คอลัมนิสต์

แก้หนี้ครูด้วยวินัยทางการเงิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

              ข่าวกลุ่มวิชาชีพครูจังหวัดมหาสารคาม รวมตัวกันประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” มีเนื้อหาเรียกร้องรัฐบาลและธนาคารออมสินพักการชำระหนี้โครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป และจะขอให้ลูกหนี้ ช.พ.ค. ทั่วประเทศกว่า 450,000 คนร่วมกันยุติชำระหนี้ นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์และออฟไลน์

             กระแสวิพากษ์วิจารณ์มองว่าครูไม่ควรเบี้ยวหนี้และควรมีวินัยทางการเงิน เมื่อมีหนี้ก็ควรชำระ อย่างไรก็ดี หลังจากมีข่าวปฏิญญาดังกล่าว ธนาคารออมสินก็มีมาตรการออกหนังสือเวียนถึงกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสำนักงานให้ดำเนินการเร่งรัดในการฟ้องคดีลูกหนี้สินเชื่อครูที่ไม่เข้าร่วมมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ และย้ำว่าโครงการ ช.พ.ค. มีดอกเบี้ยต่ำมากอยู่แล้ว

           วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ อุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย และกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ อธิบายว่า ปัญหาหลักของหนี้ครูมีสาเหตุมาจากการไม่มีวินัยทางการเงิน ทำให้มีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่ครูก็ไม่ใช่อาชีพเดียวที่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน

          “อาชีพที่กู้เงินง่ายในประเทศไทยมีอยู่สองอาชีพ คือหมอกับครู ที่กู้ง่ายเพราะว่าทั้งสองอาชีพนี้มีความน่าเชื่อถือสูง เป็นถึงครูเขาไม่เบี้ยวหรอก คนเลยเอามาให้กู้เยอะ ทั้งในระบบนอกระบบ แต่หมอเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงเลยมีปัญหาน้อยกว่า”

           จากประสบการณ์ที่ได้เคยพูดคุยกับครู คุณวิวรรณพบว่า การกู้เงินถูกมองว่าเป็นรายรับอีกทางหนึ่งในสายตาครูไทย รวมถึงคนไทยทั่วๆ ไป ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นหนี้ที่ต้องชำระ ทำให้ผลที่ตามมาคือการกู้หนี้ยืมสินจนเกินตัว ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้

             “ผู้มีรายได้น้อยหลายคนมองว่าหนี้ไม่ใช่หนี้ ทำให้พอมีหนี้มาแล้วไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระ ถ้าตามจริงจำนวนการผ่อนชำระหนี้แค่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสามของรายรับ แต่หลายคนรายรับไม่ถึงก็เลยมีปัญหาตามๆ กัน”

             ทั้งนี้ธนาคารออมสินมีการเปิดเผยว่า ปัจจุบันธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ยโครงการ ช.พ.ค. เพียงร้อยละ 5-6 ต่อปี ขณะที่สินเชื่อของบุคคลทั่วไปในระบบการเงินที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15–28 ต่อปี อีกทั้งมีเวลาผ่อนชำระนานถึง 30 ปี มีการคิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเช่นเดียวกับสินเชื่อเคหะที่มีเงินงวดผ่อนชำระต่ำ ทำให้กู้เงินสูงได้แล้วแต่ความจำเป็นของครูแต่ละบุคคล

              “ออมสินเขาก็ผ่อนปรนค่อนข้างช่วยเยอะแล้ว เพราะหนี้ออมสินในโครงการช.พ.ค.คือการรวมหนี้ทั้งหมดของครูจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน เป็นหนี้ทั้งในระบบ นอกระบบ หนี้ไม่มีหลักประกันเข้ามารวมกัน นอกระบบบางที่โหดมากนะดอกเบี้ยต่อวันร้อยละ 2”

             คุณวิวรรณอธิบายว่าข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เพิ่งจะทราบคือ อาชีพครูเป็นอาชีพที่เงินเดือนไม่มากก็จริง แต่มีเงินส่วนอื่นๆ เช่น ค่าวิทยฐานะเข้ามาสมทบทำให้ปีหนึ่งมีเงินหลายหมื่น นอกจากนี้ปัญหาหนี้ครูยังพบว่ายิ่งครูอายุงานมาก เงินเดือนสูง ก็ยิ่งมีปัญหาหนี้สูงตามมาด้วยเช่นกัน

             ทั้งนี้ข้อมูลจากพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ระบุว่าเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่ำสุดที่ 15,050 บาท ถ้าหากเป็นมีตำแหน่งครูผู้ช่วย ขั้นต่ำ และมีค่าวิทยฐานะขั้นต่ำ 3,500 บาทในฐานะครูชำนาญการ

             “ข้อมูลที่ได้จาการลงไปคุยพบว่ายิ่งครูอายุเยอะก็ยิ่งมีปัญหาเยอะ ตำแหน่งสูงก็ยิ่งเป็นหนี้ ครูระดับผู้อำนวยการก็มีหนี้ สะท้อนว่ารายได้ไม่ใช่ปัญหาหลัก เรื่องของเรื่องคือการไม่มีวินัย ต้องกู้ยืมเงินมาซื้อของทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น มีกรณีครูรายหนึ่งบ้านอยู่ใกล้ๆ โรงเรียนแต่ยังต้องกู้เงินมาซื้อรถเก๋งมาประดับบารมี ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นเลยก็มี”

             คุณวิวรรณอธิบายว่า ปัญหาเรื่องการเงินที่เกิดจากการไม่มีวินัย คือการขาดความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ของคนไทย ทำให้มีปัญหาเรื่องหนี้สินเงินทอง ใช้จ่ายเกินตัว นอกจากนี้ไม่มีการเรียนการสอนเรื่องความรู้ทางการเงินอย่างจริงจังในไทย ต้องอาศัยการสอนจากที่บ้านเพียงอย่างเดียว

             “ดิฉันเคยเสนอกระทรวงศึกษาธิการไปแล้วว่าต้องผลักดันเรื่องการออมเงินให้มีในหลักสูตรชั้นบังคับ ครูสอนนักเรียน นักเรียนก็ได้ทักษะ ครูเองก็ได้ทบทวนบทเรียนตนเองก็มีความรู้ไปด้วย แต่กระทรวงก็อ้างว่าไม่มีเวลาให้เรียน อาจจะมีโรงเรียนใน กทม. บางแห่งเรียนบ้าง” คุณวิวรรณกล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า การมีวินัยทางการเงินที่จะแก้หนี้คือการประหยัด อดออม เก็บทรัพย์สินรายได้ที่มีคือทางออกที่ดีที่สุด

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ