คอลัมนิสต์

แก่ก่อนรวยจะช่วยกันยังไง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แก่ก่อนรวยจะช่วยกันยังไง : คอลัมน์... กระดานความคิด โดย... บางนาห้าสิบหก

 

 

          มองโลกแง่ดีน่าจะเป็นเรื่องของนโยบายมากกว่าจะมโนเอาเองว่า เพราะลุงตู่ก็เป็นคนแก่ระยะต้นและนักการเมืองคนหนึ่ง เราจึงเห็นลุงสวมบทป๋า แจกไม่อั้นช่วงปลายปี โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ผู้ด้อยโอกาส สองกลุ่ม คือ คนจนกับคนแก่ และคนที่แก่ตัวลงพร้อมกับความยากจนอันเป็นเงาติดตามสลัดไม่หลุด ซึ่งน่าเห็นใจและให้ความจุนเจือเกื้อหนุนกลุ่มแรกๆ

 


          (ส่วนที่ว่าเป็นการฉวยโอกาส เอาเงินหลวงไปแลกกับคะแนนเสียงหรือไม่นั้น..ต้องพิสูจน์ ไม่ใช่แค่คำพูด แต่ด้วยหลักการ)

 

          การออกมาตรการของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ ว่ากันตามจริงก็คือ “ติ่ง” หนึ่งซึ่งซ่อนอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ ที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย คือมีสัดส่วนประชากรผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 11 ล้านคนหรือร้อยละ 17 หรือเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรไทย

 

          แต่โจทย์ใหญ่ของสังคมผู้สูงวัยหาใช่แค่ว่าทำให้มีอยู่มีกิน มีความสุขตามอัตภาพไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเพียงเท่านั้น

 

          เพราะการมีอายุยืนยาวมากขึ้นควรจะสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีพร้อมกันไปด้วย


          ยิ่งกว่านั้นก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน สร้างค่านิยม (รวมทั้งออกกฎหมายบังคับ) เก็บหอมรอมริบ ก่อนที่จะเข้าสู่วัยชรา ทั้งด้านสุขภาพ และความสามารถที่เรียกกันในภาษาแรงงานว่า ทรัพยากรบุคคล


          ซึ่งถึงตอนนี้ก็คงจะสายไปแล้วสำหรับคนเจเนอเรชั่นเดียวกับลุงตู่ รุุ่นพี่อย่างลุงป้อม หรือรุ่นน้องที่กำลังก้าวสู่สถานภาพปลดระวาง

 

          จึงอย่าได้ตกอกตกใจกับมาตรการช่วยเหลือเจือจุนจากรัฐบาลที่ประกาศออกมา แบบมัดรวมกันในแพ็กเกจของผู้ด้อยโอกาส โดยเอาจำนวนเม็ดเงินเป็นตัวตั้ง


          เพราะจริงๆ แล้ว ภาครัฐจะต้องช่วยเหลือเฉพาะหน้าแล้ว ยังควรจะมีแนวนโยบายสร้างสรรค์กำลังคนเผื่อไว้สำหรับวัยชราที่จะเดินทางมาถึงตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีล่วงหน้า


          แต่ถึงจะช้าไปนานหลายปี แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่ยอมขยับ ด้วยการวางนโนยบาย หรือออกมาตรการที่เป็นรูปธรรม ปัญหาก็จะหนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว


          หากยกตัวเลขสัดส่วนประชากรในอนาคตประมาณอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งคนชราจะเพิ่มเป็นประมาณร้อยละ 32 ขณะที่คนหนุ่มสาวและวัยทำงานจะลดน้อยถอยลงเหลือร้อยละ 55 นึกภาพง่ายๆ ก็คือ วัยทำงาน 1 คนอาจต้องดูแลเลี้ยงดูคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และอาจเป็นภาระหนักขึ้นไปอีก หากครอบครัวไหน คุณทวดมีอายุยืนยาวและยังคงอยู่ในชายคาเดียวกัน


          สภาพเช่นนี้มองโลกในแง่ดีก็คือคนไทยอายุยืนยาวขึ้นเพราะการสาธารณสุขทั่วถึง การแพทย์ทันสมัย อีกทั้งเป้าหมายวางแผนครอบครัวก็เวิร์กสุดๆ จนทำให้อัตราเด็กเกิดใหม่น้อย ขณะผู้ชราก็กลายเป็นไม้ลอยถึงฝั่งช้ากว่าเดิมหลายปี


          ค่ารถไปหาหมอที่รัฐช่วยจ่ายคราวละ 1,000 บาทในวันนี้อาจจะไม่เพียงพอด้วยซ้ำ


          บำเหน็จดำรงชีพสำหรับข้าราชการซึ่งช่วยเหลือกันตลอดอายุขัย จะเพียงพอกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือไม่ ก็น่าสงสัย

 

          เพราะตัวเลขทางสถิติก่อนหน้ายืนยันตรงกันหลายสำนักว่า “คนไทยแก่ก่อนรวย”


          กล่าวคือ ในจำนวนคนแก่ 11 ล้านคนนั้น เป็นคนแก่ด้อยโอกาสมากถึง 10 ล้านคนเลยทีเดียว


          มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลลุงตู่จะว่าจ้างแรงงานดูแลคนแก่ซึ่งเป็นคนป่วยเรื้อรัง นอนติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในอัตราเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ


          มีข่าวด้วยว่ากระทรวงการคลังจะเสนอเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นแบบเหมารวมทุกช่วงวัยตั้งแต่ 60 ขึ้นไป จากเดิมจ่ายเดือนละ 600 เป็น 1,000 บาท แต่ตอนนี้มาตรการยังไม่คลอดออกมา ไม่แน่ว่า เงินไม่พอ หรือว่ารอเอาไว้แจกอีกรอบช่วงปีใหม่ หรือใกล้ๆ วันหย่อนบัตร หรือไว้ “ปล่อยของ” พร้อมกันทีเดียวกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่ให้นายจ้างจ่ายชดเชยการเลิกจ้างเพิ่มจากเดิม 300 วัน (10 เดือน) เป็น 400 วัน (13 เดือน) ซึ่งครอบคลุมผู้เกษียณจากงานเพราะกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านั้นให้ถือว่าการเกษียณเป็นการเลิกจ้าง


          ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่โดยภาพรวมแล้ว เท่าที่เห็นแจกจ่ายกันอยู่นี้ยังเป็นแต่เพียงมาตรการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามความจำเป็นเฉพาะหน้าเท่านั้น


          หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มาตรการตั้งรับ


          เมื่อระยะเวลาเนิ่นนานมาหลายสิบปีโดยที่มาตรการเชิงรุกหรือยุทธศาสตร์ชาติยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และงบประมาณที่เจียดให้มาผ่านกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็น้อยนิด แม้ว่าจะมีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ (2545-2564) เป็นฉบับที่ 2 และถูกกำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) แล้วก็ตาม


          คำนวณคร่าวๆ เงินอัดฉีดปลายปีที่รัฐบาลจ่ายออกมาประมาณ 80,000 ล้านบาท ถ้าหากถึงมือผู้สูงอายุที่รวมอยู่ในกลุ่มประชากรด้อยโอกาสเหล่านี้ร้อยละ 90 ก็ควรจะได้รับเงินช่วยเหลือ 72,000 ล้านบาท


          แต่ปัญหาก็คือยังมีผู้สูงอายุมีจำนวนมากน้อยเท่าไรที่ไม่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเอาไว้


          นั่นก็หมายความว่า เงินก้อนโตนี้อาจจะถึงมือคนแก่ที่ยากจน หาเช้ากินค่ำ หมดเรี่ยวหมดแรง สุขภาพถดถอยจนยากจะออกรับจ้างลงทุกวัน ซ้ำยังเป็นคนส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้สูงอายุ...น้อยมาก หลายๆ คนก็คงต้องอดมื้อกินมื้อ เข้าไม่ถึงข้าวสาร น้ำไฟฟรี หรือสวัสดิการอื่นใดต่อไป
เรื่องเหล่านี้ก่อน-หลังแจกจ่าย รัฐบาลควรแจกแจงให้กระจ่าง รวมทั้งมาตรการระยะยาวที่จะดูแลผู้สูงอายุควบคู่กับการจัดทำยุทธศาสตร์ประชากรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกว่าการให้เงินกันเป็นครั้งคราว


          ถ้าชัดเจน เห็นภาพ เงินทองไม่ตกหล่น ถึงมือคนจน คนแก่ด้อยโอกาส


          คงไม่มีใครอิจฉาตาร้อน อคติ ลงแขกรัฐบาลฐานใช้งบรัฐหาเสียง
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ