คอลัมนิสต์

เกมหลายหน้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกมหลายหน้า : คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนาห้าสิบหก 

 

 

          ทันทีที่หัวหน้าคสช.ออกคำสั่งปลดล็อกทางการเมือง ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นเทศกาลปล่อยผี ก็มีกิจกรรมหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ แบบที่เรียกกันว่า เทศกาลปล่อยผี แต่ที่กำลังถูกโฟกัสมากที่สุดก็คือ จุดยืนและนโยบายของพรรคการเมือง

 

 

          มีคนถามประชาธิปัตย์ว่าจะร่วมมือแก้รัฐธรรมนูญกับพรรคของคนแดนไกลหรือไม่ คำตอบคือ ไม่


          มีคนถามพรรคเพื่อไทยว่า จะร่วมมือกับประชาธิปัตย์แก้รัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า คำตอบคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องร่วมมือกัน


          ฝ่ายประชาธิปไตย ในนิยามของนักการเมืองชั่วโมงนี้ คือฟากที่ยืนอยู่ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองและนักการเมืองผู้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะนายทหาร-รัฐประหาร


          นักการเมืองบางคนถึงกับเอ่ยปากเสียดาย ที่ “อา” ไม่มายืนอยู่ฟากเดียวกับตนซึ่งประกาศว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย


          นั่นคือ “จุดยืน” ทางการเมือง ที่จะกลายเป็นสัญญาประชาคมต่อไป


          มีนักการเมืองพูดถึงความสำเร็จของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน และยืนยงยังประโยชน์มาจนปัจจุบัน


          นักการเมืองอีกพรรคหนึ่งเอ่ยอ้าง แนวทางการกระจายอำนาจการปกครอง(แต่ถูกสวนทันควันว่าตอนเป็นรัฐบาลทำไมไม่ทำ)


          นั่นคือ “นโยบาย” ของพรรคการเมือง ที่จะกลายเป็นสัญญาประชาคมต่อไป


          ช่วงเวลาของการหาเสียงเลือกตั้ง จุดยืน และนโยบายจะถูกนำเสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ ที่รณรงค์แข่งขันในสนาม ผ่าน “วาทกรรม” และชุดคำพูดมากมาย อย่างเช่น


          ประชานิยม ความเหลื่อมล้ำ ข้าวยากหมากแพง แต่ที่ค่อนข้างจะได้ยินกันบ่อย และเป็นเวลานานพอสมควรก็คือ นักการเมืองดี นักการเมืองชั่ว เหมือนอย่างใน


          อดีตซึ่งเคยมีวาทกรรม “พรรคเทพ-พรรคมาร” มาก่อน

 



          ในยุคของการแบ่งสี ฝักฝ่าย หลายปีที่ผ่านมา คำว่า “คนดี” ถูกตั้งคำถามมากมาย คล้ายกับว่า เป็นการสถาปนาตนเองขึ้นมา และผูกขาดความดีเสร็จสรรพ


          การทำความดี เราทำเพื่ออะไร ลองเทียบเคียงกับนิยามตามนวนิยาย “มนุษย์สองหน้า” ของ อัลแบร์ กามู นักเขียนรางวัลโนเบลชาวฝรั่งเศส คงหมายถึงการทำเพื่อ


          ความสบายใจของตนเอง ทำเพื่อให้คนเห็นแล้วยกย่องว่าเป็นคนดี ทำไปเพื่อให้รู้สึกว่าได้ทำดี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปกปิดหรือกลบเกลื่อนด้านมืดของตน


          อย่างเช่น บางคนผู้เสียสละที่นั่งบนรถโดยสาร บนรถไฟฟ้า ให้แก่ เด็ก สตรี และคนชรา การตัดสินใจในห้วงวินาทีสำคัญนี้อาจเกิดขึ้นเพราะว่า เขาหวั่นไหวต่อสายตา


          ของคนอื่นมากกว่าที่จะคำนึงถึงความจำเป็นจริงแท้แน่นอน ของคนอ่อนแอกว่า


          อย่างเช่น บางคนไปทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ อุทิศส่วนกุศลต่างๆ นานา เพราะอยากจะไถ่บาปสารพัดอย่างเพื่อความสบายใจของตัวเองมากกว่า จะมีจุดประสงค์ไป


          ถึงขนาดว่า เป็นการทะนุบำรุงพระศาสนา และทำหน้าที่ของฆราวาสกับพระภิกษุโดยบริสุทธิ์ใจ ดังเช่นที่ได้กล่าวอุทิศว่า “เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย” คือ


          พระได้รับสังฆทานแต่ประโยชน์ตกกับคนให้


          นี่ก็นับเป็นการชำระล้างพฤติกรรมด้านมืดของมนุษย์ ตามแนวทางพระพุทธศาสนา


          อย่างเช่น นักกฎหมาย ทนายความ หรือ นักการเมือง ซึ่งประกาศปาวๆ และแสดงออกกับสังคม ทั้งวิ่งเต้น หาหลักฐาน ว่าความช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายทางคดี หรือ


          หาเสียงว่าจะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข หรือจัดทำนโยบายโน่นนี่นั่น ตั้งแต่ใหญ่ๆ อย่างรถไฟฟ้า หรือเล็กๆ รองลงมาถึงประชานิยมแจกสารพัด ถ้าต้องทำแบบ “ปิดทองหลังพระ”


          เชื่อเถิดว่า กิจกรรมแบบนี้จะไม่มีวันเกิดจากพวกเขาแน่นอน


          อย่างเช่น ผู้มีหน้าที่ต้องทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม กลับออกกติกาอันส่อแสดงว่า จะอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น บางฝ่ายที่เคยตราหน้า


          นักการเมืองเลวร้าย ซื้อสิทธิ์ขายเสียง สุดท้าย อย่างเก่งก็เพียง คนของตนยังไม่ถูกจับได้เท่านั้น


          เพราะพฤติกรรมด้านมืด เป็นพฤติกรรมมนุษย์บางคนที่สามารถเลือกใช้ “บางหน้า” ได้ตามปรารถนา


          ในสังคมโซเชียล ทุกๆ วัน ทุกๆ ชั่วโมง ทุกๆ นาที จะสามารถพบเห็น “คนดี” ออกดกดื่น


          นิยามของคำว่า “โลกสวย” ในโลกออนไลน์ เป็นการสร้างมาตรวัด “คนดี” ที่เลือกแสดงออก ด้วยความเชื่อว่า กระแสสังคมเห็นว่าสิ่งนั้นเป็น “ความดี” ทั้งๆ ที่ตัวเองอาจจะไม่เคยเชื่อถือเรื่องนั้นมาก่อนเลยก็ตาม


          พูดดี อัพสเตตัสโดนๆ โพสต์ภาพสวยงามจรรโลงโลกออนไลน์ แต่จิตใจส่วนลึกจะเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่อง “ภายใน”


          เพราะในโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลอันหาที่สุดมิได้นี้ ทุกคนควรแสดงออกตามแบบฉบับของ “คนดี”


          คำจำกัดความที่ว่า “ปุถุชนมักจะมีมากกว่าสองหน้า” ในยุคสังคมวุ่นวายในยุโรปเมื่อ 60 กว่าปีก่อน น่าจะเป็นคำนิยาม ที่เหมาะสมสำหรับสังคมไทยในยามที่


          เวทีการหาเสียงเปิดกว้างขึ้นแล้ว


          คนที่เคยกระมิดกระเมี้ยน เดินสายพบประชาชน เดินหาสมาชิก ก็โอภาปราศรัยหาเสียงกับสังคมได้ “เต็มคำ” และ “เต็มตัว”


          บนเกมการแข่งขัน และช่วงชิงอำนาจ ยังมีความพลิกผันอีกมากมาย


          “นโยบาย-จุดยืน” อาจกลายเป็นสัญญาประชาคมลมๆ แล้งๆ ถ้าหากเมื่อถึงเวลา นักการเมืองต้อง “ถอดหน้า” หนึ่งออก เพื่อเล่นบท “อีกหน้า” ซึ่งเก็บงำซ่อนไว้


          การเมืองไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร ถ้าหากทำความเข้าใจได้ว่า มนุษย์เราแทบทุกผู้ทุกนาม ล้วนมี “หลายหน้า” ด้วยกัน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ