คอลัมนิสต์

ข้าราชการ"คืนเงิน"ที่"เรียกรับ"ไปแล้วความผิดสำเร็จ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข้าราชการ "คืนเงิน" ที่ "เรียกรับ" ไปแล้ว ...ความผิดสำเร็จไม่ใช่เหตุลดหย่อนโทษ ! : บทความ  โดย...  นายปกครอง

 

 

          ข้าราชการที่มีพฤติกรรมการ “เรียกรับเงิน” โดยอาศัยอำนาจหรือหน้าที่ในตำแหน่งราชการ ถ้าต่อมาได้คืนเงินให้แก่ผู้ถูกเรียกไปแล้ว... จะถือเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ?

 


          คดีปกครองที่นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ มีคำตอบ ... ครับ !!


          ข้อพิพาทในคดีนี้ เป็นเรื่องของข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุเป็นลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ ถูกร้องเรียน (โดยผู้ถูกเรียกรับเงิน) ว่าก่อนและหลังการสอบได้เรียกรับเงินจากผู้เข้าสอบ(รวมทั้งผู้ร้องเรียน) และได้ให้ข้อสอบและบอกคำเฉลยข้อสอบให้แก่ผู้สมัครสอบคัดเลือกหลายราย


          พยานหลักฐานจากการสอบสวนข้อเท็จจริงและการสอบสวนทางวินัย ฟังได้ว่าข้าราชการผู้นี้มีพฤติการณ์ตามที่ถูกร้องเรียน... ผู้มีอำนาจจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ... ครับ


          ข้าราชการดังกล่าว (ผู้ฟ้องคดี) เห็นว่า คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ โดยกล่าวอ้างว่า ไม่ได้มีเจตนาในการเรียกรับเงิน เพียงแต่เป็นการพูดล้อเล่น ทั้งเป็นเงินจำนวนเล็กน้อยเพียง 5,000 บาท และในห้องสอบมีกรรมการหลายคนจึงไม่สามารถบอกคำเฉลยข้อสอบได้ นอกจากนี้ได้โอนเงินคืนแล้วแต่เพื่อชำระหนี้...


          ข้อกล่าวอ้างฟังได้หรือไม่ ?


          คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญและได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสอบคัดเลือกฯ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ดำเนินการสอบคัดเลือก โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถและความเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ และเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำพยานจากการสอบสวนทางวินัย พยานทุกคนล้วนเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองและให้การสอดคล้องต้องกันว่า ผู้ฟ้องคดีเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบและนำแบบคำถามไปให้ผู้เข้าสอบและบอกคำเฉลยข้อสอบ ก่อนเข้าห้องสอบและในขณะสอบ 


          เมื่อพยานไม่มีเหตุโกรธแค้นหรือโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่ปรากฏว่า ถูกบังคับขู่เข็ญเพื่อให้ถ้อยคำปรักปรำผู้ฟ้องคดี อีกทั้ง ผู้ฟ้องคดีให้การขัดแย้งกันเกี่ยวกับเหตุผลของการโอนเงินคืนว่าเป็นการจ่ายเพื่อเป็นค่าน้ำมันจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ พฤติการณ์จึงเป็นการกระทำการอื่นใดอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย


          นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุดยังได้วางหลักการสำคัญเพื่อเป็นแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจไว้ว่า (1) แม้ข้าราชการที่เรียกรับเงินจะคืนเงินให้แก่ผู้ถูกเรียกรับเงินแล้วก็ไม่มีเหตุอันควรลดหย่อนโทษเพราะการกระทำได้เสร็จสิ้นเป็นความผิดแล้ว (2) การเรียกรับเงินไม่จำเป็นว่าจะเกิดขึ้นก่อนสอบ แต่อาจเกิดขึ้นหลังการสอบแต่ก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อผู้สอบคัดเลือกได้ (3) จำนวนเงินจะมากหรือน้อย ก็ถือเป็นการกระทำโดยทุจริต (4) ตำแหน่งหน้าที่ของข้าราชการผู้เรียกรับเงินมิใช่ข้อสาระสำคัญ


          คดีนี้จึงถือเป็นบรรทัดฐานให้ข้าราชการทุกคนจะต้องรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งประชาชนผู้ที่ติดต่อราชการไม่ว่าด้วยเรื่องใด จะต้องไม่สนับสนุนให้ข้าราชการกระทำผิดวินัยด้วยการให้ผลประโยชน์ใดๆ โดยมิชอบด้วยเช่นกัน 


          (ผู้สนใจสามารถอ่านได้จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 373/2561 และปรึกษาคดีปกครอง ได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสืบค้นเรื่องอื่นๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ