คอลัมนิสต์

"นักการเมืองควรย้อนอ่านพระบรมราชาธิบาย ร.5 นำมาปรับใช้"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ม.ร.ว.ดำรงดิศ ดิศกุล หัวหน้าพรรคภราดรภาพ" ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมของพรรคในการลงสมัคร ส.ส.ครั้งนี้ และทางออกของบ้านเมืองหลังขัดแย้งมาหลายปี

 

 

          “วันนี้พรรคใหม่บางพรรคที่เกิดขึ้นสนับสนุนนโยบายแจกเงินอย่างเดียว แบบนี้จะพาบ้านเมืองเหมือนบางชาติไหม เช่น อาร์เจนตินา หรือเวเนซุเอลา สองประเทศนี้เคยติดอันดับประเทศมั่งคั่งของโลก วันนี้เป็นอย่างไร และบางพรรคยังทำแบบเดิมๆ"

 

 

          "มองว่าหากทำแบบนี้ไม่ดีกับประเทศ พรรคใหญ่ควรถอยและมาคุยรวมทั้งจับมือแบ่งงานกันทำในช่วงสี่ปีข้างหน้า เพื่อให้บ้านเมืองรอดความช้ำ หากพรรคใหญ่สองถึงสามพรรคที่หวังจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง มาคุยกันและจับมือกัน โดยแบ่งงานกัน เช่น พรรคเอเก่งเศรษฐกิจก็รับงานนี้ไป พรรคบีดูแลความมั่นคงได้ดีก็รับหน้าที่นี้ไป แล้วให้พรรคขนาดกลางหรือพรรคใหม่ที่มี ส.ส. เป็นแกนกลางในการคุยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นผมหรือพรรคของผม หากปล่อยไว้แบบเดิม พรรคที่ชนะแต่พรรคที่สองไม่ยอมรับ สักพักก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้น เริ่มในรัฐสภา และต่อมาที่รัฐบาล จากนั้นจะมีประท้วงบนถนน แล้วสู่วงจรเดิม แบบนี้คนไทยไม่เบื่อหรือ”


          "การเมืองนั้น ไม่มีใครได้ดั่งหวังหมดหรอก หากทำแบบที่พรรคเสนอไอเดียนี้ แม้ไม่ง่ายดั่งพลิกฝ่ามือ แต่มันก็ค่อยๆ เปลี่ยน ให้เวลาสี่ปี ให้พวกเขาทำงานเพื่อเปลี่ยนบ้านเมือง แล้วให้สังคมเลือกใหม่ หากพรรคใดทำงานดี หลายประเทศในโลกก็เคยเจอปัญหาแบบบ้านเราในวันนี้ พวกเขาเข้ามาเจอแต่ก็ผ่านไปได้ แต่ของพวกเราเจอกันบ่อยๆ และยังไม่ข้ามไปไหนเลย”

 

          ม.ร.ว.ดำรงดิศ กล่าวถึงการใช้คนของในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว และยังทันสมัยนำมาใช้ในวันนี้ได้ว่า “เสด็จพ่อ(พลเรือเอก หม่อมเจ้า กาฬวรรณดิศ ดิศกุล) เคยเล่าให้ผมฟังว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งกับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (เสด็จปู่ของ ม.ร.ว.ดำรงดิศ) ในช่วงที่เสด็จปู่อยากรับราชการในกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) โดยรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชาธิบายว่า “แต่การบ้านเมืองซึ่งสำคัญกว่านั้น ยังมีอยู่ด้วยต่างประเทศกำลังตั้งท่าจะรุกเมืองไทยอยู่แล้ว ถ้าเราประมาทไม่จัดการปกครองบ้านเมืองเสียให้เรียบร้อย ปล่อยให้หละหลวมอย่างเช่นเป็นอยู่ ช้าไปเห็นจะมีภัยแก่บ้านเมือง บางทีอาจจะถึงเสียอิสรภาพของเมืองไทยก็อาจเป็นได้ ถ้าบ้านเมืองเสียอิสรภาพแล้ว กระทรวงธรรมการจะดีอยู่ได้หรือ การรักษาพระราชอาณาเขตด้วยจัดการปกครองหัวเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยจึงเป็นการสำคัญกว่ามาก” ทำให้เสด็จปู่ในตอนนั้นไปรับราชการที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อทำหน้าที่ให้บ้านเมือง ทั้งๆ ที่เสด็จปู่ในตอนนั้นอยากรับราชการด้านกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า"

 

 




          “พระบรมราชาธิบายที่เกิดขึ้นหนึ่งร้อยกว่าปีที่แล้วนับว่าทันสมัย เพราะวันนี้คนไทยก็ปรับใช้ได้ โดยต้องถามตัวเองว่าอยากทำงานตรงนี้เพราะอยากทำ หรือจะทำเพื่อประโยชน์ของสังคมมากกว่ากัน เมื่อการเมืองเป็นแบบนี้ แต่ละพรรคควรจะถอยกันบ้างได้ไหม ร่วมมือให้บ้านเมืองดีขึ้น หลังสี่ปีแล้วก็มาแสดงวิสัยทัศน์เพื่อให้ชาวบ้านเลือก ใครทำดีชาวบ้านก็เลือกต่อ ใครทำไม่ดีก็ไม่ควรตำหนิ เพราะพวกเราเลือกพวกเขามาทำงานแทนพวกเราแล้ว แต่โอกาสหน้าก็ไม่ควรให้พื้นที่กับคนเหล่านี้” 


          “เราทำงานให้บ้านเมืองเหมือนรูปแบบบริษัท มีคนรับผิดชอบ กรรมการผู้จัดการของบริษัทก็เหมือนนายกฯ หากทำไม่ดีก็ไม่มีการต่อสัญญาให้ และนายกฯ ไม่ควรทำงานและพูดทุกเรื่อง นายกฯ ควรมอบนโยบายและกำกับดูแลงานที่มอบหมายให้รัฐมนตรีนำไปปฏิบัติ นายกฯ คอยมาตรวจการบ้านก็พอ และเราควรใช้เหตุผลและลงไปสัมผัสความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้าน ผมอยากให้คนการเมืองทั้งใหม่และเก่ามองแนวคิดนี้และปรับใช้”


          ส่วนความพร้อมในฐานะนักการเมืองและหัวหน้าพรรคนั้น ม.ร.ว.ดำรงดิศ กล่าวว่า “วันนี้พรรคภราดรภาพพร้อมที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ทั้งสองระบบ พรรคหวังว่าหากได้มี ส.ส.และมีส่วนร่วมตั้งรัฐบาล พรรคอาสาดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ, กระทรวงศึกษาธิการ เพราะพรรคอยากสร้างสามสิ่งในกระทรวงดังกล่าวที่รับผิดชอบให้เป็นรูปธรรมเพราะโดนละเลยมานาน”


          “สังคมของเราหลายเรื่องไม่มีการสร้างคนให้มีคุณภาพ ฉะนั้นต้องดูแลด้านการศึกษา คนหนึ่งคนจะอยู่ในระบบการศึกษาเกือบยี่สิบปี หากเราสร้างคนตั้งแต่เริ่มต้นการเรียน คนคนนั้นจะมีคุณภาพต่อสังคมในหลายสิบปีข้างหน้า คนคนนั้นจะมีความรับผิดชอบ ดูแลสังคม ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม เพราะพวกเขามีความรู้และความรับผิดชอบกับสังคมแล้ว สามกระทรวงนี้ในมุมของพรรคต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เมื่อคนในสังคมมีคุณภาพความเอาเปรียบกันจะลดลง ความเหลื่อมล้ำจะลดลง”


          ส่วนเรื่องป่ากับคนอยู่ด้วยกันได้ คนอาศัยบ้านในการดำรงชีพและต้องดูแลป่า โดยใช้กฎหมายให้สิทธิพวกเขาเท่าที่ควร ลองดูสิ ต้นไม้ต้นหนึ่งกลางนา หากมีผ้าสีไปพันไว้ ต้นไม้ต้นนั้นไม่โดนตัด หากไม่มีผ้าสี รับรองอยู่ไม่นาน สิทธิของคนที่อยู่กับป่าก็เช่นกัน หากให้สิทธิพวกเขาในการดำรงชีวิตกับป่า พวกเขาไม่รุกป่าหรอก พวกเขาต้องเก็บสิทธินั้นไว้ให้ลูกหลาน หรือพื้นที่บางส่วนของชาวบ้านที่ติดกับป่าควรให้สิทธิพวกเขาสร้างโฮมสเตย์เล็กๆ สร้างรายได้ และนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสธรรมชาติ ตรงนี้ก็อยู่ร่วมกันได้ ชาวบ้านจะรักป่า นักท่องเที่ยวจะรักธรรมขาติ มันไปด้วยกันได้ โดยใช้กติกาที่ทุกคนรับรู้และยอมรับ หากชาวบ้านต้องการนำที่ดินที่รัฐมอบให้ไปต่อยอดชีวิตก็ให้นำไปจดจำนองกับธนาคารที่ดินของรัฐ มันป้องกันมิให้ที่ดินไปอยู่ในมือนายทุนได้


          สำหรับการแก้ความเหลื่อมล้ำเสนอว่า ชนชั้นนายทุนที่มีอยู่ หากมีกฎหมายว่าต้องเสียภาษีร้อยละหนึ่งต่อปีกับสินทรัพย์ที่มี หรือหากไม่อยากจ่ายก็ให้ใช้ทรัพยากรและองค์ความรู้ที่มีในองค์กรของตัวเองมาถ่ายทอดให้คนด้อยโอกาสมีความรู้เพื่อต่อยอดการทำมาหากิน หากองค์กรใดสนใจแสดงเจตจำนง และกระทำโครงการนี้ ปีต่อไปก็ไม่จ่ายภาษีได้เพราะองค์กรนั้นๆ ตอบแทนสังคมด้วยความรู้ในองค์กรที่สร้างขึ้นมาและก้าวหน้าไปแล้ว เอาตรงนี้มาถ่ายทอดให้คนที่ด้อยโอกาสกว่าขยับตัว บ้านเมืองก็จะเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ