คอลัมนิสต์

ซากหมี-คนอำมหิต!!สนุกตรงไหน ทำไมต้องล่า?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ซากหมี-คนอำมหิต!!สนุกตรงไหน ทำไมต้องล่า? : รายงานพิเศษ  


 

          มาอีกแล้ว! ข่าวสะเทือนใจคนไทยที่แก๊งออฟโรดถูกจับพร้อมของกลางเป็นซากสัตว์!


          และภาพที่คนไทยสุดสลดคือชิ้นส่วนแขนขาและมือ ราวกับเป็นของเด็กน้อย หากมันคือซากอุ้งเท้าของ “หมีขอ” จำนวน 4 ชิ้น!! ล่าสุดยังมีการพบเจอชิ้นส่วนอื่นๆ ตามมาอีกด้วย

 

 

          สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้นอกจากเราจะเฝ้ารอดูการดำเนินคดีกับบุคคลทั้งหมด ด้วยยังเชื่อในความยุติธรรมเช่นเดียวกับ “คดีเสือดำทุ่งใหญ่ฯ” ที่ไม่ว่าคุณเป็นใครมาจากไหน นี่คือ “อาชญากรรม”!!

 

          แต่เราก็อดมีคำถามเดิมๆ ที่อยากจะเดินไปถามเหล่า “นักล่าหน้าคน” ไม่ได้จริงๆ ว่า...มันสนุกตรงไหน ทำไมต้องฆ่า?”


          หรือเพราะ “หมีขอ” คือสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 เลยยิ่งท้าทาย ยิ่งใกล้สูญพันธุ์...ก็ยิ่งสนุก!!


          นี่จึงเป็นอีกครั้งที่สะท้อนคำกล่าวที่ว่า “คน” คือสิ่งมีชีวิตเดียวบนโลกใบนี้ ที่เป็นตัวบ่อนทำลายธรรมชาติตัวจริง!


          และถ้าจะพูดถึงเรื่องราวของความเลวร้ายในผืนป่าที่มนุษย์บุกเข้าไปทำไว้กับเหล่าสรรพสัตว์คงไม่มีใครฉายภาพได้ดีเท่ากับผู้ที่ทำงานในพื้นที่ คลุกคลีอยู่ในผืนป่า


          หนึ่งในนั้นคือ ดร.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ผ่านงานในเรื่องของการอนุรักษ์และปกป้องสัตว์ป่าและผืนป่ามาอย่างโชกโชน

 

          เปิด 3 เหตุที่ต้องล่า!
          เมื่อถามเช่นนี้ ดร.กาญจนา ไม่รีรอที่จะบอกเลยว่า ก็คนนี่แหละที่เข้าป่าไปทำการล่า โดยแบ่งเหตุผลของการล่าได้เป็น 3 ลักษณะ 1.ล่าเพื่อเป็นอาหาร 2.ล่าเพื่อความสนุกสนาน และ 3.ล่าตามใบสั่ง

 

 

 

ซากหมี-คนอำมหิต!!สนุกตรงไหน ทำไมต้องล่า?

 

 

          การล่าเพื่อเป็นอาหาร ดร.กาญจนา กล่าวว่า โดยมากคือบรรดาชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่กับป่ามาแต่บรรพบุรุษที่ล่ามาประกอบอาหารเป็นมื้อเป็นคราวเพื่อดำรงชีวิต และไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียมากนัก


          ซึ่งไม่น่ากลัวเท่ากับการล่า “เพื่อความสนุกสนาน” ที่สร้างความรู้สึกเศร้าลดใจไม่น้อย เนื่องจากผู้ล่ากระทำไปเพื่อความพอใจของตนเอง และที่หนักเข้าคือยังมีการใช้สัตว์ในการ “ทดลองอาวุธ”!!


          “กลุ่มที่ล่าเพื่อความสนุกสนานส่วนใหญ่เป็นคนในเมืองที่เข้าไปล่า และมีการทดลองอาวุธก็มีเหมือนกัน ตอนสมัยที่ตัวเองอยู่ในพื้นที่ก็เคยพบว่ามีคนลักลอบเข้าไปทดลองอาวุธ ซึ่งก็เป็นคนในเมือง ไม่ใช่กลุ่มชาวบ้าน”


          “ยิ่งบางที่ที่ไหนที่เข้มแข็งมาก มันก็เป็นความท้าทายของเขาว่า ถ้าตัวเองเข้าไปกี่ครั้งแล้วไม่ถูกจับนี่ก็ถือว่า “ขึ้นชั้น” มันมีแบบนี้ที่เคยพบเจอและก็คิดว่าเรื่องแบบนี้น่าจะยังมีอยู่”


          ส่วน “การล่าตามใบสั่ง” ดร.กาญจนา เล่าว่า มีทั้งที่คาบเกี่ยวกับการลักลอบล่า และจับสัตว์ป่าส่งขายออกนอกประเทศ และมีทั้งกลุ่มคนทั่วไปที่ต้องการมีสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเพื่อความเพลิดเพลิน


          “มันเป็นลักษณะของการมีออเดอร์มาว่าอยากได้สัตว์ชนิดนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์ตายนะ เช่นมีรายการมาว่าอยากได้นกชนิดนี้ สัตว์ชนิดนั้น มากมาย”


          "กลุ่มที่จงใจเข้าไปล่าทั้งเพื่อความมัน ความสะใจ และกลุ่มที่ล่าตามออเดอร์ ก็น่ากลัวที่สุดทั้งสองกลุ่ม เพราะกลุ่มหนึ่งก็ไม่รู้ว่ามีอออเดอร์มากมายขนาดไหน ส่วนกลุ่มทดลองอาวุธก็ไม่รู้ว่าใช้อาวุธอะไรบ้าง ส่วนกลุ่มชาวบ้านเอง บางคนล่าตามออเดอร์ก็มี ซึ่งถ้ามาเป็นขบวนการมันก็น่ากลัว”


          นอกจากนี้ยังมีมุมที่ว่าหลายคนไม่มีความรู้ว่าสัตว์ชนิดไหนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือสัตว์ป่าสงวน แต่เมื่ออยากได้ก็พยายามหาหนทางที่จะเลี้ยง โดยจะมีกลุ่มคนที่รับงานจัดหาสัตว์ตามที่ต้องการไว้ให้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงส่งผลต่อการจับสัตว์มาจากป่าและครอบครัวแล้ว ยังส่งผลไปถึงสภาพจิตใจของสัตว์เมื่อวันที่ผู้เลี้ยงไม่ต้องการเขาอีกต่อไปแล้ว


          “อย่างบางคนพออยากได้ ก็มีคนมาสนองว่าจะหามาให้ แต่ก็ไม่ได้เพาะเลี้ยงนะ เขาก็ต้องไปเอาจากในป่ามา ซึ่งถ้าจะเอาก็ต้องเป็นสัตว์เด็ก วิธีการก็ไม่ใช่ไปอุ้มมาเฉยๆ แต่บางชนิดอาจจะต้องฆ่าแม่เอาลูกมา บางชนิดก็ดักจับแล้วพรากมา”


          “พอเลี้ยงไปนานๆ เกิดเบื่อขึ้นมาหรือพอมันโตปุ๊บมันมีธรรมชาติของสัตว์ป่าออกมา เริ่มดุ คนก็ทอดทิ้งเขา อันนี้ก็เป็นภาระของหน่วยงานที่จะต้องดูแลต่อไป...แล้วสถิติก็เยอะขึ้นเรื่อยๆ”


          ภัยคุกคามขั้นเลวร้าย
          เมื่อมาถึงคำถามที่ว่าการล่าแบบไหนสูญเสียมากที่สุด น่าสนใจที่ ดร.กาญจนา กลับมองว่าคำถามนี้ คำตอบไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่การล่าอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ


          หากแต่ในมุมมองของคนที่ทำงานในผืนป่ามานานหลายสิบปี มองว่า “การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย” (Habitat)  คือภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของสัตว์ป่า!!

 

ซากหมี-คนอำมหิต!!สนุกตรงไหน ทำไมต้องล่า?

 


          “การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มันก็เหมือนกับว่าเขาไม่มีบ้านอยู่ สัตว์แต่ละชนิดก็มีลักษณะการอยู่อาศัยไม่เหมือนกัน ถิ่นอาศัยบางแบบเหมาะกับสัตว์บางชนิด คือถ้าสูญสิ้นถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเขานี่เรื่องใหญ่ เพราะสิ่งนี้จะส่งผลให้สัตว์ป่าหายไปเป็นชนิดพันธุ์เลยก็ได้”


          และสาเหตุที่ก่อให้เกิด “การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า” ก็คือพฤติกรรมและกิจกรรมของมนุษย์อย่างเราๆ นอกเหนือจากการ “ล่า” ซึ่งหมายถึงการเข้าชมป่า การท่องเที่ยว การให้อาหารสัตว์ป่า ฯลฯ


          ตรงนี้ ดร.กาญจนา จึงฝากมาว่าขอให้หลีกเลี่ยงที่จะทำพฤติกรรม หรือกิจกรรมที่่สุ่มเสี่ยงจะส่งผลต่อการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเหล่านี้ โดยเฉพาะการเข้าไปเยี่ยมชมแล้ว แอบลักลอบเข้าสู่พื้นที่ปิด!


          “คนเข้าไปรบกวนในพื้นที่ รบกวนพวกสัตว์ มันก็มีผลทำให้พฤติกรรมของสัตว์เปลี่ยนไปอยู่แล้ว คือแค่ไปท่องเที่ยว ไปชมสัตว์ป่าก็ถือเป็นการรบกวนพวกเขาแล้ว เหมือนเราอยู่บ้านเรา แล้วอยู่ๆ มีคนมาเต็มบ้าน เรารู้สึกยังไง สัตว์ป่าก็เช่นกัน”


          “แต่นี่ยังมีคนที่ชอบเข้าไปในที่ซึ่งเรากำหนดไม่ให้เข้า แต่แปลกที่ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เพราะยังมีกลุ่มคนที่ชอบความท้าทาย อยากเข้าไปเที่ยวไปล่า ให้ได้ชื่อขึ้นชั้นในพรรคพวก”


          “ปัญหาคือบางพื้นที่มันอุดมสมบูรณ์ ที่เราอยากให้มันคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ เพราะถ้าหมดแล้วหมดเลย ปลูกยังไงก็ไม่เหมือนเดิม แต่ถ้าเราไปเหยียบย่ำมากๆ มันส่งผลหมด ทั้งเรื่องของเห็ดราความชื้นของอากาศ ทุกอย่าง เห็ดราบางชนิดมันไม่ขึ้นที่อื่น ขึ้นเฉพาะที่นี่ แล้วบางชนิดมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สามารถนำมาทำยาทำอะไรได้ แต่ถ้าเราเข้าไปเที่ยวเยอะๆ ไปเหยียบย่ำโดยไม่รู้ ก็อาจสูญหายได้”


          แต่ครั้นจะห้ามไม่ให้ผู้คนเข้าไปท่องเที่ยวก็เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะเมื่อรายได้หลักของประเทศส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว ดร.กาญนา จึงบอกว่าในฐานะนักอนุรักษ์ก็พยายามที่จะประนีประนอมทุกความเป็นไปได้ให้มากที่สุด


          เหนืออื่นใดที่อยากฝากไว้ คือภาพหวังที่ต้องการให้เกิดเป็นจริง เมื่อถึงวันที่คนสามารถอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าได้อย่างพึ่งพาอาศัยกัน มีความเคารพและไม่เบียดเบียนกัน...ยังรอคอยวันนั้นอยู่!

 

ซากหมี-คนอำมหิต!!สนุกตรงไหน ทำไมต้องล่า?

 


          ขอให้ “หมีขอ” เป็นตัวสุดท้าย?
          ไม่น่าเลยที่ต้องมาทำความรู้จักน้อง “หมีขอ” ในวันแสนเศร้าแบบนี้ แถมยิ่งเศร้าหนักเมื่อรู้ว่ามันเป็นอีกสัตว์ป่าที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์!!

 

          “หมีขอ” มีชื่อเรียกอีกอย่างว่าบินตุรง หรือหมีกระรอก ชื่อวิทยาศาสตร์ Arctictis binturong เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยแม้จะมีหน้าตาคล้ายหมี แต่ก็เป็นสัตว์จำพวก “ชะมด” และ “อีเห็น” ที่ใหญ่ที่สุด จัดเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวในสกุล Arctictis


          เจ้าหมีขอชอบหากินเวลากลางคืน อาศัยและหากินตามลำพัง โดยอาหารคือผลไม้และสัตว์ขนาดเล็กบนต้นไม้ ทั้งแมลงและสัตว์เลื้อยคลาน


          แถมยังปีนต้นไม้ได้เก่งมาก โดยมีเทคนิคขั้นเทพคือใช้หางที่ยาวเป็นพวงคล้ายกระรอกเกาะเกี่ยวกิ่งไม้เอาไว้ ทั้งยังมีขนตามลำตัวค่อนข้างยาว สีดำและหยาบมีความยาวลำตัวและหัว 61-96.5 เซนติเมตร น้ำหนัก 9-20 กก.


          หมีขอไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน แต่มักออกลูกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ตั้งท้องนาน 90-92 วัน ลูกครอกหนึ่งมีราว 2-3 ตัว อายุเฉลี่ยของตัวเมียเมื่อผสมพันธุ์ครั้งแรกและเป็นผลสำเร็จคือ 30.4 เดือน


          ที่สำคัญหมีขอยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 มีชื่ออยู่ในบัญชีชนิดพันธุ์ที่ไม่มั่นคงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) โดยถูกจัดให้อยู่ในสถานะ “ถูกคุกคาม” ในระดับที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์จากธรรมชาติ!!


          และรู้หรือไม่ แม้จะเป็นสัตว์ป่า แต่เจ้าหมีขอก็มีความอ่อนโยน ถึงขั้นที่ผู้คนสามารถนำมาเลี้ยงให้เชื่องได้ง่าย และในสหรัฐอเมริกามีผู้คนนิยมเลี้ยงกันมาก


          แถมยังมีข้อมูลระบุว่า คนที่เลี้ยงหมีขอบางคนบอกว่า กลิ่นของมันช่างคล้ายกับ “กลิ่นข้าวโพดคั่วอบเนย”!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ