อห้ามเรื่องการดื่มสุราหรือการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง
          การจำหน่ายจ่ายแจกสุรา ก็เป็นอีกหนึ่งต้องห้าม โดยกฎหมายห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุราก่อนวันเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง ไปจนถึงเวลา 18.00 น.ของวันเลือกตั้ง เบ็ดเสร็จคือ 24 ชั่วโมง นับจาก 6 โมงเย็นวันที่ 23 มีนาคม ไปจนถึง 6 โมงเย็นของวันที่ 24 มีนาคม

 

 

 

เลขาฯ กกต. "จรุงวิทย์ ภุมมา" แนะสิ่งควรทำก่อนใช้สิทธิเลือกตั

 

 


          - "เอ็กซิทโพลล์” หน้าหน่วยเลือกตั้ง ทำได้มากน้อยแค่ไหน
          ในส่วนของโพลล์สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กกต.ไม่ได้ห้ามทำ แต่ห้ามเปิดเผยผลโพลล์ 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง ส่วนการทำเอ็กซิทโพลล์หรือสำรวจความคิดเห็นหน้าหน่วยเลือกตั้ง ห้ามไม่ให้กระทำโดยไม่สุจริต ปกติเราอาจไปถามเพื่อนว่าเลือกเบอร์อะไร แต่เพื่อนก็คงไม่บอกความจริง หรือบอกเบอร์ที่ไม่ได้เลือก “เอ็กซิทโพลล์” ไปถามประชาชนก็จะไม่บอกเรื่องจริง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เคยมีการทำ “เอ็กซิทโพลล์” แล้วมีปัญหา เพราะผลโพลล์ออกมาแบบหนึ่ง แต่ผลการนับคะแนนออกมาอีกแบบ ก็ไปวิจารณ์กันว่าโกงกันแน่ๆ เลย ในความเป็นจริง “เอ็กซิทโพลล์” สู้การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งไม่ได้ เพราะเราเองก็คงไม่อยากบอกใครว่าเราเลือกเบอร์อะไร มันเป็นความลับของเรา นอกจากนี้กฎหมายยังห้ามไม่ให้มีการเล่นพนัน ทายผลการเลือกตั้ง

 


          - ในวันเลือกตั้งประชาชนทั่วไปยังสามารถโพสต์หรือแชร์ข้อความเชียร์หรือไม่สนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ได้หรือไม่
          กฎหมายห้ามหาเสียงในวันเลือกตั้ง ทุกอย่างต้องหยุดหมด โซเชียลก็ต้องหยุดด้วย หากไปโพสต์อะไรก็จะกลายเป็นการหาเสียงในวันเลือกตั้ง มีความผิดอาญา จะอ้างว่าสุจริตหรือไม่รู้ ไม่ได้ เพราะกฎหมายใช้คำว่า “ผู้ใดหาเสียงวันเลือกตั้งมีความผิด มีโทษจำคุก” ประชาชนทั่วไปต้องหยุด แม้แต่ข้อความที่เคยโพสต์ไว้ก่อนหน้า ก็ต้องระวังไม่ให้แสดงขึ้นมาอีกในวันเลือกตั้ง ถ้าไม่มีใครเห็นหรือตรวจสอบไม่พบก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีกรณีร้องเรียนจะเป็นปัญหา ต้องถูกตรวจสอบดำเนินคดี ประชาชนจึงต้องระมัดระวังด้วย

 


          - ข้อห้ามเรื่องการขนคนไปลงคะแนน
          เรื่องการจัดยานพาหนะขนคนไปลงคะแนน ไม่รู้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีหรือไม่ แต่ในอดีตถูกตรวจสอบพบ ถูกดำเนินคดี โดน “ใบแดง” ไปกันเยอะ กฎหมายอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐจัดรถรับส่งอำนวยความสะดวกในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นหน่วยกำลังพลที่ต้องมีรถรับส่งและนำกำลังพลกลับเข้าหน่วย ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ทั่วไปไม่มีการจัดรถรับส่ง เพราะหน่วยเลือกตั้งไม่ได้อยู่ไกลจากชุมชน พูดได้ว่ากว่า 7 หมื่นตำบลทั่วประเทศ มีหน่วยเลือกตั้งกระจายอยู่มากกว่า 9 หมื่นหน่วย โดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิ บางแห่งอาจจะเดินไปหรือนั่งรถมอเตอร์ไซค์ไป ไม่ไกลมาก กรณีจัดรถรับ-ส่งฟรี ถ้าโดนร้องเรียนขึ้นมาจะมีปัญหา

 

 

 

เลขาฯ กกต. "จรุงวิทย์ ภุมมา" แนะสิ่งควรทำก่อนใช้สิทธิเลือกตั

 

 


          - จากข้อผิดพลาดบกพร่องต่างๆ ในการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรและเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด นำมาประเมินเพื่อแก้ปัญหาในวันเลือกตั้งจริง 24 มีนาคม อย่างไร
          ในวันเลือกตั้งมีหน่วยเลือกตั้ง 92,500 หน่วย กระจายทั่วประเทศ มั่นใจได้ว่าไม่เกิดเหตุวุ่นวายแน่นอน แตกต่างจากวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีบัตรเลือกตั้งต่างเขต จนทำให้เกิดปัญหาผิดพลาด สับสนในการหยิบบัตรผิด และแจกบัตรผิด ซึ่งเป็นปัญหาของกรรมการประจำหน่วยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ทั้งวัน แม้จะมีกรรมการประจำหน่วยสำรอง แต่ก็ยังมีปัญหา ขณะที่บางหน่วยซึ่งคิดว่าอาจจะมีปัญหากลับไม่มีปัญหา เช่น เขตบางกะปิที่มีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิสูงสุดกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งไม่พบปัญหาเลยหลังปิดหน่วยเลือกตั้ง เกินเวลา 17.00 น. ไปเพียงเล็กน้อย ก็ปิดการลงคะแนนได้ ไม่มีปัญหาตกค้าง ในส่วนของประเด็นข้อผิดพลาดบกพร่องต่างๆ อันเกิดจากระบบที่ออกแบบไว้ กกต.นำเสนอให้มีการแก้ไขต่อไป


          “เราน้อมรับความผิด ในทุกข้อบกพร่อง เมื่อพบปัญหาก็เร่งแก้ไขในทันที โดยปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ถึงขนาดกระทบกระเทือนต่อการเลือกตั้งโดยรวม และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้าเท่านั้น วันเลือกตั้งจริงไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะจะไม่มีบัตรเขตเลือกตั้งอื่น ที่สำคัญในวันเลือกตั้ง เรามีเวลา 9 ชั่วโมงเต็ม สำหรับการเปิดหีบลงคะแนน โดยมีผู้ใช้สิทธิเฉลี่ย 800 คนต่อ 1 หน่วยเลือกตั้ง มั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาความแออัด และคงไม่มีปัญหาผู้มาใช้สิทธิตกค้างในหน่วยเลือกตั้งจนล่วงเลยเวลาปิดหีบ ยกเว้นรายที่มาไม่ทันลงคะแนน หรือมาถึงหน่วยเลือกตั้งหลังเวลา 17.00 น.”

 


          - เตรียมการรองรับปัญหาแอพพลิเคชั่นล่มอย่างไร เพราะวันที่ 17 มีนาคม มีการกดเข้าไปตรวจสอบข้อมูลพร้อมๆ กันจนทำให้ระบบล่ม
          แนะนำให้ดาวน์โหลดข้อมูลและบันทึกหน้าจอไว้ก่อนล่วงหน้า อย่าไปดาวน์โหลด หรือตรวจสอบสิทธิพร้อมๆ กันที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาระบบล่ม อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา กกต.ได้แก้ไขให้ระบบสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติภายในเวลาเพียง 15 นาที โดยการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์เข้าไปอีกเท่าตัว

 


          - อยากให้แนะนำไปยังประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมแจ้งเบาะแสทุจริตเลือกตั้ง
          ถ้าพบการทุจริต สามารถแจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน 1444 แอพพลิเคชั่นตาสับปะรด หรือเข้าแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง โดยระเบียบ กกต.กำหนดให้มีสินบนรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแส ถ้าพบการแจกเงินซื้อเสียง สามารถเก็บพยานหลักฐานนำส่งให้กกต. จนสามารถเอาผิดกับผู้สมัคร เมื่อศาลตัดสินลงโทษ หรือ กกต.สั่งระงับสิทธิสมัคร จะมีสินบนรางวัลนำจับให้สูงสุดถึง 2 แสนบาท ทั้งนี้เพื่อเป็นกระบวนการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยรางวัลสินบนนำจับนี้ มากกว่าเป็น 1,000 เท่าเมื่อเทียบกับเงินซื้อเสียง


          สำหรับแอพพลิเคชั่น ตาสับปะรด กกต.ได้จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการติดตามสถานการณ์และป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการรายงานสถานการณ์เมื่อพบเห็นการทุจริตและการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง หรือรายงานสถานการณ์ทั่วไปที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยผู้ใช้งานสามารถรายงานสถานการณ์ได้ทั้ง ข้อความ ภาพ เสียง หรือวิดีโอ ผ่านทางแอพพลิเคชั่น ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งสมาร์ทโฟนในระบบเอนดรอยด์และไอโอเอส เมื่อดาวน์โหลดแล้วเพียงแค่กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก็สามารถรายงานเหตุการณ์ทุจริตเลือกตั้ง อัพโหลดได้ทั้งข้อความ ไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง และคลิปวิดีโอ ส่งตรงถึง กกต.ได้ทันที


          สุดท้าย สำหรับข้อห่วงใยของการดูแลรักษาความปลอดภัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องเปิดหน่วยลงคะแนนจนถึงเวลา 17.00 น. ซึ่งจะเสร็จสิ้นการนับคะแนนในช่วงค่ำนั้น กกต.ได้ประสานกำลังตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองกระทรวงมหาดไทย ให้วางกำลังดูแลความปลอดภัยเต็มที่ในวันเลือกตั้ง มีการเพิ่มกำลังดูแลตลอดเส้นทาง โดยเป็นการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนที่จะเดินทางมาลงคะแนน และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยด้วย

 


          กติกาเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษ คุก-ปรับ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
          1.ห้ามลงคะแนนทั้งที่ตนเองไม่มีสิทธิ โดยแสดงหลักฐานที่ไม่ใช่ของตนเอง
          2.ห้ามทำให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนได้
          3.ห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง
          4.ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยวิธีการที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง
          5.ห้ามผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง
          6.ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนได้ลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว
          7.ห้ามผู้มีสิทธิเลือกตั้งเรียก รับ หรือยอมที่จะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน
          8.ห้ามขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว เพื่อไม่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือไปถึงไม่ทันเวลาปิดหีบเลือกตั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ