คอลัมนิสต์

เงินซื้อความตายได้?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เงินซื้อความตายได้? : คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนาห้าสิบหก


 

          ถึงไม่อยากจะโทษว่าใครผิดใครถูกอย่างไรกับเรื่องเศร้าสาวถูกสาดน้ำกรดไปเสียชีวิตทั้งๆ ที่เข้าไปอยู่ในแวดล้อมล้อมพยาบาลและเครื่องไม้เครื่องมือกู้ชีพสารพัด

 

 

          แต่เรื่องนี้ถึงอย่างไรว่ากันถึงที่สุดมันก็ต้องมีคนผิดอยู่ดี แต่จะผิดแบบไหนอย่างไรนั้น ค่อยว่ากันไปตามกระบวนการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้หลักประกันว่าจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย


          ฝ่ายแพทย์และพยาบาลเป็นเรื่่องของจรรยาบรรณและมาตรฐานการให้บริการ


          ฝ่ายญาติของผู้เสียชีวิตควรได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสมทั้งด้านค่าเสียหายและสภาพจิตใจ โดยเฉพาะเด็กหญิงที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงรอบด้าน


          ว่าด้วยเรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างสูงยิ่ง จนบางครั้งกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ เชื่อกันว่าถูกออกแบบมาอย่างรัดกุมแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการให้การคุ้มครองรักษาแก่ชีวิตหนึ่งๆ ได้เหมือนกัน


          ข้อพิพาทระหว่างญาติและคนไข้สิทธิประกันสังคมกับแพทย์ พยาบาล มีให้เห็นเป็นข่าวกันอยู่ไม่ขาด และคงจะมีอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายถูกกันออกไปอยู่คนละแดน คือฝ่ายผู้รับกับฝ่ายผู้ให้ “บริการ”


          ยิ่งถ้าต่างฝ่ายต่างมี “อคติ” ต่อกันด้วยแล้ว โอกาสที่จะเกิดความเสียหายก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใดๆ ที่วางกันเอาไว้แน่นหนาทั้งสิ้น

 

          เพราะเป็นเรื่องมาตรฐานของคำไม่กี่คำเช่น วินิจฉัย วิจารณญาณ อันต้องมาจาก “ส่วนลึกด้านใน” ของคนล้วนๆ ที่ไม่อาจวัดได้ด้วยมาตรใดๆเหมือนอย่างปรอทวัดไข้ เครื่องวัดความดัน เครื่องนับจังหวะชีพจร ฯลฯ


          จึงน่าคิดว่าในระบบประกันสุขภาพของชาติ พวกเราทุกคนกำลังหลงลืมอะไรบางอย่างกันไปหรือไม่



          อะไรบางอย่างที่ว่านี้มีความสำคัญยิ่งยวดกับการตัดสินใจ “หน้างาน” อันอาจทำให้คนป่วยได้รับการรักษาทันท่วงที ได้รับการปฏิบัติอย่างพอควรกับเจ้าของสิทธิที่ควักเงินจ่ายประจำทุกเดือน หรือว่าถูกประวิงเวลา อย่างเลวร้ายที่สุดจนถึงขั้นว่าเสือกไสให้ไปรักษากับโรงพยาบาลต้นสังกัดที่แจ้งประกันตนไว้ ด้วยข้ออ้างเท่าที่วินิจฉัยแล้วเห็นว่ายังไปไหวไม่ต้องตะเกียกตะกาย ไม่เป็นอันตรายตามข้อกำหนดของสำนักงานประกันสังคม
     

          ผู้สูงอายุรายหนึ่งถูกตะปูตำฝ่าเท้า ญาติพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะสถานพยาบาลตามสิทธิประกันตนที่ขึ้นทะเบียนไว้แม้จะอยู่ใกล้ออฟฟิศทำงาน แต่ไกลลิบลับกับบ้านซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ พยาบาลโรงพยาบาลใกล้บ้านแห่งนั้นใช้วิจารณาญาณหน้างานเบื้องต้นว่าสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง เพราะลำบากในการเดินทาง เมื่อแพทย์เวรมาถึงวินิจฉัยสอดคล้องว่าผู้ป้วยอายุมากอาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจากบาดแผลเล็กๆ นั้นได้ เพราะคนแก่ส่วนใหญ่ไม่มีวัคซีนบาดทะยักเหมือนเด็ก จึงให้นอนรักษาตัวและให้ยาฆ่าเชื้อทุก 8 ชั่วโมงเป็นเวลา 10 วัน ส่วนค่ารักษาทั้งหมดนั้นพยาบาลใจดีบอกว่าไม่ใช่ปัญหาเพราะสามารถเคลียร์กับโรงพยาบาลต้นสังกัดได้อยู่แล้ว

 

          ทำไมช่างง่ายดาย และเป็นมิตรกับคนไข้มากล้นด้วยน้ำใจปานนั้น


          ภายใต้กฎกติกาเดียวกันที่ออกโดยสำนักงานประกันสังคม เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่สาวเหยื่อสาดน้ำกรดควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่

 

          ทำไมผู้ป่วยตะปูตำที่ดูไม่ได้หนักหนาสาหัสอะไรจึงได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง ได้รับการดูแลรักษาด้วยความรอบคอบ

 

          มันขึ้นกับการร้องขอของคนไข้หรือไม่ ถ้าหากว่าคนไข้รายนั้นจะบอกว่า ขอกลับไปรักษาแผลที่บ้านก็พอ เพราะนอนโรงพยาบาล 10 วันเสียเวลา เสียรายได้มาก และสงสัยว่าจะยุ่งยากเรื่องเคลมประกันกับโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือเปล่า


          แพทย์อีกรายหนึ่ง ซึ่งมาตรวจติดตามอาการใน 2 วันถัดมาบอกว่า “ถ้าเป็นหมอเอง หมอให้ทำแผลแล้วก็กลับบ้านได้แล้ว”


          หมอสองคนใช้วิจารณญาณ วินิจฉัยการรักษาคนไข้คนเดียวกันที่แตกต่างกันออกไป


          เพราะเราหลงลืมอะไรบางอย่างที่อยู่นอกเหนือหลักเกณฑ์ที่เขียนไว้หรือเปล่า


          “ความใส่ใจ” อันอยู่นอกเหนือทรัพย์สินเงินทองใดๆ น่าจะมีความสำคัญสูงสุดในกระบวนการไตร่ตรองวินิจฉัย เพราะ “จิตวิญญาณ” ที่ยากจะสัมผัสจับต้องได้ด้วยเครื่องวัดใดๆ นี้ จะเป็นดังเกราะป้องกัน “อคติ” ที่อาจแฝงเร้นอยู่ภายใน


          มันอาจเป็นอคติที่พอกพูนหนาหนักอยู่ภายในด้วยการสร้างระยะห่างระหว่างคนไข้กับแพทย์ขึ้นมาด้วยระบบต่างๆ ที่ซื้อหากันด้วยเงิน จนดูเหมือนจะกำลังค่อยๆ กลายเป็นว่าการรักษาพยาบาลเป็นเพียงการค้า เป็นบริการที่มีผู้รับและผู้ให้ ไม่ต่างกับการซื้อขายสิ้นค้าอื่นๆ
ถ้าเราพากันหลงลืมอะไรบางอย่าง


          แล้วเราก็อาจจะพากันเชื่อว่า คนรวยเงินทองก่ายกองล้นฟ้า สามารถซื้อชีวิตได้ คนจนจะได้รับการปฏิบัติอีกมาตรฐานหนึ่งที่แตกต่างกันไป และสุดท้ายก็ต้องตายลง


          แน่นอนเราพากันหลงลืมในสิ่งที่เรียกว่า น้ำใจ เมตตา และจิตวิญญาณ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ