คอลัมนิสต์

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย! : รายงาน  โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

          ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้ามนุษย์จะมีระบบการผลิตรูปแบบเกิดขึ้นใหม่ เรียกกันว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” คาดว่าจะสร้างเงินหมุนเวียนมูลค่าสูงถึง 150 ล้านล้านบาท...

          “เซอร์คูลาร์อีโคโนมี” (Circular Economy) คือ แนวคิดเศรษฐกิจแบบใหม่เน้นผลิตสินค้าและบริการจากวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมา “หมุนเวียนใช้ใหม่” ซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อให้มนุษย์ 7 พันกว่าล้านคนเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง

          เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจแบบปัจจุบันที่เน้น “กำไรสูงสุด” หรือ “เศรษฐกิจเส้นตรง” (Linear Economy ที่มีรูปแบบคล้ายกันทั่วโลกคือ "ผลิตใหม่ ใช้เสร็จ โยนทิ้ง" โรงงานผลิตสินค้าขายให้ผู้บริโภค เมื่อสินค้าเก่า หมดอายุหรือเบื่อก็โยนทิ้งไป...
   

 

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!


          “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “เซอร์คูลาร์” เน้นการหมุนเวียนใช้วัตถุดิบซ้ำรวมถึงช่วยลดปริมาณขยะจากการใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไป

          องค์กรเอกชนหลายแห่งพยายามปรับตัวเรียนรู้เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 “เอสซีจี” จัดงานสัมมนาหัวข้อเกี่ยวกับการพัฒนาแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไรให้เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง เชิญผู้มีประสบการณ์จากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนความรู้
 
          "เคส พิเทอร์ ราเดอ" เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า ส่วนตัวแล้วยังไม่ค่อยเห็นการพูดถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยสักเท่าไหร่ แตกต่างจากยุโรป ที่ปัญหาภาวะโลกร้อนกระตุ้นให้ชาวยุโรปสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นปัจจุบันน้ำแข็งแถบแอนตาร์กติกากำลังเริ่มละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่าครึ่งเมตรทำให้หลายประเทศเริ่มจับตามองปัญหาน้ำท่วมสภาวะโลกร้อนไม่ได้ส่งผลแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบทั่วถึงกันหมด

 

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!

 

          "เราต้องเริ่มโฟกัสที่เศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เรื่องนี้อาจเข้าใจยากแต่ต้องทำให้เกิดขึ้น ด้วยการบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืนเพื่อส่งมอบไปสู่คนรุ่นหลัง ต้องเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจแบบเส้นตรงให้กลายเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน

          รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตั้งเป้าพยายามนำวัตถุดิบทั้งหมดกลับมารีไซเคิลใช้อีกในปี 2050 และเป้าหมายระยะยาวลดปริมาณวัตถุดิบใหม่ให้เหลือเพียงร้อยละ 50 ในปี 2030 ปัจจัยสำคัญคือ การออกแบบสินค้าต้องทำอย่างฉลาด ใช้วัสดุตั้งต้นที่น้อยลงสินค้าต้องมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวเพื่อลดปริมาณขยะในโลก และสินค้าต้องสามารถรีไซเคิลได้"
  
          คาดการณ์ว่าภายในปี 2023 เศรษฐกิจหมุนเวียนในเนเธอร์แลนด์จะสร้างตลาดที่มีมูลค่ามากกว่า 7.3 พันล้านดอลลาร์ หรือ 2.4 แสนล้านบาท สร้างงานกว่า 54,000 ตำแหน่ง คนจะเริ่มตั้งราคาสินค้าแบบต้นทุนที่แท้จริงที่บวกด้วยต้นทุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วย จะมีการเสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ภาคเอกชนเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกคนก้าวเข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น รัฐบาลเริ่มคิดเงินค่าถุงพลาสติก อาจไม่แพงมากแต่ทำให้คนรู้สึกว่ามีต้นทุนเกิดขึ้น ร้านสะดวกซื้อเองต้องหันมาทำแคมเปญงดใช้ถุงพลาสติก

 

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!

 

          ในงานสัมมนานี้มีตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นต้นแบบนโยบาย “โอท็อป” ของประเทศไทยมาร่วมแชร์ความคิดเห็นพร้อมให้ข้อมูลน่าสนใจหลายประการ

          “อุชิดะ ทาดาชิ” ตัวแทนต้นแบบโอท็อปจากญี่ปุ่นมาเล่าประสบการณ์และวิเคราะห์โอท็อป หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทยให้ฟังว่า ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เมืองโออิตะ ทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นเป็นต้นกำเนิดของ OVOP (One Village, One Product) หรือหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ เมื่อ 40 ปีที่แล้วหมู่บ้านหลายแห่งในทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเป็นเพียงหมู่บ้านยากจนทางเศรษฐกิจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเมืองที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหมือนชุมชนอื่น เนื่องจากพื้นฐานเป็นสังคมเกษตรกรรม คนหนุ่มสาวย้ายออกไปอยู่ตามเมืองใหญ่เกือบหมด เหลือเพียงคนแก่ที่ยังทำแปลงเกษตรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทำให้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษเริ่มถูกทอดทิ้ง

 

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!

 

          ในที่สุดชาวบ้านก็เริ่มคิดค้นทำสินค้าของตัวเองขึ้นมา เช่น เกษตรกรแม่บ้าน Megumi-Kai รวมตัวกันเป็นกลุ่มแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน แต่ละกลุ่มไปปลูกมะเขือเทศสด และเอามารวมกันทำเป็นซอสมะเขือเทศด้วยมือไม่ต้องใช้เครื่องจักร สามารถขายได้ในราคา 800 เยน หรือประมาณ 200 กว่าบาท ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากขายได้ปีละกว่า 5 หมื่นขวด คิดเป็นเงินประมาณ 9 ล้านบาทต่อปีความสำเร็จนี้เกิดได้จากทุกคนในหมู่บ้านช่วยกันทำไม่ได้แค่คิดอย่างเดียว พวกเขาลองทำจริง สุดท้ายทุกคนมีความสุขกับการทำงานร่วมกับเพื่อนๆ และยังคงทำซอสมะเขือเทศต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
  
          “โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนผู้สูงอายุที่อายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2020 ส่วนญี่ปุ่นถือว่าเป็นระดับซูเปอร์สังคมสูงอายุแล้ว เราต้องกำหนดแนวทางในทางพัฒนาประเทศที่เหมาะสม ทำให้ชาวบ้านภาคภูมิใจในชุมชนที่ตัวเองรักและเติบโตมา ไม่จำเป็นต้องออกไปเมืองใหญ่ก็ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงได้”

 

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!

 

   
          อุชิดะ กล่าวถึงหลักคิดสำคัญของหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์คือ ใครก็ทำได้ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ ทำที่ไหนก็ได้ เพราะการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ เป็นองค์ความรู้ของมนุษยชาติ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร จะมี 7 กรรมวิธีเหมือนกันทั่วโลก คือ 1.การหมัก เช่น เหล้าสาเก 2.การตากแห้ง เช่น เห็ดอบแห้ง 3.การหมักดอง เช่น ผักดอง แช่น้ำส้มสายชู 4.การรมควัน เช่น ไส้กรอก แฮม 5.การนึ่ง 6.การทอด และ 7.การคั้น ทั้ง 7 กรรมวิธีนี้ ถือเป็นวิธีการทำที่ใช้เงินน้อยมากหรือแทบไม่ได้ใช้เงินเลย

          “เป้าหมายคือการยืนหยัดด้วยตัวเองไม่พึ่งพาคนอื่น ใช้ชีวิตได้อย่างผาสุก และผลิตภัณฑ์ต้องมีเงื่อนไข 3 อย่าง คือ 1.คุณภาพสินค้าต้องผลิตได้อย่างมีมาตรฐานคงที่ 2.สามารถผลิตออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ 3.ต้องผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรฐาน และทดลองขายในตลาดชั่วคราวก่อนอย่างน้อย 2-3 ปี ควรอดทนรอจนกระทั่งสินค้าติดตลาดมีการทำบัญชีเงินหมุนเวียนเมื่อเป็นสินค้าที่ดีจะมีคนถามหาสินค้าเกิดขึ้นหรือมีตลาด ส่วนใหญ่จะติดตลาดเองจากปากต่อปากของภาคองค์กรท้องถิ่น ควรสนับสนุนการสร้างโอกาส เช่น การจัดงานประจำปี ออกร้าน หรือจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อให้มีการสนับสนุนร้านค้ารายย่อยที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก”

 

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!


  
          ตัวแทนจากญี่ปุ่นกล่าววิเคราะห์ถึงโอท็อปไทยว่า สำหรับการส่งเสริมท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การเยี่ยมชมสถานที่ซึ่งเป็นประวัติศาสต์สำคัญ 2.การดูงานอีเวนท์ และ 3.การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเน้นเที่ยว 2 รูปแบบแรกมากกว่า ซึ่งไทยควรเน้นการสร้างความรู้และแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวอยากสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้ไปถึงชุมชน

          ส่วนการพัฒนาสินค้าชุมชนหรือโอท็อปนั้น ตอนนี้มีหลายภาคส่วนให้การสนับสนุน คนไทยแนะนำกันเองจะดีที่สุด เชื่อว่าประเทศไทยจะพัฒนาได้รวดเร็วยั่งยืนและจุดประกายให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย
   
          “ไทยควรพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางโอท็อป เพราะเข้าใจง่ายสามารถเริ่มทำเลย ด้วยการส่งเสิรมพลังชุมชนให้มาช่วยกันขับเคลื่อน นำประเทศไทยไปสู่เซอร์คูลาร์อีโคโนมี อย่างสมบูรณ์แบบ” อุชิดะกล่าว
   
          ทั้งนี้มีการยกตัวอย่างชุมชนในประเทศไทยที่ทำตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างได้ผล เช่น “ไม้หมอนฟาร์ม” ต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย เริ่มจากพื้นที่ 15 ไร่ แต่เดิมปลูกลำไยแต่ผลผลิตไม่ดีจึงล้มต้นลำไยทิ้งทั้งหมดแล้วปลูกข้าวกับปลูกต้นหูกระจงขาย ก่อนที่จะดัดแปลงเป็นเครือข่ายพลังปัญญาให้ชุมชนชนมาช่วยกันทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีเครื่องกลั่นสมุนไพรหอมระเหยจากตะไคร้หอมไพล มะกรูด มะนาว กระชาย ยูคาลิปตัส โดยสกัดออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหย และนำมิ้นต์มาทำชา ส่วนเศษสมุนไพรที่เหลือมาทำเป็นก้อนหอมปรับอากาศ ใช้ได้ทั้งในรถและห้องนอน พยายามไม่ให้มีสมุนไพรเหลือทิ้งและยังขายสินค้าแปรรูปที่มีคุณภาพอีกหลายอย่างพร้อมเปิดให้ชุมชนอื่นมาร่วมวางสินค้าจำหน่ายด้วย

 

โลกแห่งเซอร์คูลาร์.."โอท็อป" ไทยสู้ตาย!

 

          เช่นเดียวกับ “สวนยายดา เจ้บุญชื่น” พื้นที่กว่า 30 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง โดยสวนนี้เปิดเป็นบุฟเฟ่ต์ผลไม้ให้นักท่องเที่ยวมาเลือกเด็ดชิม แต่ปัญหาที่พบคือเศษเปลือกผลไม้ที่เหลือทิ้งไว้เป็นหลายพันกิโลกรัม มีความพยายามดัดแปลงนำไปใช้ทำปุ๋ยหมัก จากนั้นเปลี่ยนแปลงเป็น “โครงการเลี้ยงไส้เดือนดิน” สามารถเพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น โดยเฉพาะเปลือกทุเรียนที่ย่อยสลายง่ายเมื่อนำมาเลี้ยงไส้เดือนแล้วทำให้กลายเป็นดิน จึงนำเอาส่วนที่เหลือจากทำปุ๋ยหมักมาเลี้ยงไส้เดือนดิน ได้ทั้งปุ๋ยที่มาใส่ในสวน และสามารถขายปุ๋ยเป็นช่องทางเพิ่มรายได้
  
          สำหรับผู้ที่สนใจงานฝีมือนั้น "เปเปอร์ แบรนด์  ถักทอสายใย สานใจชุมชน" จาก ต.ท่าตะคร้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ได้แรงบันดาลใจมาจากคนในชุมชนไปเห็นเส้นเทปกระดาษเหลือใช้จากโรงงาน แล้วนำกลับมาช่วยกันคิดวิธีจักสานให้เป็นเครื่องใช้ มีทั้งตะกร้า โคมไฟรูปทุเรียน กระเป๋า เก้าอี้ ฯลฯ กลุ่มแม่บ้านตำบลท่าตะคร้อจะมาเรียนรู้ร่วมกัน โดยมีการสอนพื้นฐานวิธีสานและขึ้นรูปทรง จากนั้นผู้ที่ฝึกจนชำนาญจะเริ่มออกแบบด้วยไอเดียของตัวเอง
   
          ใช้วิธีวางขายตามงานต่างๆ แบ่งรายได้แบบกลุ่ม เช่น ถ้าหากมีลูกค้าสั่งกระเช้า 100 ใบ จะแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่ม 5 คน ให้ทำคนละ 20 ใบ สินค้าเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ซื้อจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ช่วงที่วางขายในงานสัปดาห์สะพานข้ามแม่น้ำแคว กาญจนบุรี ปรากฏว่าสินค้าขายดีมาก ตอนกลางคืนไปนั่งขายแล้วรีบมาช่วยกันทำต่อในตอนกลางวัน พวกเขารู้สึกเหนื่อยแต่มีความสุขและภูมิใจที่ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน หากคิดเป็นรายเดือนจะได้ประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อคน ทำให้หลายคนหันมายึดเป็นอาชีพหลัก เพราะมีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
  
          แนวคิดการผลิตสินค้าโดยคำนึงถึง “วัตถุดิบ” ที่ต้องสามารถนำมารีไซเคิลสร้างสินค้าใหม่ๆ ได้ต่อเนื่อง ไม่ให้เหลือกลายเป็นเศษขยะทิ้งนั้น นักธุรกิจรุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจตลาดนี้เพราะลูกค้าเริ่มสนใจอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
   
          ทีเนอร์ เรอร์วิค ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเคมีภัณฑ์ เอสซีจี เล่าให้ฟังว่าภาพ “วาฬ” ที่ตายแถวชายฝั่งทะเลไทยแล้วผ่าท้องพบถุงพลาสติกกว่า 8 กก. อยู่ข้างในนั้น ทำให้เกิดกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก มีข้อมูลว่าในอเมริกาทิ้งหลอดพลาสติกมากกว่าวันละ 500 ล้านชิ้น
  
          “ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งสำคัญที่สุดคือคำมั่นสัญญาของผู้บริหารองค์กร เพราะเป็นผู้กำหนดนโยบายและแนวทางในการทำงาน เช่น ในธุรกิจปิโตรเคมีของเรามีเป้าหมายลดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตโพลิเมอร์ เรื่องแบบนี้ถือเป็นความท้าทายที่ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาขับเคลื่อน เช่น การออกแบบสร้างอาคารประหยัดพลังงานรูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม”
  
          ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ขยะมูลฝอยปี 2560 จากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ระบุว่าปริมาณขยะทั่วประเทศไทยมี 27.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 3 แสนกว่าตัน เนื่องจากจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นประกอบกับการขยายตัวของชุมชนเมือง
ยิ่งไปกว่านั้นมีการระบุถึงปัญหาการจัดการขยะอย่างถูกต้อง เนื่องจากการกำจัดขยะของเทศบาลเมืองและเทศบาลนครประมาณ 100 แห่ง ได้จัดการขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพเพียงแค่ 23 แห่งเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นในหลายเทศบาลทั่วประเทศไทย
 
          ปัญหานี้ทำให้รัฐบาลไทยต้องจริงจังในการนำ “แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” มาปรับใช้อย่างเร่งด่วน เปลี่ยนวิธีการคิดจากการใช้วัตถุดิบใหม่ เป็นการใช้วัตถุดิบที่สามารถหมุนเวียนมาใช้ซ้ำได้เรื่อยๆ
  
          หากเราไม่สามารถกำจัดขยะให้หมดไปได้ก็ต้องคิดค้นเทคนิคการนำขยะมูลฝอยกลับไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินค้าจากชุมชนโอท็อป
 
          เรื่องไอเดียเหล่านี้คนไทยสู้ตาย! และมีเทคนิคเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก เพียงแต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง...
 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ