คอลัมนิสต์

change สำรวจ "ปัญหาร้อนใจ"..อยากให้พรรคแก้ไขด่วน !

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

          เว็บไซต์รณรงค์ชื่อดัง "Change.org ที่มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่า 267 ล้านคนและในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนจัดทำโพลล์สำรวจความคิดเห็นคนไทยเกี่ยวกับนโยบายเลือกตั้ง 2562 หัวข้อ 'YOUR VOICE :ส่งเสียงเปลี่ยนประเทศ' ระหว่างวันที่ 2-31 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาเป็นคำถามถึงคาดหวังต่อพรรคการเมือง ปัญหาเร่งด่วนที่อยากให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแก้ไข หรือนโยบายหาเสียงที่อยากได้ ผลปรากฏว่ามีผู้มาร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 5,136 คน ผู้ชายร้อยละ 62 และผู้หญิงร้อยละ 37

 

 

          ผู้มาตอบคำถามร้อยละ 90 บอกว่าจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอน แต่ก็รู้สึกกังวลใจเกี่ยวกับความโปร่งใสของการจัดเลือกตั้งทั้งระบบ เช่น การทำงานของกกต. การซื้อเสียง การโกงผลเลือกตั้ง ฯลฯ ประมาณร้อยละ 60 และมีกว่าครึ่งเชื่อหรือร้อยละ 52 ว่า “การเลือกตั้ง” ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองต่างๆ


          ส่วนข้อที่ให้เลือก “จัดลำดับความสำคัญประเด็นปัญหาสังคมที่ต้องการให้แก้ไขเร่งด่วน” หรืออยากให้เป็นนโยบายพรรคมากที่สุด ปรากฏว่าปัญหาที่มีผู้โหวตมากสุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ "ความเป็นธรรมทางกฎหมาย/ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม" จำนวนร้อยละ 63 ส่วนปัญหาลำดับ 2 คือ “ความโปร่งใส การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น” จำนวนร้อยละ 56 ส่วนเรื่อง “ปัญหาเศรษฐกิจ รายได้และปากท้อง” เป็นอันดับ 3 จำนวนร้อยละ 56

 

change สำรวจ \"ปัญหาร้อนใจ\"..อยากให้พรรคแก้ไขด่วน !

 

 


          เมื่อถามถึงเรื่องสิทธิผู้หญิง ระบบบริการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และการศึกษา ผลปรากฏว่าปัญหาเกี่ยวกับ “สิทธิผู้หญิง” ที่อยากให้มีการแก้ไขมากสุด เรียงลำดับได้ตามนี้

 

        ความรุนแรงในครอบครัว ร้อยละ 55 การคุกคามทางเพศในที่สาธารณะและที่ทำงาน ร้อยละ 47 การช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง และการฟื้นฟูให้กลับสู่สังคม ร้อยละ 38


          ปัญหาสาธารณสุข คนโหวตร้อยละ 60 อยากให้คนไทยทั่วประเทศได้รับบริการรักษาอาการเจ็บป่วยดูแลสุขภาพด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีเหลื่อมล้ำของสิทธิทั้ง 3 กลุ่มคือ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการอันดับต่อไปคือ การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล และการแพทย์ฉุกเฉิน ร้อยละ 42 และ เพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์ของประชาชน เช่น โรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 41


 

 

change สำรวจ \"ปัญหาร้อนใจ\"..อยากให้พรรคแก้ไขด่วน !

 


          ส่วน ปัญหาสิ่งแวดล้อม มีการโหวตให้ ปัญหาขยะและมลพิษสิ่งแวดล้อม มากที่สุดถึงร้อยละ 67 ถัดมาคือปัญหามลพิษทางอากาศ พีเอ็ม 2.5 ร้อยละ42 และ ปัญหาการควบคุมการใช้สารพิษทางการเกษตรและการฟื้นฟูดิน ร้อยละ 33 และ "ปัญหาสิทธิมนุษยชน" มีการโหวตเรียกร้อง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จำนวนร้อยละ 36


          ส่วนประเด็นเกี่ยวข้องกับ “สิทธิผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง” มีคำถามว่าคนไทยอยากเห็นสัดส่วนของผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ ปรากฏว่ามีผู้ตอบว่าอยากให้สัดส่วนผู้หญิงเพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ จำนวนร้อยละ 28 เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ จำนวนร้อยละ 22 เพิ่มเพิ่มสัดส่วนผู้หญิงเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ จำนวนร้อยละ 15 ส่วนผู้ตอบว่าจำนวนเท่าเดิมดีอยู่แล้วมีเพียงร้อยละ 8 และมีผู้ตอบว่า “ไม่แน่ใจ” ร้อยละ 17

 

change สำรวจ \"ปัญหาร้อนใจ\"..อยากให้พรรคแก้ไขด่วน !

 


  
          เมื่อ “คม ชัด ลึก” นำโพลล์สำรวจความคิดเห็น ‘YOUR VOICE :ส่งเสียงเปลี่ยนประเทศ’  ไปสอบถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจ โดยเฉพาะปัญหากระบวนการยุติธรรม ที่แทบจะไม่มีพรรคการเมืองใดให้ความสนใจนำมาเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งอย่างจริงจัง ทั้งที่คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนมากที่สุด!


          “อังคณา นีละไพจิตร” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นถึงปัญหา ความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม ได้รับความสนใจสูงสุด เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อตัวเองเป็นผู้เสียหาย สอดคล้องกับข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่มีผู้ร้องเรียนในเรื่องนี้เข้ามาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เช่น การทำงานของตำรวจในการจับกุมผู้กระทำผิด ความล่าช้าในการหาหลักฐาน การส่งคดีไปศาล การประกันตัวผู้ต้องหา ฯลฯ


          “ปัญหาเหล่านี้เหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่โตเหมือนปัญหาเศรษฐกิจหรือระบบการศึกษา แต่กลายเป็นปัญหาที่ทำให้คนเดือดร้อนที่สุด น่าเสียดายตอนนี้ไม่มีพรรคการเมืองไหนนำประเด็นนี้มาทำเป็นนโยบายอย่างหาเสียงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น นโยบายปฏิรูปตำรวจ นโยบายการเยียวยาผู้เสียหาย นโยบายการคุ้มครองพยาน การใช้สิทธิประกันตัว หรือการแก้ไขระบบสืบสวนหาหลักฐานการดำนเนินคดีความต่างๆ ส่วนตัวแล้วอยากให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมใหม่หมด เช่น เปลี่ยนจากระบบกล่าวหา ไปเป็นระบบไต่สวน หมายความว่าถ้าใครถูกแจ้งความว่าทำผิดกฎหมาย ต้องไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์ ไม่ใช่ให้เป็นภาระของผู้แจ้งความที่ต้องไปหาหลักฐานมาบอกว่าคนนั้นทำผิดอย่างไร”

 

 

 

change สำรวจ \"ปัญหาร้อนใจ\"..อยากให้พรรคแก้ไขด่วน !

 


          นอกจากนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนข้างต้นยังเสนอให้พรรคการเมืองมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ เพราะเป็นเรื่องที่มีคนร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งคนที่เป็นผู้เสียหายหรือคนที่เป็นผู้ต้องหา ปัญหาเรื่องการอุ้มหายหรือการทรมานในห้องขัง ก็ยังมีเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสิทธิความเสมอภาคทางเพศที่คนไทยโหวตว่าเป็นปัญหาสำคัญ ก็เพราะว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ ภรรยาถูกสามีทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา หรือแม้กระทั่งเรื่องการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน มีคนร้องเรียนเข้ามาตลอด เรื่องแบบนี้ไม่มีพรรคการเมืองพูดถึงเท่าไรนัก
นอกจากนี้ “อังคณา” ยังกล่าวถึงนโยบายเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีผู้มาโหวตให้ความสำคัญร้อยละ 36 แสดงให้เห็นว่าคนไทยยังไม่คิดว่าตัวเองมีเสรีภาพในเรื่องนี้ รวมถึงเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วย ช่วงหาเสียงเลือกตั้งไม่มีพรรคการเมืองกล่าวถึงนโยบายเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น เรื่องเกี่ยวกับ กฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ หรือพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ที่รัฐบาลคสช.ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ถือเป็นการคุมคามเสรีภาพของประชาชนโดยตรง แต่พรรคการเมืองใหญ่ๆ ก็ยังไม่พูดว่าจะแก้ไขกฎหมายนี้อย่างไร ถ้าได้เป็นรัฐบาล


          ตัวแทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ส่วนตัวแล้วไม่ค่อยมีความหวังกับพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่มากนัก เพราะดูๆ แล้ว ยังมีกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง ต่อให้นักการเมืองที่ได้รับเลือกเป็นส.ส จะอยากแก้ไข แต่ถ้าพวก ส.ว.ไม่เห็นด้วยหรือไม่สนับสนุนก็คงจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก”

 

 

 

change สำรวจ \"ปัญหาร้อนใจ\"..อยากให้พรรคแก้ไขด่วน !

 


          ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมือง “ดร.รัชดา ธนาดิเรก” กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์และผู้สมัครส.ส กทม.กล่าวถึงผลสำรวจของเว็บไซต์ change.org ว่าคนไทยอยากให้มีการแก้ไข “ความไม่ยุติธรรม” มากที่สุด เพราะที่ผ่านมาการใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ เริ่มจากคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง และไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องสิทธิเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะ “ตำรวจ” ผู้เป็นด่านสำคัญในการพิทักษ์สิทธิและผลประโยชน์ของประชาชนยังพึ่งพาไม่ได้เต็มที่


          “เช่น ประเด็นทางสังคมที่คนไทยสนใจอยากให้แก้ไขมากสุดคือปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการคุกคามทางเพศในที่ทำงานหรือที่สาธารณะ ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากคดีความเหล่านี้ไม่ได้รับความยุติธรรม ตำรวจไม่ได้เอาจริงเอาจังในการจับคนทำผิดมาลงโทษ เพราะทุกครั้งที่มีคนไปแจ้งความก็ไม่ได้มีการสืบหาหลักฐานไปดำเนินคดีและต่อให้ใครโชคดีผ่านขั้นตอนตำรวจมาได้ เมื่อส่งคดีไปที่อัยการก็ยังเจอปัญหาอุปสรรคไม่ได้ความยุติธรรมในขั้นตอนสั่งฟ้องอีก หรือแม้จนกระทั่งถึงการฟังคำพิพากษาของศาล หลายครั้งคนไทยรู้สึกว่าแปลกๆ หรือมีคำถามมากมายเกี่ยวกับคำพิพากษาของหลายคดี ก็เพราะว่ากระบวนการยุติธรรมเหล่านี้มีการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีบารมีได้ง่าย คนยิ่งจนก็ยิ่งถูกกีดกันออกไป ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยที่พรรคการเมืองต้องช่วยกันเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งของพรรคประชาธิปัตย์พยายามเสนอให้เพิ่มพนักงานสอบสวนผู้หญิง เพราะรัฐบาล คสช.สั่งไม่ให้เพิ่มโควตาตรงนี้ แต่เราไม่เห็นด้วย เพราะตำรวจหญิงคือด่านแรกที่จะช่วยลดความไม่เท่าเทียมในการสืบสวนคดีต่างๆ และควรมีการกระจายอำนาจการโยกย้ายตำรวจไปยังส่วนภูมิภาค ไม่ให้จำกัดรวมศูนย์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น”


          ส่วนประเด็นที่อยากให้เพิ่มโควตาหรือสัดส่วนของผู้หญิงหรือเพิ่ม “สิทธิผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง” ขึ้นไปเป็น 20–30 เปอร์เซ็นต์ นั้น “ดร.รัชดา” กล่าววิเคราะห์ว่า อาจเป็นไปได้ยากเพราะที่ผ่านมาสมาชิกสภามักมีสัดส่วนผู้หญิงเพียง 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจาก ผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเหมาะสมดีพร้อมทุกอย่าง ไม่ค่อยอยากเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากนัก


          “อยากเล่าให้ฟังว่า แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์เอง พยายามสนับสนุนผู้หญิงมาลงเลือกตั้นหรือเป็นกรรมการบริหารพรรค เช่น บัญชีรายชื่อในทุก 5 คน ให้มีผู้หญิง 1 คน ก็ยังหาคนอยากมาสมัครยาก หรือโควตากรรมการพรรคที่มี 29 คน ให้ผู้หญิง 10 คน ก็ยังหาไม่ครบ การเดินทางมาประชุมที่พรรคบ่อยๆ หรือการเดินหาเสียงเป็นผู้แทนราษฎร ต้องใช้ความทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังเงิน เดินตากแดดหาเสียง ไปงานศพ งานแต่ง งานต่างๆ ควักเงินเองหมด แล้วยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉพาะเงินเดือนส.ส.คงไม่พอ ส่วนมากผู้หญิงที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม ทั้งการศึกษา หน้าที่การงาน ครอบครัว ฯลฯ เวลาที่เราไปชวนก็จะปฏิเสธ เพราะมีทางเลือกที่ดีในอาชีพอื่นๆ กว่ามาก”


          ทั้งนี้ ดร.รัชดา กล่าวทิ้งท้ายว่ารู้สึกดีใจที่ change.org ทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนมาให้พรรคการเมืองรับรู้ เชื่อว่า ส.ส.ทุกคน อยากรู้ว่าประชาชนในเขตเลือกตั้งตัวเองมีความต้องการอยากให้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนอะไรบ้าง หลายครั้งเกิดความขัดแย้งกันเองในชุมชน ส.ส.เองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เช่น ปัญหาที่เรียกร้องให้มอเตอร์ไซค์สามารถขึ้นสะพานข้ามแยก เพราะในต่างจังหวัดทำได้แต่ในกรุงเทพฯ ห้ามทำ เมื่อหลายฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ถ้ามีการทำโหวตลงคะแนนเสียงหรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เป็นปัญหาขัดแย้งแบบนี้จะดีมาก เพราะคนที่เป็นส.ส.เขตนั้น จะได้มีข้อมูลมาช่วยตัดสินใจได้ว่าจะมีนโยบายแก้ไขอย่างไรให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์สูงสุด


           "วริศรา ศรเพชร" ผู้อำนวยการ Change.org ประเทศไทยแสดงความคิดเห็นว่าการส่งเสียงของผู้ใช้ Change.org กว่า 5 พันคนครั้งนี้ เสมือนเป็นการส่งสัญญาณบอกนักการเมืองว่าอย่าลืมประชาชน เพราะพวกเขามีความหวังให้ตัวแทนที่เลือกมาไปแก้ปัญหาต่างๆ เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้คนธรรมดาเกิดพลังในการส่งเสียงเรียกร้องนโยบายที่อยากได้ หรือไปผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปัญหาสังคมได้ ใครบ้างที่ฟังพวกเขาและใครบ้างที่รักษาสัญญา ใครบ้างที่ไม่ลืมประชาชน


          "จากผลสำรวจพบว่าปัญหาใหญ่อยากให้แก้มากที่สุดคือปัญหากระบวนการยุติธรรม สิทธิผู้หญิงคุณภาพการรักษาพยาบาล ปัญหาขยะ มลพิษอากาศ ฯลฯ ผลที่ได้ครั้งนี้ ทางเราจะส่งต่อไปยังสื่อต่างๆ เพื่อช่วยกันสื่อสารให้พรรคการเมืองที่มาลงเลือกตั้งได้รับรู้ หรือรับทราบว่าประเด็นเหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสนใจและอยากให้แก้ไขก่อน จากนั้นจะเชิญชวนให้สมาชิกมาช่วยกันเปิดหัวข้อรณรงค์ประเด็นหรือปัญหาที่ตัวเองสนใจ และชวนผู้ลงสมัครมาตอบประเด็นข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อให้ประชาชนและผู้แทนฯ มีโอกาสสื่อสารและเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น ครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึงร้อยละ 93 อยากให้ภาครัฐรับฟังเรื่องร้องเรียนออนไลน์ด้วย"


          นอกจากผลสำรวจข้างต้นแล้ว change.org ยังมีโครงการสำรวจพื้นที่แต่ละจังหวัดว่ามีปัญหาอะไรที่ประชาชนอยากให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเร่งด่วนมากที่สุด เช่น เชียงใหม่เป็นเรื่องอากาศพิษ จังหวัดกาญจนบุรีเป็นปัญหาการดูแลเกษตรกร หรือจังหวัดชัยภูมิเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ฯลฯ


          นอกจากเว็บไซต์ข้างต้นแล้วยังมีเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์อีกหลายรูปแบบ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ยูทูบ ฯลฯ ที่กำลังช่วยกันทำหน้าที่ "ส่งเสียงเปลี่ยนประเทศไทย' เป็นเสมือน “สื่อกลาง” สะท้อนความต้องการของ “ผู้ลงคะแนนเสียง” ไปยัง “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง” หากพรรคการเมืองไหนมีความชาญฉลาดในการรับฟังและเร่งมือทำนโยบายที่เป็นประโยชน์แท้จริงต่อพื้นที่เลือกตั้งของตนเอง เชื่อว่าต้องได้รับเลือกตั้งอย่างแน่นอน


          ส.ส.สอบตกก็คือคนที่ปล่อยให้ “เสียงของประชาชน” หายไปกับสายลม!
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ