คอลัมนิสต์

4พรรคเห็นร่วม ปรับระบบดูแลสุขภาพ ปชช.ถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น


 


          เมื่อ “การเลือกตั้ง” เข้าสู่การแข่งขัน นอกจากการนำเสนอตัวบุคคล เพื่อเป็นตัวเลือกให้ประชาชน เลือกเข้าสู่เส้นทางการบริหารและนิติบัญญัติแล้ว สิ่งที่ต้องจับตาคือ การผลักดันนโยบายและนำเสนอนโยบายต่อประชาชน เพื่อเป็น “ตัวช่วย ตัดสินใจ”

 

 

          ล่าสุด เมื่อบ่าย วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ และ เวิร์คพอยท์ นิวส์ จัดเวทีเสวนา “ผ่าแนวคิดพรรคการเมือง อนาคตสุขภาพไทย” โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง 4 พรรคการเมืองใหญ่ ร่วมเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น แนวคิดและนโยบายด้าน “สุขภาพ” ที่มีจุดตั้งต้นประเด็นจาก “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”


          ในเวทีแลกเปลี่ยน เริ่มต้นจาก “นักการเมืองหญิง” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลักประกันถ้วนหน้า เมื่อ 17 ปีก่อน และที่มีชื่อเรียกแบบชาวบ้าน คือ “บัตรอนาถา” โดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ แกนนำพรรคเพื่อไทย เริ่มต้นย้อนที่มาของแนวคิด “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คือ การสนับสนุนระบบสุขภาพที่เท่าเทียม​ ทั้งคนจน และคนร่ำรวย ทั้งนี้เป้าหมายหลักคือ สร้างประชาชนให้มีสุขภาพดี ไม่ใช่ การเน้นรักษาคนป่วย


          “เมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา ที่ดิฉันทำ ไม่ใช่ใช้ประเด็นนี้เพื่อแข่งขันทางการเมือง คือ การรักษาฟรี โดยเป้าหมายหลักของการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ มีเป้าหมายเพื่อลด 3 โรค คือ ความดัน ไขมัน และเบาหวาน เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี คุมงบประมาณได้ แต่เมื่อการแข่งขันทางการเมือง เน้นรักษาฟรี ที่ทำผิดวัตถุประสงค์ คือ เน้นการดูแลคนป่วย แทนการส่งเสริมสุขภาพ จึงทำให้ทำผิดทาง ดังนั้นสิ่งที่จะตอบโจทย์คือ ให้สถานพยาบาลเน้นการเพิ่มความแข็งแรง และดูแลสุขภาพของประชาชน”

 



          ขณะที่ประเด็นคำถาม การรวม 3 กองทุน กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม และส่วนที่เกี่ยวกับสวัสดิการข้าราชการนั้น “คุณหญิงสุดารัตน์” ให้มุมมองต่อการยกระดับสิทธิและการดูแลผู้ใช้สิทธิ์ 3 กองทุน แทนการยุบรวม เพื่อให้สิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานตามหลักวิชาการของแพทย์,​ บัญชียา ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะที่สิทธิการรักษาและคุณภาพต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันด้วยเช่นกัน ส่วนประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ นั้นเป็นสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมขึ้นได้


          ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะพรรคการเมืองที่เริ่มต้นแนวคิด พลิก “สถานีอนามัย”​ เป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพ.สต.)” ย้ำถึงการต่อยอด และเพิ่มประสิทธิภาพบริการของสถานพยาบาลในพื้นที่ ที่ให้โอกาสเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ต้องสร้างเครือข่ายและเพิ่มอำนาจด้านการบริการสาธารณสุข นอกจากนั้นต้องต่อยอด “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เพื่อลดภาระด้านงบประมาณ, เพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ, ประชาชนจ่ายเงิน ต้องพิจารณาว่า สิ่งที่เป็นต้นเหตุของการสร้างภาระสุขภาพ เช่น สินค้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีบาป ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทนประชาชน

 

          ปัญหาที่เป็นข้อถกเถียงต่อประเด็นการนำเงินภาษี เพื่อใช้กับหลักประกันสุขภาพ “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” ชี้ว่า ต้องปฏิรูประบบภาษี เพื่อให้คนมีฐานะร่ำรวย จ่ายภาษีมากขึ้น จ่ายเพื่ออุดหนุนการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้มีรายได้น้อย


          ทางด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่า หลักประกันสุขภาพ คือ ประชาธิปไตย เพราะทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณสุขอย่างเสมอภาค แม้ที่ผ่านมามีคนวิจารณ์ถึงการใช้ระบบประกันสุขภาพ เรื่องมาตรฐาน ตนมองว่าสิ่งที่ไม่ถูกคือ การจัดสรรงบประมาณ ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อดูแลเด็ก, คนป่วย, คนชรา เพราะประเทศไทย มีความเหลื่อมล้ำ สิ่งที่นายทุนนิยมคือ ทำได้ ไม่มีข้อถกเถียง แต่หากเป็นประชาชนนิยม ทำไม่ได้ และถูกโต้แย้ง รวมถึงถูกจับมาใช้เป็นประเด็นโจมตีทางการเมือง และถูกใช้เป็น ประชานิยมมากเกินไป ทั้งที่ระบบดังกล่าวควรผลักดันให้ดียิ่งขึ้น 


          “ปัญหาเรื่องงบประมาณที่ไม่นำมาใช้ดูแลคนป่วย แต่การบริหารระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีช่องว่างที่ต้องปรับปรุง รวมถึงใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแก้ปัญหา ใช้เทคโนโลยีเสริมการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. เพื่อให้ดูแลและรักษาคนป่วยเฉพาะหน้าได้ เพื่อลดความแออัดที่สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาล ซึ่งความรับผิดชอบของ อสม.ดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น ควรได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนั้นต้องให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาบริหารจัดการในสถานพยาบาลในพื้นที่ที่รับผิดชอบด้วย”


          ขณะที่ประเด็นของการยุบรวม 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพ, ประกันสังคม และสวัสดิการของข้าราชการ “หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่” เห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าว แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี โดยเป้าหมายของการรวมกองทุน คือ ให้คนทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า ภายใต้ระบบเดียวกัน ประกันสังคมคือ เก็บออม เกษียณอายุ หรือตกงาน ดึงระบบสาธารณสุขออก ระยะยาวต้องจำกัดค่าใช้จ่ายเงินต่อหัวของข้าราชการต่อปี และให้บัตรทองเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น เพื่อให้อัตราความต่างมีความเท่าเทียมและรวมทั้ง 3 กองทุน ทั้งนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา, คุณภาพยา, และการบริการ


          ส่วน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่าหลักการได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเพื่อให้ทุกคนได้สิทธิเท่าเทียม เป็นสิ่งต้องต่อยอด แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อต่อยอด และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น คือ การจัดเก็บภาษีเพื่ออุดหนุนในระบบประกันสุขภาพ เป็นลักษณะค่าเฉลี่ย เพื่อให้คนรวยช่วยคนจน


          “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง พัฒนาจากการรักษาทุกโรค ด้วยราคา 30 บาท ​ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญ​ต้องทบทวนให้ดีขึ้น คือพิจารณาจากปัญหาที่ผ่านมา คือความครอบคลุมประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงหรือไม่, การเข้าถึงสิทธิ์ โดยไม่ถูกจำกัดเรื่องชนิดของโรค และความพอเพียงของสถานพยาบาล และคุณภาพของการให้บริการ”


          ขณะที่ประเด็นระบบสาธารณสุขในประเทศ ที่ยังแบ่งแยก เป็น 3 ประเภท คือ บัตรทอง, บัตรสวัสดิการข้าราชการ และ บัตรประกันสังคม “ดร.สุวิทย์” บอกว่า ต้องปรับและจัดระเบียบ 3 กองทุนนั้นใหม่ เพื่อให้สิทธิประโยชน์ด้านพยาบาลพื้นฐานเป็นมาตรฐานเท่าเทียมกัน ขณะที่สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ตามที่ประชาชนต้องการ เป็นออปชั่นเสริมที่ประชาชนต้องยอมจ่ายเงินเอง​ ทั้งนี้ประเด็นเรื่องสุขภาพและความเหลื่อมล้ำไม่มีวันหมด แต่จะทุเลาได้ ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลนำเงินภาษีเพื่อบริหารจัดการให้เรื่องสุขภาพ แต่ส่วนนี้ พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายที่อยู่ระหว่างพิจารณา คือ ลดข้อจำกัด เช่น บัตรทอง เพื่อใช้ได้กับทุกโรงพยาบาลที่ต้องพิจารณาขั้นตอนและรายละเอียดอีกครั้ง สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว คือ เน้นการออมเพื่อดูแลสุขภาพ และปรับจากการรักษาโรค เป็นการป้องกัน


          “สิทธิประโยชน์ หลักประกันสุขภาพ การศึกษา และรายได้ถ้วนหน้า ต้องมองเป็นการลงทุน ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ต้องปรับหลายเรื่อง เพื่อให้เกิดครอบคลุม และเข้าถึงสิทธิ รวมถึงได้รับบริการที่ดี คือ ลดความแออัดของโรงพยาบาล, เพิ่มหมอครอบครัว ในพื้นที่ชุมชน, ประชาชนดูแลสุขภาพตนเองได้ ผ่านระบบจูงใจ คือ ผลสุขภาพดี สามารถลดหย่อนภาษีได้”


          ทั้งนี้ในเวที ผ่าแนวคิดพรรคการเมือง อนาคตสุขภาพไทย 4 ตัวแทนพรรคการเมือง เห็นตรงกัน ต่อการต่อยอดสิทธิด้านสาธารณสุขให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม แต่ต้องปรับมาตรฐานการรักษา, การบริการให้เท่าเทียมกับประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นเครื่องมือช่วยการทำงานของแพทย์ รวมถึง กลุ่ม อสม. ที่เป็นฝ่ายปฐมภูมิของการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ