คอลัมนิสต์

มารู้จัก แอมเนสตี้ กลุ่มคนค้านโทษประหาร ท่ามกลางกระแสตีกลับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มารู้จัก แอมเนสตี้ กลุ่มคนค้านโทษประหาร ท่ามกลางกระแสตีกลับ  : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน 


  
          หลังจากที่กรมราชทัณฑ์บังคับโทษประหารชีวิตเด็ดขาดคนแรกในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในเย็นวันเดียวกันนั้นทางแอมเนสตี้ประเทศไทย องค์กรที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ออกมาคัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีประหารชีวิตผู้ต้องหา โดยระบุว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีชีวิตอยู่และเป็นโทษที่โหดร้าย

          แต่ไม่ทันไรการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็สร้างกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงการถกเถียงด้วยว่าสมควรหรือไม่ที่ให้ยังคงมีโทษประหารที่เถียงอย่างไรก็ไม่จบง่ายๆ โดยในส่วนกระแสที่ไม่เห็นด้วยนั้นย่อมต้องมองว่าการเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ประเทศไทยครั้งนี้ขัดกับความรู้สึกหรือความยุติธรรม รวมถึงไม่เห็นใจครอบครัวผู้เสียหายด้วย

          วันนี้ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ได้สอบถามล้วงลึกที่มาที่ไปขององค์กรดังกล่าวจาก “ปิยนุช โคตรสาร” ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รวมถึงแนวคิดว่า เพราะอะไรพวกเขาถึงต้องค้านโทษประหารชีวิตด้วย

          “องค์กรแอมเนสตี้เกิดจากอาสาสมัครที่ไม่เห็นด้วยกับความอยุติธรรมด้านสิทธิมนุษยชน คือจากกรณีที่นักศึกษาโดนจับเพราะเรียกร้องเสรีภาพแล้วมีประชาชนและทนายไม่เห็นด้วยกับการจับคนเหล่านั้น จึงมีการเขียนจดหมายให้กำลังใจนักศึกษา นี่คือจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่าคนธรรมดาก็เรียกร้องสิทธิก็ได้” ผอ.แอมเนสตี้ เล่าสั้นๆ ถึงที่มาขององค์กร

 

มารู้จัก แอมเนสตี้ กลุ่มคนค้านโทษประหาร ท่ามกลางกระแสตีกลับ

 

          ในส่วนการทำงานภาพใหญ่ของแอมเนสตี้สากลนั้น ทางสมาชิกแอมเนสตี้ของแต่ละประเทศจะโหวตเลือกคณะกรรมการของตนให้มากำกับการทำงานในพื้นที่นั้น จากนั้นคณะกรรมการที่มีอยู่ทั่วโลกจะส่งตัวแทนไปเป็นคณะกรรมการบอร์ดระดับสากลเพื่อกำกับสำนักงานเลขาธิการใหญ่ที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้ความรู้เท่านั้น ไม่สามารถบังคับอะไรได้

          และนอกจากการค้านโทษประหารแล้ว ด้วยความที่แอมเนสตี้เชื่อในเสรีภาพการแสดงออกแล้ว สำหรับในไทยเรื่องหลักๆ จะเป็นการปกป้องสิทธิของนักเคลื่อนไหวซึ่งการเขาก็ต้องมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งยังมีเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่เราเคลื่อนไหวเชิงให้ตระหนักเปิดใจยอมรับว่าผู้ลี้ภัยไม่ใช่ปัญหา ควรจะได้รับสิทธิเช่นกันและเรื่องของการทรมานผู้ต้องหาที่เราพยายามเคลื่อนไหวอยู่ตลอดมา

          คำถามยอดฮิต "รับเงินใครมา"
          ในส่วนนี้ ปิยนุชเล่าว่า รายได้หลักขององค์กรคือเงินบริจาคจากสมาชิกและผู้บริจาครายย่อย ซึ่งองค์กรไม่สามารถรับเงินจากเอกชนที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชนได้แม้ว่าเงินจำนวนนั้นจะมากแค่ไหนก็ตาม ยิ่งรับเงินจากรัฐบาลยิ่งไม่ได้ นอกจากเป็นโครงการศึกษาหรือรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

          “สำหรับของประเทศไทยก็มีสมาชิกที่บริจาคเงินให้มาก แต่ก็มีเงินบริจาคที่เฉลี่ยจากประเทศที่มีผู้บริจาคเยอะๆ โดยเราก็ต้องส่งรายงานให้เขาดูด้วยว่าการทำงานของเราเป็นอย่างไร เพราะสมาชิกที่บริจาคเงินให้เราก็ต้องรู้ความเคลื่อนไหวการทำงานของเราบ้าง ก็ต้องขอบคุณผู้บริจาคทุกๆ คนที่ยอมเชื่อในงานรณรงค์ของเราที่ทำอยู่”
  
          ความพยายามยกเลิกโทษประหาร ร่วมกับรัฐบาลไทย
          “ประเด็นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แอมเนสตี้ได้รางวัลโนเบลเมื่อ พ.ศ. 2520 ซึ่งเราพยายามให้เห็นพัฒนาการจากเมื่อ 20 ปีก่อน มีหลายประเทศที่มีโทษประหาร มีเพียง 1 ใน 3 จากทั่วโลกที่ยังคงโทษประหารอยู่”

          ปิยนุชเล่าว่า ของประเทศไทยเราเคลื่อนไหวอยู่ตลอด เพียงแต่ว่าหลังๆ อาจจะไม่ได้โดดเด่นมากเพราะร่วมงานกับภาครัฐเชิงนโยบายมาตลอด ที่ผ่านมาทางฝั่งรัฐเองก็มีแผนยกเลิกโทษประหารอยู่แล้ว โดยในอยู่แผนสิทธิ​มนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 3 มีโรดแม็พยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นขั้นเป็นตอน และในเวทีโลกทางไทยก็ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าเรื่องนี้สำคัญและทำอยู่ตลอด

 

มารู้จัก แอมเนสตี้ กลุ่มคนค้านโทษประหาร ท่ามกลางกระแสตีกลับ

 

          ส่วนงานด้านอื่นๆ อย่างการรณรงค์เราก็มีบ้าง อย่างในวันต่อต้านโทษประหารสากล 10 ตุลาคม แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเมื่อเร็ววันจะมีการประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะว่าไทยไม่ได้มีการประหารชีวิตจริงๆ มา 9 ปีแล้ว ซึ่งเราไม่รู้คำตอบจริงๆ ว่าเพราะอะไร
 
          เพราะโทษประหารชีวิต คือการสนับสนุนใช้ความรุนแรงต่อผู้อื่น
          ในเรื่องนี้ ผอ.แอมเนสตี้ประเทศไทยกล่าวว่า โทษดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงเพื่อจัดการกับความรุนแรง ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดความรุนแรง แต่เราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้เครื่องมือนี้ก็คือรัฐ และนี่ก็ไม่แก้ปัญหา แต่จะเป็นวงจรต่อๆ ไป เพราะเดิมทีมีครอบครัวหนึ่งที่เป็นผู้เสียหาย หลังจากโทษประหารครอบครัวผู้ต้องหาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งการสูญเสียก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น และเมื่อลองคิดในมุมของเพชฌฆาตที่ทำหน้าที่ลงมือ หากเป็นเราอยากจะทำหรือไม่ในหน้าที่พรากชีวิตคนอื่น ?

          ในส่วนประเด็นที่ว่าแล้วครอบครัวผู้เสียหายจะได้รับความชอบธรรมได้อย่างไรนั้น เรามองว่า แน่นอนว่าครอบครัวผู้เสียหายต้องรู้สึกแย่มากๆ และเราเสียใจกับทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าเราก็ไม่ได้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเหยื่อ และไม่ได้อ่อนข้อให้กับผู้กระทำผิด และสนับสนุนให้รัฐมีกระบวนการยุติธรรมนำตัวคนผิดตัวจริงมาลงโทษให้ได้ เพราะนี่คือสิ่งหลักๆ ที่ทางครอบครัวผู้เสียหายอยากได้ ก็คือความเป็นธรรม
“ถ้าอีกฝ่ายผู้ต้องหาตายไปจริงๆ แล้วแผลของครอบครัวผู้เสียหายจะดีขึ้นหรือไม่อย่างกรณีของนายโทชิ คาซามะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ทำงานรณรงค์ยกเลิกโทษประหารทั่วโลกด้วยภาพถ่าย ก่อนหน้านั้นเขาถูกทำร้ายสาหัสจนปางตายมาแล้ว แต่กลายเป็นว่าแทนที่เขาจะเล่นอีกฝ่ายให้ตายไปตามๆ กัน แต่เขาพยายามเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุให้ให้พวกเขาทำผิด เขาไปศึกษาและพบอีกว่านักโทษประหารทั่วโลกมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไรจนเขาได้เข้าใจทั้งนักโทษและคนที่เป็นเพชฌฆาตว่าต้องรู้สึกเจ็บปวดแค่ไหน”
  
          กระแสตีกลับเยอะ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย
          “ด้วยกระแสหลายวันมานี้ทำให้เราพยายามเรียนรู้ว่าทำไมเขาถึงโกรธเรา หรือตั้งคำถามกับเราว่าเอาโจรไปอยู่ด้วยหรือไม่ จากมุมคร่าวๆ พบว่าอาจจะเป็นเพราะคนในสังคมกำลังกลัวหรือไม่รู้สึกปลอดภัย หรือไม่ได้เชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมของไทย พอเห็นว่าเราต้อต่านโทษประหาร กลายเป็นว่าส่งเสริมให้โจรมีที่อยู่”

          ผอ.แอมเนสตี้ประเทศไทย ให้ความเห็นอีกว่า “โทษประหารชีวิต” จึงกลายเป็นคำขู่ที่ทำให้คนไม่กล้าทำผิด กลายเป็นว่าคนจะเข้าใจว่าเรากำลังเพิ่มความเสี่ยง ซึ่งที่จริงแล้วเราอยู่ข้างประชาชนที่เราต่างอยากให้สังคมมีความปลอดภัย เพียงแต่ว่าเราไม่ได้มีโอกาสสื่อสารกันว่าอะไรจะทำให้เกิดความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง และท้ายที่สุดแล้วโทษประหารแก้โจทย์นี้ไม่ได้

 

มารู้จัก แอมเนสตี้ กลุ่มคนค้านโทษประหาร ท่ามกลางกระแสตีกลับ

 

          จริงๆ การทำงานจะต้องมีหลายส่วน รัฐต้องทำอย่างไรให้ประชาชนปลอดภัยหรือสังคมจะทำอย่างไรไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น เราไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงทุกรูปแบบและโทษประหารชีวิตก็ไม่ใช่คำตอบด้วย และเราก็ไม่ควรส่งเสริมความรุนแรงมาแก้ปัญหาด้วย แต่สังคมก็ต้องตั้งคำถามด้วยว่าใครที่จะสามารถช่วยแก้ปัญหาส่วนนี้ได้บ้าง

          อาจจะต้องค่อยๆ สงบลงแล้วมาหาคำตอบร่วมกัน ถ้าจะบอกว่าต้องแก้ไขทั้งระบบการทำงานตัวละครสำคัญมีใครบ้าง เช่น ฝั่งรัฐอาจจะต้องมีกลไกสร้างความปลอดภัยหรือทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสมากน้อยแค่ไหน และทำอย่างไรไม่ให้นักโทษกลับไปทำความผิดซ้ำอีก ฝั่งสังคมก็ต้องถามด้วยว่าจะพร้อมให้โอกาสแก่คนที่ทำผิดได้มากน้อยแค่ไหน
  
          ปล่อยนักโทษแล้วเขาจะกลับใจ เป็นแนวคิดโลกสวย 
          เราอาจจะเคยได้ยินเสียงวิจารณ์ว่าไม่อยากจะเสียภาษีเพื่อให้รัฐเอาไปเลี้ยงดูนักโทษที่มีจำนวนมาก แต่ทว่าในมุมมองของผู้เสียภาษีอย่างเราแล้วก็อยากจะเห็นว่ารัฐจะจัดการกับเงินภาษีนี้อย่างไรเพื่อสร้างความปลอดภัยหรือทำให้มีประสิทธิภาพว่าเขาออกมาแล้วจะไม่ทำความผิดอีก หรืออย่างในกรณีโทษร้ายแรงบางประเทศกำหนดชัดเลยว่าจะต้องโทษขั้นต่ำอย่างน้อย 20 ปี ไม่มีการออกมาก่อน ซึ่งก็ถือเป็นหนึ่งในข้อเสนอของหลายๆองค์กรสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

          “ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นแนวคิดโลกสวยมากๆ แต่นี่คือโลกของความเป็นจริง ก็คือว่าต่อให้มีโทษประหารต่อไปอาชญากรรมก็ไม่ได้ลดลง ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ แถมยังละเมิดสิทธิอีก หรือแม้แต่ยกเลิกโทษประหารก็ไม่ได้ลดอาชญากรรม แล้วเราจะคงโทษประหารไว้ทำไม แถมยังละเมิดสิทธิด้วย”

          ปิยนุชเล่าว่า สองเคสตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาพูดมากสุดคือประเทศสิงคโปร์ยังคงมีโทษประหารและฮ่องกงที่ไม่มีโทษประหาร แต่การเกิดอาชญากรรมเท่าๆ กัน ซึ่งเถียงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ทางออก เราต้องไปดูว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้นักโทษต้องการทำความรุนแรง หรือทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจะดีกว่า

          ทำไมถึงอยากได้สถานะ ประเทศโทษประหาร
          ปิยนุชให้ความเห็นว่า จริงๆ ไม่ใช่เรื่องสถานะการยอมรับจากสากลอย่างเดียวเท่านั้นแต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีความตั้งใจจริงว่าจะจัดการปัญหาระบบภายในประเทศให้คุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล หากไม่มีโทษประหารจริงๆ แล้ว การบ้านต่อไปของรัฐก็คือว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น หรือมีกระบวนการยุติธรรมอย่างไรให้โปร่งใส โดยเรื่องแบบนี้ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์

          “แต่จากบทเรียนของสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้รับรู้คลื่นความหวาดกลัวในเรื่องความปลอดภัย ทำให้เราเข้าใจบริบทสังคม ก้าวต่อไปคือเราไม่หยุดที่จะทำงานร่วมกับรัฐและจะหาวิธีสื่อสารกับคนทั่วไปว่า จริงๆ จุดยืนของเขาและเรามีเหมือนกัน แต่จะชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ไม่ควรมีโทษประหารคืออะไร และถ้าเราเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากันก็หวังว่าคนจะเข้าใจเรา”

          นี่ถือเป็นความเห็นอีกด้านของกลุ่มคนที่ค้านโทษประหารชีวิตที่ถือเป็นเรื่องมุมมองแต่ละคนที่ยังคงหาข้อถกเถียงสรุปไม่ได้ว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน หรือจริงๆ แล้วเป้าหมายของการถกเถียงประเด็นโทษประหารชีวิตนั้น เราแค่อยากหาเครื่องมือป้องกันไม่ให้คนทำผิดมากกว่าลงโทษให้คนผิดหลาบจำ

          สุริชัย หวันแก้ว อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
          กับข้อถกเถียงของคนในสังคมกับปรากฏการณ์ “ยกเลิกหรือไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต” สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้คนในสังคมแบบสองขั้ว คือนิยมความรุนแรง กับ ผู้ที่เห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น

          โดยประเด็นความเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่นนั้น อาจเป็นเพราะคนไทยมีพื้นฐานด้านธรรมะและความเมตตาจำนวนมาก แต่เมื่อสังเกตดูคนที่เห็นอกเห็นใจในบางเรื่องเท่านั้น เพราะเมื่อเจอเรื่องที่อึดอัด อาจสะท้อนความต้องการให้ใช้ยาแรงเพื่อจัดการปัญหาก็ได้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นกับคนหลายประเทศทั่วโลก แต่อาจเกิดเป็นช่วงบางยุค หรือบางสมัยเท่านั้น

          ส่วนกรณี คัดค้านให้คงโทษประหารสำหรับนักโทษที่กระทำความผิดไว้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดว่า เมื่อคนที่ทำผิดร้ายแรง ต้องได้รับบทลงโทษที่รุนแรงเช่นเดียวกันถึงจะสาสม สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์และความรู้สึกของบุคคลที่ต้องการและนิยมการใช้อำนาจและความเด็ดขาดมาจัดการปัญหา

          โดยความต้องการหรือแสดงความเห็นให้ใช้ยาแรง หรือมาตรการเด็ดขาดแก้ปัญหา คือ การปราบปราม แต่ทั้งสองฝ่ายกลับละเลยที่จะวิเคราะห์ หรือพูดถึงการแก้ปัญหาที่รากเหง้า คือหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น

          “ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องวิธีคิด หากเน้นเรื่องการปราบปรามเชื่อว่าจะไม่มีทางสำเร็จได้ เพราะเราไม่เข้าใจต่อต้นเหตุ นั่นเป็นสิ่งที่ฟ้องให้เห็นว่าสังคมกำลังตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมการปราบปราม แทนการสร้างการมีส่วนร่วมกันหาทางออกในสังคม หากเราฉุกคิดเรื่องนี้ ผมเชื่อว่ากระแสที่เราเถียงกันตอนนี้ว่า โทษประหารควรยกเลิก หรือไม่ยกเลิก จะหมดไป”

          ปัญหาของไทย ที่เรียกร้องให้ใช้มาตรการรุนแรงและมาตรการยาแรงนั้น มองว่าเป็นเพราะต้องการเรียกร้องประเด็นเชิงอำนาจ เมื่อใช้ยาแรงคนอีกฝ่ายแสดงความสะใจ และสนับสนุนผู้ใช้อำนาจนั้น จนทำให้สังคมเราขาดความเข้าใจร่วมกัน และมองว่าการใช้ชีวิตที่ต่างจากเราคือความผิดแผกและเบี่ยงเบน ท้ายที่สุดสังคมจะถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ เมื่อปล่อยเป็นแบบนี้จะทำให้สังคมกลายเป็นภาวะลำบากได้และคนที่แสดงความเห็นเรียกร้องให้สังคมให้ไปทางใดทางหนึ่งนั้น จะกลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้สังคมตกเป็นเหยื่อ แทนการใช้เวทีของสังคมสร้างความเข้าใจและหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริง

          “ทัศนคติที่นิยมความรุนแรง เริ่มมาจากทุกคนมีส่วนร่วมที่ต้องการและนิยมในอำนาจ โดยไม่พยายามเข้าใจคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกับตัวเอง รวมถึงไม่ศึกษาว่าปัญหาที่แท้จริง อาจเกิดจากรากเหง้าที่ตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง สุดท้ายสังคมจะไร้การพัฒนาและกลายเป็นสังคมที่ไร้หัวใจ”

          รศ.กรกฎ ทองขะโชค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
          แนวโน้มการก่ออาชญากรรมมีเพิ่มขึ้นตามความเจริญของเทคโนโลยี และความทันสมัยด้านการสื่อสาร แม้กระบวนการยุติธรรมจะปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ยังเกินขอบเขต เพราะอาชญากรรมหรือการกระทำความผิดทางอาญามีปมที่ซับซ้อน และมีปัจจัยทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง

          กับประเด็นของการลงโทษผู้กระทำผิดร้ายแรงด้วยการประหารชีวิต ตามจุดมุ่งหมายเดิมคือ แก้แค้นทดแทนกับความผิดที่ได้กระทำ รวมถึงเพื่อยับยั้ง ข่มขู่ไม่ให้ใครทำผิดอีก และที่สำคัญเพื่อตัดโอกาสการกระทำความผิดซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังว่าถือว่าเป็นมุมคิดตรงข้ามกับสิทธิและการได้รับความเคารพในการมีชีวิตของมนุษย์

          สิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้น นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มองว่า อาจใช้กระบวนการประชาพิจารณ์เพื่อหาคำตอบ แต่ต้องมีประเด็นการทบทวนมาตรการที่เกี่ยวข้องกันด้วย กล่าวคือ ต้องปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนยอมรับ คือ รวดเร็ว ถูกต้อง ขณะเดียวกันรัฐต้องเข้ามามีบทบาทต่อการปรับโครงสร้างทางสังคม การศึกษาและสถานภาพทางเศรษฐกิจให้ประชาชนได้รับความเสมอภาค เท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรม

          ขณะที่กระทรวงการยุติธรรม ฐานะหน่วยงานบังคับโทษทางอาญา ต้องเสนอทางเลือกอื่นนอกจากโทษประหารชีวิต ที่ทำให้ตัดผู้กระทำผิดออกจากสังคม เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิตเด็ดขาดสถานเดียว ไม่ยอมให้อภัยโทษ หรือพักการลงโทษ  
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ