คอลัมนิสต์

สวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือปชช. หรือประชานิยม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยเหลือปชช. หรือประชานิยม : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...จักรวาล ส่าเหล่ทู

 

          กลายเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย เมื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือชื่อเล่น “บัตรคนจน” สามารถกดเงินสดได้แล้วเดือนละ 100-200 บาท และสามารถนำไปทบเดือนหน้าได้ถ้าไม่ได้กดออกมาใช้ 

          เป็นเรื่องที่คนรากหญ้าได้รู้ข่าวคงดีใจไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาบัตรดังกล่าวไม่สามารถกดเงินสดได้ หากแต่ต้องไปใช้บริการในร้านค้าที่รับบัตรนี้เท่านั้น ทำให้เกิดปัญหามากมายหลายอย่าง อาทิ หาร้านใช้ยาก

          และจากโครงการนี้ทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดงบเพิ่มอีกเดือนละ 700 ล้านบาท หรือเป็นจำนวน 2,800 ล้านบาทจนสิ้นสุดโครงการในเดือน ธันวาคม

          นอกจากนี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังชงให้มีการเติมเงินมือถือฟรีสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อต้องการให้ผู้ที่มีรายได้น้อยก้าวสู่สังคม 4G และ 5G อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งปัจจุบันนี้เครือข่าย 2G ยังคงมีผู้ใช้อยู่ แต่จะเป็นกลุ่มของผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มผู้ประกอบการคลื่นมือถือจ่อยกเลิกให้บริการสัญญาณดังกล่าวเพราะไม่คุ้มค่าบำรุงรักษา
หรือก่อนหน้านี้ก็มีโครงการที่เอาใจคนรายได้น้อยให้มีบ้านอาศัยเป็นของตัวเองในโครงการ “บ้านประชารัฐ” โดยเป็นการนำที่ดินราชพัสดุ 317 ไร่ คิดเป็นที่อยู่อาศัย 2,757 ยูนิต มีให้เลือกหลายสไตล์ ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว คอนโด ราคาเบาๆ เริ่มที่ 3.5-7 แสนบาท ซึ่งรัฐบาลไฟเขียวสนับสนุนงบประมาณ 4,000 ล้านบาท ผ่านธนาคารออมสินและอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยมีระยะเวลากู้ไม่เกิน 30 ปี

          นี่แค่เล็กๆ น้อย และยังมีอีกหลายโครงการที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทุ่มทุนอัดฉีดเอาใจคนรากหญ้า จนหลายๆ คนสงสัยว่า จะต่างกับนโยบาย “ประชานิยม” ที่นายกฯ เฝ้าบอกว่าไม่ดี อย่างไรบ้าง? ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะรัฐบาลไหน เวลาที่ออกนโยบาย หรือโครงการทำนองนี้ ต่างก็บอกทำเพื่อประชาชนให้ได้ประโยชน์เต็มๆ แต่กลายเป็นว่ามีช่องโหว่และการรั่วซึมของงบเต็มไปหมด ทำให้ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เต็มๆ ดั่งที่นักการเมืองให้คำสัญญาเอาไว้

          อย่างในกรณีโครงการชุมชนพอเพียง ในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ต้องการอัดงบไปยังชุมชนต่างๆ ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด แต่กลายเป็นว่ามีปัญหาเรื่องของนักการเมืองระดับท้องถิ่นกลับแสวงหาผลประโยชน์ ชี้นำให้ชาวบ้านซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือเกินราคา

          หรืออย่างในรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” โครงการที่เด่นมากๆ ก็คือการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ที่กลายเป็นคดีกันต่างๆ นานา ซึ่งก็เกิดปัญหาระบายข้าวออกไปยังตลาดโลกไม่ได้เพราะให้ราคาจำนำสูงรวมถึงปัญหารัฐบาลขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ค้างจ่ายเงินแก่เกษตกรจำนวนมาก

          ก็น่าสนใจว่ามีหลายโครงการของรัฐบาลนี้ที่หลายๆ คนสงสัยว่าจะทับซ้อนกับคำว่า “ประชานิยม” หรือไม่อย่างไร

          แต่เมื่อไม่นานมานี้คณะรัฐมนตรีเพิ่งเห็นชอบ “พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. ....” สาระที่น่าสนใจก็เพื่อกำหนดคำว่า “ประชารัฐสวัสดิการ” และ “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” ให้ชัดเจน ว่ามีรูปแบบอย่างไร ให้ความรู้สึกว่าเอาให้ต่างจากของเดิมๆ หรือไม่โดนฝ่ายการเมืองแซวว่าเป็น “ประชานิยม” นั่นเอง รวมถึงยังกำหนดการช่วยเหลือคนรากหญ้าอย่างเป็นระบบ
เอาเป็นว่ารัฐบาลกำลังจะบอกว่าการช่วยเหลือคนรากหญ้ามีมาตรฐานเฉพาะ ไม่ต้องกลัวแจกแหลกจนเป็นปัญหาตามมา แถมเมื่อไม่นานมานี้นายกฯ ยังเคยบอกอีกว่า ในกฎหมายประชารัฐเพื่อสวัสดิการนั้น รัฐบาลได้ทุ่มงบประจำปีกว่า 40% ของงบประมาณรวม ในการดูแลแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน โดยไม่ใช้โครงการประชานิยมที่ไม่ถูกต้องเรียกได้ว่า 40% ของงบประมาณรวม ถือว่าเยอะไม่ใช่เล่น จัดได้ว่าเป็นการอัดฉีดที่หวังผลแน่นอน 

          แต่ที่น่าคิดไปอีกก็คืองบประมาณรวมปี 2562 กว่า 75.4% เป็นค่าใช้จ่ายประจำไปแล้ว หลายๆ คนก็ยังแอบสงสัยอยู่ว่า แล้วจะเป็น 40% ในการใช้งบเพื่อสวัสดิการของประชาชนได้อย่างไร...สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ เราอาจจะได้เห็นโครงการทำนองนี้เพิ่มขึ้นอีกเยอะ แม้นายกฯ จะบอกเสมอว่า เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน แต่ถ้าดูเป้าหมายสำหรับแต่ละโครงการแล้วบอกได้ว่าอาจวัดได้ยาก หรือถ้าวัดได้ก็เห็นผลได้ไม่ชัด เพราะระยะเวลาของพล.อ.ประยุทธ์ ที่เหลืออยู่ก็น้อยลงเต็มที เห็นได้จากกระแสข่าวคลายล็อกพรรคการเมือง โรดแม็พเลือกตั้งก็ขยับเข้ามา

          ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เองก็ไม่ชัดเรื่องการเมืองว่าจะเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ใครๆ จะมองว่า นี่กลายเป็นการทุ่มช่วยเหลือที่หวังผลทางการเมือง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ