คอลัมนิสต์

การเมือง-ไฟใต้-ก่อการร้าย ตัวแปรเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมือง-ไฟใต้-ก่อการร้าย ตัวแปรเลือกตั้ง : คอลัมน์... ขันเชือกท็อปบู๊ต  โดย... สไนเปอร์ 




          เงื่อนไข 24 กุมภาพันธ์ 2562 ต้องมีเลือกตั้ง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของหน่วยงานความมั่นคงที่ต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวย เนื่องจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ไม่ได้มีสาเหตุเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว การก่อการร้าย และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นปัจจัยที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเฝ้าระวัง

 

 

          การเมืองไทยเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งปลดล็อกทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อให้สอดรับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 12 กันยายน 2561 และมีผลบังคับใช้แล้ว 11 ธันวาคม 2561

 

 

การเมือง-ไฟใต้-ก่อการร้าย ตัวแปรเลือกตั้ง

 


          โดยสาระสำคัญของการยกเลิกคำสั่งทั้ง 9 ฉบับ ทั้งกรณีการทำธุรกรรมทางการเงิน การเรียกบุคคลมารายงานตัว การห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป และการห้ามจัดกิจกรรมทางการเมืองนั้น หมายความว่านับต่อจากนี้ พรรคการเมืองสามารถเปิดเวทีปราศรัย เรียกประชุม ส.ส. หรือขึ้นป้ายคัดเอาท์ โดยไม่ต้องทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช.


          แม้เนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงเรียบร้อยและความสงบของชาติ ในคำสั่งคสช. ที่ 3/2558 ไม่ได้ถูกยกเลิก และยังเป็นเครื่องมือสำคัญให้ทหารเข้าดำเนินการกับผู้กระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การใช้กำลังล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธสงครามและห้ามการเสนอข่าว

 

 

การเมือง-ไฟใต้-ก่อการร้าย ตัวแปรเลือกตั้ง

 

 

          “การปลดล็อกต้องค่อยๆ ผ่อน เหมือนการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ ปล่อยหมดทีเดียวไม่ได้ ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการปกติแล้ว ฝ่ายการเมืองสามารถทำกิจกรรมอย่างอิสระ แม้แต่วิจารณ์รัฐบาล คสช.ก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง หากบิดเบือนให้ข้อมูลเท็จ ก็ถูกฟ้องร้องเชื่อว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.ฎ.ให้เลือกตั้งส.ส. การกระทำของพรรคการเมืองจะถูกควบคุมโดยกฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมาย กกต.” แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุ

 


          เสียง ‘ลั่นกลองรบ’ ถูกส่งมาจากทักษิณ ชินวัตร โพสต์ภาพชู 3 นิ้ว พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เปิดฉากโจมตี คสช. ที่คืนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนมาไม่ครบ หลังช่วงชิงไปเกือบ 5 ปี พร้อมปลุกกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ถ่วงความเจริญของประเทศและจำกัดสิทธิของประชาชนตามมาตรฐานสากล


          นั่นคือจุดเริ่มต้นการ ‘ก่อหวอด’ ที่ คสช.ได้ประเมินไว้ว่ารัฐธรรมนูญ จะเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไข ใช้ปลุกระดมทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย รวมถึงการจุดประเด็นความไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และการสืบทอดอำนาจของคสช.ที่จะส่งผลให้การเลือกตั้งในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลง


          “เป็นการส่งสัญญาณของนายทักษิณ เพราะก่อนหน้านี้เขามองว่าพรรคพลังประชารัฐไม่มีอะไร แต่ทุกวันนี้พรรคพลังประชารัฐเริ่มมาแรงและประชาชนให้การสนับสนุน โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยเป็นฐานเสียงของเขา การออกมาแสดงบทบาทของนายทักษิณ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เขาต้องการกระตุ้นลูกทีมและมวลชนที่เคยสนับสนุน หากสู้กันในระบบก็ไม่มีอะไรน่าห่วง” แหล่งข่าวความมั่นคง ระบุ


          ทั้งนี้ คสช.ไม่รับประกันว่าการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะราบรื่นหรือไม่ เพราะภาพการแบ่งแยกสีเสื้อยังปรากฏให้เห็นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคอีสานมีความพยายามขึงป้ายหมู่บ้านประชาธิปไตย จ.อุดรธานี และการประกาศให้คนเสื้อแดงเตรียมพร้อมที่ จ.ขอนแก่น รวมถึงความเคลื่อนไหว ‘กลุ่มสหพันธ์รัฐไท’ ทั้งฝั่งเพื่อนบ้านและฝั่งไทยใช้การโฆษณาชวนเชื่อทางยูทูบ ปลุกระดมให้ล้มระบอบการปกครอง


          คสช.ได้วางบทบาทของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ทั้ง 4 กองทัพภาค โดยให้ความสำคัญดูแลพื้นที่ให้เรียบร้อย ทั้งการจัดชุดทหารลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่มีการปลุกระดม พร้อมติดตามประกบแกนนำ หรือบุคคลที่มีชื่ออยู่ในบัญชี คสช.ทั้งหมด รวมถึงมาตรการกวาดล้างอาวุธสงครามที่หลงเหลืออยู่ภายในประเทศ และการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน


          ส่วน ‘การก่อการร้าย’ แม้หน่วยข่าวยังไม่พบมูลเหตุ แต่คสช.ก็ไม่มองข้าม ได้แจ้งเตือนหน่วยงานเกี่ยวข้องให้เพิ่มความระมัดระวังตั้งจุดตรวจ จุดสกัดพื้นที่สำคัญ หรือพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ โดยให้ความสำคัญงานด้านการข่าวและเครือข่ายภาคประชาชน รวมทั้งการบูรณาการและเช็กความพร้อมกล้อง ซีซีทีวี ทั้งระบบ


          นอกจากนี้ปัจจัยการพูดคุยสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังต่อไม่ติด หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งตัวผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย หัวหน้าคณะพูดคุยฝั่งไทย และผู้เห็นต่าง โดยลดบทบาทกลุ่มมาราปาตานี มาให้ความสำคัญกับบีอาร์เอ็น แต่ประสบปัญหา บีอาร์เอ็นฝ่ายกองกำลังไม่เข้าร่วมและกำลังแสดงศักยภาพก่อเหตุในพื้นที่หวังกดดันทางการไทยรับเงื่อนไขบางอย่าง


          พล.อ.อภิรัตน์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขา คสช.ได้สั่งการให้ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กำกับดูแลการก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งบูรณาการงานด้านการข่าวทุกภาคส่วนให้ถูกต้องแม่นยำ และใช้มาตรการเชิงรุก ทั้งการสกัดกั้น ปิดล้อม ตรวจค้นบุคคลและพื้นที่เป้าหมาย ไม่ให้ลุกลามนอกพื้นที่


          หลังเคยเกิดเหตุการณ์ลอบเผา วางระเบิดพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง พังงา ภูเก็ต กระบี่ เมื่อปี 2559 แม้ผลการสอบสวนมีหลักฐานชี้ชัด “ผู้ก่อเหตุ” มาจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเพียง 5 วัน โดยผลออกมามีคนเห็นชอบมากกว่าไม่ชอบ


          เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในห้วง 4 ปี การบริหารประเทศ รัฐบาลคสช. จึงมีความก้ำกึ่งระหว่างการเมือง ก่อการร้าย และความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่อาจจะเกิดซ้ำรอยในห้วงเวลาก่อนและหลังเลือกตั้งครั้งนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ