คอลัมนิสต์

อำนาจตุลาการหรืออนาคตใหม่มีปัญหา!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กวาดบ้านกวาดเมือง  โดย... ลมใต้ปีก 

 

 

          ระบอบประชาธิปไตยไทยเหมือนกับระบอบประชาธิปไตยในนานาอารยประเทศที่แยกอำนาจออกเป็น 3 อำนาจ คือ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ที่อำนาจนิติบัญญัติ (รัฐสภา) กับอำนาจบริหาร (รัฐบาล) มักแยกกันไม่เด็ดขาด โดยฝ่ายบริหารมักมีอำนาจเหนือนิติบัญญัติเสมอ

 


          แต่ทั่วโลกมักแยกอำนาจตุลาการออกอย่างเด็ดขาดเพื่อเป็นการรับประกันความยุติธรรมที่ “ไม่สามารถแทรกแซงได้” และสังคมไทยให้ความไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะ “ศาล” เสมอมา อาจจะมีเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาที่มักจะ “ฟาดงวง ฟาดงา” ใส่กระบวนการยุติธรรม แต่สังคมยังให้การยอมรับอำนาจนิติบัญญัติว่าเป็นอำนาจที่ชอบธรรมเสมอมา


          แต่พรรคอนาคตใหม่เปิดเกมท้าทายอำนาจนิติบัญญัติในสองเรื่องสำคัญ คือ หนึ่งกรณีการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในการตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ แถลงการณ์ในนามพรรค ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ทั้งที่รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึง 2560 เปลี่ยนมาแล้ว 3 ฉบับ มีระบุเหมือนกันหมดให้ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สุด” ที่ทุกองค์กรต้องยึดปฏิบัติ ถ้าเช่นนั้นพรรคอนาคตใหม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ถึงกล่าวประกาศในท่วงทำนอง “ไม่ยอมรับ”


          ต้องเปรียบเทียบพรรคการเมืองและนักการเมืองเสมือนนักฟุตบอล กกต.และศาลรัฐธรรมนูญเสมือนกรรมการ ที่คอยกำกับให้นักฟุตบอลเล่นตามกติกา หากนักฟุตบอลทำผิดกติกาอย่างร้ายแรงก็สมควรที่กรรมการจะ “ชักใบแดง” ไล่ออก ถ้านักฟุตบอลไม่ยอมรับกติกาหรือกรรมการ การแข่งขันฟุตบอลก็เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นพรรคอนาคตใหม่ที่เข้ามาในการเมืองในกติกา เช่นนั้นก็ต้องยอมรับกติกา หากเห็นว่ากติกาควรเปลี่ยนแปลงก็ว่ากันในอนาคตที่จะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่มิใช่ไม่พอใจกติกาที่เป็นอยู่แล้วจะออกมาให้ “ล้มกติกา” แบบนี้เขาเรียกว่า “เด็กดื้อ”


          อีกเรื่องที่น่าตกใจคือการให้สัมภาษณ์ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผ่านเฟซบุ๊กของ Bangkok post จะเอาทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน มารื้อฟื้นคดีใหม่ เพราะเห็นว่า “ผู้พิพากษา” หรือกระบวนการยุติธรรมในยุครัฐบาลทหารไม่น่าเชื่อถือ นี่เข้าข่าย “ลบหลู่” กระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง และน่าตกใจที่ผู้สนใจการเมืองอย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร หากประชาชนไว้วางใจ มีแนวคิดที่จะไปแทรกแซงอำนาจตุลาการ


          ทุกคนในพรรคอนาคตใหม่มักอ้างเรื่อง “ประชาธิปไตย” ในการดำเนินการทางการเมือง แต่ควรเข้าใจด้วยว่า “มงแต็สกีเยอ” (Montesquieu) นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส ที่ให้หลักการแบ่งแยกอำนาจฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ และตุลาการ ออกจากกันเพื่อถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตย แต่บัดนี้ทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่กำลังมีแนวคิดในการก้าวก่ายข้ามอำนาจ


          จึงน่าวิตกว่าหากอนาคตใหม่เข้าไปมีอำนาจในฝ่ายนิติบัญญัติ และบริหารแล้วจะเข้าไปแทรกแซงอำนาจตุลาการหรือไม่ เพราะเข้าตัวเสียแล้วว่าอำนาจตุลาการในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ไม่น่ายอมรับ


          แต่ก็ดีที่อนาคตใหม่หยิบเรื่องอำนาจตุลาการขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนจะได้เป็นโอกาสของคนในสังคมตรวจสอบและทบทวนว่า

 

          “อำนาจตุลาการ” หรือ “อนาคตใหม่” อะไรเป็นปัญหาของสังคมไทย
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ