คอลัมนิสต์

เลือกตั้ง 2562 "บ้านแตก"แบบเนียนๆ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลือกตั้ง 2562 "บ้านแตก"แบบเนียนๆ : คอลัมน์... กระดานความคิด  โดย... บางนา บางปะกง 

 

 

          ด้วยอิทธิฤทธิ์ระบบเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่สนองเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มุ่งสกัดกั้น “เผด็จการรัฐสภา” ไม่ให้พรรคหนึ่งพรรคใดครองเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ของพรรคเพื่อไทย

 

 

          จากพรรคเพื่อไทย แตกออกเป็นพรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อธรรม และพรรคเพื่อชาติ 


          ด้านหนึ่งก็เกิดยุทธศาสตร์สร้าง “พรรคเครือข่าย” ของฝ่ายมีอำนาจในปัจจุบัน มีอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 พรรค ที่ได้เจรจากันในทางลับๆ แล้ว


          ขณะเดียวกัน พรรคเกิดใหม่ก็หวังเป็น “ผู้แพ้” ในสนาม ส.ส.เขต เพราะคะแนนของผู้แพ้ที่เคยตกหล่นในครั้งก่อนๆ จะถูกนำมานับรวมเป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 


          คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ชุดอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าการกำหนดให้มีบัตรใบเดียว ไม่มีคะแนนพรรคและผู้สมัคร ส.ส. เป็นการทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมาย โดยไม่มี “คะแนนเสียงตกน้ำ” เหมือนอดีต


          นวัตกรรมการเลือกตั้งตามสูตรนี้ เป็นเรื่องใหม่ ทำให้พรรคการเมืองหน้าใหม่ แอบหวังเก็บตกคะแนนผู้แพ้ แปรเป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ


          ความซับซ้อนของกติกาเลือกตั้ง และการดำรงอยู่ของ คสช. จึงทำให้ “นักการเมืองอาวุโส” ต้องเล่นเกมลับลวงพราง วางหมากบนกระดานกันใหม่ 


          “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ที่ติดบ่วงคดีเล่นการเมืองไม่ได้ จึงเป็นได้แค่กองเชียร์พรรคเพื่อชาติ ส่วนลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “มิตติ ติยะไพรัช” นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ 

 

          ว่ากันว่า อดีต ส.ส.เพื่อไทยหลายคน กำลังวางแผนแยกร่าง เอาลูกเอาหลานไปอยู่ในพรรคที่มี “ดีเอ็นเอ” เดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน หรือเกิดอุบัติเหตุยุบพรรค

 


          กติกาเลือกตั้งแบบใหม่ สร้างปัญหาให้แก่เพื่อไทยมากกว่าพรรคอื่น จึงไม่แปลกที่จะมีรายการ “บ้านแตก” ด้วยความจำเป็น โดยเฉพาะสนามภาคอีสาน และภาคเหนือ เช่นลูกอยู่เพื่อไทย พ่อไปอยู่ไทยรักษาชาติ 


          ด้าน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตแกนนำ กปปส. ไม่ลงเล่นการเมืองแต่อ้างขอเป็นกองเชียร์ ขณะที่ลูกเลี้ยง “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” ยังอยู่พรรคประชาธิปัตย์


          นัยว่า “ขิง เอกนัฏ” ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับลุงกำนัน เพียงแต่หนุ่มขิงนั้นสายเลือดพร้อมพันธุ์ และคงมองว่า สนามกรุงเทพฯ ยี่ห้อ ปชป.ขายได้มากกว่าพรรคลุงกำนัน


          “สุชาติ ตันเจริญ” หัวหน้ากลุ่มบ้านริมน้ำ ยังไม่ชััดว่าจะหอบลูกทีมไปสังกัดไหน แต่น้องชาย พิเชษฐ์ ตันเจริญ กับหลานชาย ณัชชา ตันเจริญ ยังอยู่พรรคภูมิใจไทย 


          ลีลาแบบสุชาติ ก็เล่นแทงกั๊กมาตลอด เลือกตั้งบางสมัย สุชาติยังเคยตั้งพรรคเป็นของตัวเองในนาทีสุดท้ายมาแล้ว 


          สำหรับ “เสนาะ เทียนทอง” ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย ก็เล่นแปลกๆ ลูกชายสองคนคือ “สรวงศ์ เทียนทอง” อดีต ส.ส.สระแก้ว และ "สุรชาติ เทียนทอง” อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ยังสังกัดเพื่อไทย แต่หลานสาว “ตรีนุช เทียนทอง” ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ


          คนสระแก้วก็คาดเดาไปต่างๆ นานา บ้างว่าเล่นละคร บ้างว่าลุงกับหลานทะเลาะกันจริง แต่ที่แน่ๆ ยามนี้สองผู้เฒ่า “ลุงเสนาะ-ป้าอุ” ออกเดินหาเสียงราวกับลงสมัคร ส.ส.เขตด้วยตัวเอง 


          เลือกตั้งหนนี้ จะมีเรื่องแปลกๆ ประหลาดๆ เกิดขึ้นอีกเยอะ เพราะศึกนี้มีเดิมพันสูงยิ่งกว่าการเลือกตั้งครั้งใด 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ