คอลัมนิสต์

ปล่อยกู้ในโซเชียลแค่ลวงเหยื่อร้อนเงิน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  กรกมล อักษรเดช


 

          ในยุคปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของสังคมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสาร สาระความบันเทิง การติดต่อสื่อสารรวมถึงการทำธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์ สร้างความสะดวกสบายและรวดเร็ว แม้แต่เงินกู้ เงินด่วนนอกระบบยังมีการเปิดเพจเฟซบุ๊กเชื้อเชิญคนมากู้เงิน แต่ละเพจมียอดคนติดตามหลักหมื่นคนขึ้นไป 

 


          แน่นอนว่าการปล่อยกู้เงินนอกระบบและคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนดเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่สำหรับคนที่เดือดร้อนต้องการเงินเร่งด่วนก็ยังทำใจยอมรับเงื่อนไข “ดอกโหด” ได้ แต่การประกาศปล่อยเงินกู้นอกระบบบนโซเชียลมีเดีย นั้น กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในฐานะ “ตำรวจไซเบอร์” ได้ออกมาเตือนสติให้ประชาชนระมัดระวัง อย่าหลงเชื่อ เพราะไม่มีจริง หากแต่เป็นบรรดามิจฉาชีพเปิดเพจมาหลอกลวงเหยื่อที่ “ร้อนเงิน” ทั้งสิ้น โดยมีการจับดำเนินคดีแล้วหลายราย


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผบก.ปอท. ในฐานะโฆษก บก.ปอท. เตือนว่า กรณีที่มีการหลอกลวงผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งนอกจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าทางออนไลน์แล้ว ยังมีรูปแบบหนึ่งที่มิฉาชีพนิยมใช้ในการหลอกลวงประชาชน นั่นคือการเปิดเพจมาหลอกลวงให้กู้เงินด่วนนอกระบบ มีรูปแบบที่สามารถกู้ได้โดยง่าย เช่นคนที่ติดแบล็กลิสต์ก็สามารถกู้ได้ ไม่ต้องใช้หรือมีหลักค้ำประกัน การพิจารณาอนุมัติเสร็จภายใน 1 ชั่วโมง เมื่อมีประชาชนอยากใช้เงินด่วนก็จะให้ติดต่อแล้วพูดคุยผ่านทางโปรแกรม Facebook Messenger ก่อนให้เหยื่อส่งหลักฐานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ อาทิ ภาพถ่ายบัตรประชาชน สมุดบัญชีเงินฝาก เพื่อส่งไปให้ประกอบการพิจารณา จากนั้นไม่นานก็จะแจ้งผลกลับมาว่าพิจารณาอนุมัติแล้วผ่าน ซึ่งมิจฉาชีพจะมีการพิมพ์เอกสารผลการพิจารณาอนุมัติทำให้ดูน่าเชื่อถือโดยมีบาร์โค้ด หรือคิวอาร์โค้ด ทำให้เหยื่อตายใจและเชื่อถือมากขึ้น


          “ขั้นตอนจากนั้นคนร้ายจะขอค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการ หรือดอกเบี้ยก่อนเป็นจำนวนประมาณ 10% ของวงเงินที่จะกู้ เช่นกู้ 10,000 บาท ก็ต้องโอนดอกเบี้ยไปก่อน 1,000 บาท เมื่อได้โอนไปแล้วคนร้ายก็จะบล็อกเฟซบุ๊กหนีไป ติดต่ออะไรไม่ได้อีกเลย นอกจากนี้หากคนร้ายแชทพูดคุยเหยื่อแล้วยังเห็นว่าเหยื่อไม่รู้ตัวว่าถูกหลอกอีกก็อาจจะหลอกลวงเพิ่มอีกได้ ด้วยการสอบถามว่าจะเพิ่มวงเงินกู้หรือไม่ ถ้าต้องการก็จะประสานขอกับหัวหน้าให้ แต่ขอเงินค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยเพิ่ม แต่เมื่อเห็นว่าหลอกต่อไม่ได้ก็จะบล็อกเฟซบุ๊กหลบหนีทันที” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ อธิบาย


          ขณะเดียวกันนอกจากเงินที่ผู้เสียหายถูก “โจรออนไลน์” หลอกให้ไปแล้ว การที่ผู้เสียหายส่งภาพถ่ายบัตรประชาชนส่งไปให้ทางออนไลน์อาจถูกนำไปใช้หลอกลวงบุคคลอื่นต่อ แทนที่จะเป็นแค่เหยื่ออาจจะตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอื่นได้อีก ดังนั้นตำรวจจึงต้องเตือนว่าเพจเงินกู้นอกระบบด่วนเหล่านี้ไม่ไช่เรื่องจริง เจตนาที่มิจฉาชีพเปิดเพจออนไลน์ขึ้นมาเพื่อต้องการหลอกให้โอนเงินมัดจำหรือเงินดอกเบี้ยก่อนเท่านั้นเอง โดยพบว่ามีมิจฉาชีพนิยมใช้วิธีการเปิดเพจเหล่านี้ขึ้นมาจำนวนมากในเฟซบุ๊ก ฉะนั้นอย่าหลงกลเด็ดขาด ถ้าเดือดร้อนจริงๆ ขอให้ไปใช้บริการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่มีมาตรฐานจะดีที่สุด และปลอดภัยกว่า แม้ขั้นตอนการกู้ยืมจะต้องมีการตรวจสอบมากหน่อย แต่ก็จะไม่โดนหลอกแบบนี้อย่างแน่นอน


          สถิติการแจ้งความถูกฉ้อโกงทางโลกโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นทุกปี การจับกุมก็มีอย่างต่อเนื่อง ทุกคดีมีร่องรอยให้สืบสวนติดตาม ไม่ว่าจะโอนเงินไปทางไหน แม้จะใช้วิธีการให้เหยื่อโอนผ่าน “กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์” ก็ตาม ซึ่งในเรื่องนี้ พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. กำชับให้ขยายผลจับกุมเพจอื่นๆ เพราะเป็นการหากินบนความเดือดร้อนของผู้อื่น..!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ