คอลัมนิสต์

เปิดเส้นทาง "ไทยรักษาชาติ"หลังเผชิญวิกฤติ "บิ๊กเซอร์ไพรส์"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คมชัดลึก.. ลุยเลือกตั้ง

 

 

          ตั้งแต่เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา มีกระแสจากในโซเชียลมีเดีย และคนมีชื่อเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ คาดการณ์ตรงกันว่า การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติสุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมาย และอาจนำไปสู่การยุบพรรคได้อีกด้วย เพราะในคำแถลงของ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ขณะอยู่ที่สำนักงาน กกต. ก่อนเสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พูดชัดเจนว่าเรื่่องนี้เป็นมติของกรรมการบริหารพรรค และพรรคเห็นชอบร่วมกัน ทำให้พรรคไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

 

 

          สำหรับความผิดที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเข้าข่ายแน่นอน คือ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร พ.ศ.2561 หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 17 ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนคือ ความผิดในเรื่องนี้ ต้องรับโทษถึงขั้นไหน


          หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นผู้ที่ยื่นหนังสือถึงประธาน กกต. ให้วินิจฉัยการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ว่าเข้าข่ายขัดต่อระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หรือไม่ เนื่องจากมีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งล่าสุด นายไพบูลย์คาดว่าภายในวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ จะมีความชัดแจนจาก กกต. และขอเรียกร้องให้พรรคไทยรักษาชาติแสดงความรับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง


          มีรายงานว่าวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น. คณะกรรมการ กกต.ชุดใหญ่จะมีการประชุม และคาดว่าจะมีวาระพิจารณาคำร้องของนายไพบูลย์ที่ให้ กกต.ตรวจสอบการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ ว่าเข้าข่ายผิดระเบียบว่าด้วยการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 หมวด 4 ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ข้อ 17 “ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง” หรือไม่





          นายไพบูลย์มองว่า ระเบียบ กกต.ข้อ 17 นี้ เชื่อมโยงกับบทบัญญัติของกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 เรื่อง “การสิ้นสุดของพรรคการเมือง” (ซึ่งก็หมายถึงการยุบพรรคการเมืองนั่นเอง) โดยมีอยู่ 2 ข้อที่เกี่ยวกับเรื่องสถาบันเบื้องสูง คือ กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ / และกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 


          เรื่องนี้ต้องรอดูว่า กกต.จะวินิจฉัยออกมาอย่างไร
          สำหรับพรรคไทยรักษาชาติ ไม่ใช่พรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน แต่เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 เดิมชื่อ “พรรครัฐไทย” มีหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคเป็นบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับชุดปัจจุบัน


          ต่อมาปี 2553 พรรครัฐไทย เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคไทยรวมพลัง และเคยส่งผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2554 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว


          ปี 2557 หัวหน้าพรรคตัดสินใจลาออก ทำให้กรรมการบริหารพรรคหมดสภาพ กระทั่ง 7 ตุลาคม 2561 มีการประชุมพรรคอีกรอบ และเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคไทยรักษาชาติ” ถูกมองว่าเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะชื่อย่อของพรรค ทษช. ถูกมองว่าสื่อถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร


          ปัจจุบัน พรรคไทยรักษาชาติมี ร.ท.ปรีชาพล เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายมิตติ ติยะไพรัช ลูกชายของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.เชียงราย อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นเลขาธิการพรรค


          สำหรับแกนนำพรรคคนอื่นๆ นอกจาก 2 คนนี้แล้ว ยังมี นายฤภพ ชินวัตร ลูกชายของนายพายัพ ชินวัตร น้องชายของอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 2 นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 3 นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 4


          นอกจากนั้นยังมี นายต้น ณ ระนอง บุตรชายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรองเลขาธิการพรรค คนที่ 1 นายวิม รุ่งวัฒนจินดา อดีตสื่อมวลชน เป็นรองเลขาธิการพรรคคนที่ 2 นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ เพื่อนสนิทของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นรองเลขาธิการพรรคคนที่ 3 มีนายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ เป็นโฆษกพรรค น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ลูกสาวเสธ.แดง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เป็นรองโฆษกพรรค และ น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวของอดีตนายกฯทักษิณ เป็นนายทะเบียนพรรค


          พรรคไทยรักษาชาติ เพิ่งมีข่าวความขัดแย้งภายในพรรค เนื่องจากบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงคนสำคัญ ถูกเบียดหลุด 20 อันดับแรกในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของ พรรค ทำให้โอกาสที่จะได้เป็น ส.ส.น้อยลงอย่างมาก โดยในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ มีเพียง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ นปช.เท่านั้น ส่วนนายก่อแก้ว พิกุลทอง อยู่ลำดับที่ 29 ขณะที่แกนนำ นปช.อีกหลายคนหลุดไปลำดับที่ 40-50 นอกจากนั้นยังมี นายพิชิต ชื่นบาน อดีตหัวหน้าทีมกฎหมายของอดีตนายกฯ ทักษิณ อยู่ในลำดับ 21 โดยนายพิชิตเคยโดนดำเนินคดี “ถุงขนม 2 ล้าน” ด้วย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ