คอลัมนิสต์

ตุลาการวิวัฒน์ ครั้งแรกลงชื่อถอดถอน ก.ต. ศาลฎีกา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"28 ส.ค.เส้นตายนัดส่งชื่อ ศาลชั้นต้น-ศาลสูง จับมือป้องวิกฤติศรัทธาองค์กร ตรวจสอบพฤติกรรม ก้าวก่ายแทรกแซงอิสระหน้าที่ศาลชั้นต้น ฤาต้องรื้อโมเดลระบบตรวจสอบภายใน"

 

               เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีกแล้ว!! เมื่อเกิดแรงกระเพื่อมจากกลุ่มผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจำนวนหนึ่ง ที่กำลังขยายผลไปให้ถึงศาลสูงในชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา รวบรวมรายชื่อให้ได้จำนวน 1 ใน 5 ของผู้พิพากษาที่มีอยู่ทั้งหมด 4,555 คน คือจำนวนตั้งแต่ 911 คนขึ้นไป เพื่อยื่นถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกาคนหนึ่ง

 

               โดยที่มาที่ไปการเสนอถอดถอน ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลฎีกาผู้นี้ ก็ต้องย้อนไปถึงเรื่องราวก่อนหน้าที่ผู้พิพากษาคนหนึ่ง ซึ่งเป็น ก.ต.ด้วย ไม่ผ่านการแต่งตั้งขึ้นจากประธานแผนกคดีฯ เป็นรองประธานศาลฎีกา สืบเนื่องจากความไม่เหมาะสม โดยชั้นพิจารณาความเหมาะสมผู้พิพากษาแต่ละคนในการโยกย้ายนั้น อ.ก.ต. (อนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) ทราบว่าผู้พิพากษาคนนี้มีปัญหา ที่คู่ความในคดียักยอกทรัพย์มรดกยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ตรวจสอบความเหมาะสมและจริยธรรมในการก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาลชั้นต้นระหว่างสืบพยาน

 

               กระทั่งมีการรายงานข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาประสบเหตุไปตามลำดับชั้น และ อ.ก.ต.เรียกสอบถามพยานทั้งคนใน-คนนอกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเรียกผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวถึงมาชี้แจง แม้ อ.ก.ต.เสียงข้างมาก 13 ต่อ 6 จะให้ผ่านความเหมาะสมไป แต่สุดท้ายเมื่อถึงที่ประชุม ก.ต. 15 คน ก็ลงมติด้วยเสียงข้างมาก 11 ต่อ 3 ไม่ให้ผ่านความเหมาะสมในการเลื่อนตำแหน่งขึ้นรองประธานศาลฎีกา

 

               แม้จะไม่ผ่านความเหมาะสมการขึ้นตำแหน่งแล้ว แต่ในฐานะที่ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่คนนี้ ยังพ่วงสถานะเป็น ก.ต.ชั้นศาลสูงอยู่ด้วย โดยตำแหน่งหน้าที่ ก.ต.ถือว่ามีความสำคัญในการให้คุณให้โทษสอบสวนวินัย และการแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้นเมื่อยังคงสถานะความเป็น ก.ต. ก็ส่งผลความกังวลต่อเหล่าผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งว่าพฤติกรรมของผู้พิพากษาระดับประธานแผนกฯ ที่ไม่ใช่คู่ความโดยตรงทางคดี แต่มีความสัมพันธ์ทางญาติกับฝ่ายโจทก์ ได้ร่วมฟังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี แสดงท่าทีเกรี้ยวกราดกับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นระหว่างที่มีการปฏิบัติหน้าที่สืบพยาน

 

                และการพูดจาลักษณะข่มขู่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต่อหน้าคู่ความเกี่ยวกับการบันทึกข้อความประเด็นนำสืบ แสดงถึงความเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่านั้น ซึ่งส่อว่าทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพิจารณาพิพากษาคดีไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และอาจขัดประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการว่าด้วยการดำรงตนและครอบครัว ข้อ 35, 37 ย่อมส่งผลการต่อการวางตนให้เป็นที่เชื่อถือ เคารพศรัทธาทั้งคนในองค์กรศาลยุติธรรมและบุคคลทั่วไป ที่สำคัญยิ่งคือความมั่นใจการปฏิบัติหน้าที่และเรื่องความอิสระของผู้พิพากษา

 

               “อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 2” ซึ่งถือเป็นผู้บริหารสายบังคับบัญชาผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในศาลที่เกิดเหตุ, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ 1 คน และ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้น 1 จึงเป็นผู้แทนตามสัดส่วนระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเข้าชื่อและการลงมติเพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2544 รวบรวมรายชื่อผู้พิพากษาที่เห็นด้วยกับการเสนอชื่อถอดถอนผู้พิพากษา ผู้เป็น ก.ต. ที่ถูกกล่าวหาถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้พ้นจากตำแหน่ง โดยพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ตุลาการมาตลอด

 

                ซึ่งการรวบรวมรายชื่อเสนอถอดถอน ก.ต. ที่มาจากการเลือกตั้งแต่ละชั้นศาล ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่ได้ดำเนินการหลังมีการใช้ระเบียบฯ เมื่อปี 2544 ด้วยการอ้างเหตุที่ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติ ข้อบังคับ คุณธรรม จริยธรรม หรือกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทำผิดวินัย ในพฤติกรรมก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจนเกิดความหวาดเกรง โดยเป้าหมายการรวบรวมรายชื่อจะให้ได้ตามจำนวนและยื่นเสนอต่อ “เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม” ภายในวันอังคารที่ 28 สิงหาคมนี้

 

               ถ้าถึงวันนั้น (28 ส.ค.) แล้วฝ่ายเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ตรวจสอบรายละเอียดคำร้องว่าได้บรรยายพฤติการณ์กล่าวหา และรายชื่อผู้ร่วมเสนอถอดถอนนั้นครบถ้วนตามเงื่อนไขแล้ว ก็ต้องส่งคำร้องให้ ก.ต.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกเสนอชื่อพ้นจากตำแหน่ง ทำคำชี้แจงข้อกล่าวหาใน 7 วัน นั่นแปลว่า คำร้องจะต้องถูกรับไว้ดำเนินการไม่มีข้อปฏิเสธคำร้อง และเมื่อได้รับคำชี้แจง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จะต้องส่งบัตรลงคะแนนถอดถอน ก.ต.ผู้นั้น ซึ่งผู้พิพากษาทั่วประเทศนั่นเองที่จะลงคะแนนถอด-ไม่ถอด เรียกว่า เมื่อ ก.ต.มาจากการเลือกตั้ง ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยการลงคะแนนจากผู้พิพากษาที่มีสิทธิมีเสียง

 

               แต่ที่สำคัญ คือเมื่อรับคำร้องที่เป็นไปตามเงื่อนไขแล้ว ก.ต.คนนั้น จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ก.ต.ในทันทีเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะรู้ผลว่ามตินั้นสรุปด้วยเสียงเท่าใดให้ถอดถอน หรือไม่ถอดถอน โดยมติถอดถอนนั้นให้ถือเอาเสียงครึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาเท่าที่มีทั้งหมดในวันนับคะแนน

 

               จากเรื่องกระเพื่อมที่นำมาสู่การตรวจสอบภายในองค์กร จากพลังเสียงผู้พิพากษาศาลชั้นต้นครั้งนี้ ที่เสนอถอดถอน ก.ต.ชั้นศาลฎีกาเป็นครั้งแรก ได้สะท้อนถึงวิวัฒนาการตุลาการสำคัญต่อระบบตรวจสอบ ซึ่งในอดีตเคยกลุ่มผู้พิพากษาโดยเฉพาะศาลชั้นต้นเคยเสนอโมเดล ก.ต.ให้กลับไปอยู่สัดส่วนเท่ากันหมด 3 ชั้นศาล คือ 4:4:4 เพราะเห็นว่าศาลชั้นต้นมีจำนวนผู้พิพากษามากกว่าในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา

 

               แต่ทางกลับกันสัดส่วนที่ได้การรับเลือกเป็น ก.ต.มีเพียง 2 ที่นั่ง จากสัดส่วน ก.ต.ในปัจจุบันคือ 6:4:2 ซึ่งดูเหมือนจะขัดกับหลักประชาธิปไตยที่คนจำนวนมากกลับได้ที่นั่งเป็นตัวแทนน้อยกว่า และนอกจากโมเดลการวางสัดส่วน ก.ต.ที่เท่ากันแล้ว ยังมีการพูดถึงแนวคิดที่อยากให้มี “สภาตุลาการ” ที่ให้มีตัวแทนจากผู้พิพากษาแต่ละรุ่นร่วมในสภาตุลาการ หากเปรียบเทียบรูปแบบให้เห็นทั่วไปก็คล้ายกับสหภาพแรงงาน

 

               แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ประเด็นสำคัญคือในทุกๆ อำนาจ ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการถ่วงดุลอำนาจตรวจสอบ เพื่อมิให้เกิดการกระทำใดๆ ที่จะกลายเป็นวิกฤติศรัทธา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ