คอลัมนิสต์

"ปัง" หรือ "พัง"? เกมดูดพลังประชารัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกมดูดของ "พลังประชารัฐ"ในขณะนี้ยังเป็นคำถามว่า จะใช้การได้จริงหรือมีผลกระทบแค่ไหนกับการเลือกตั้ง : นลิน สิงหพุทธางกูร ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ฮือฮากันมากในช่วงนี้ ก็คือ "กระแสพลังดูดรอบใหม่" ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็น "พรรคนอมินี" ของบรรดาอดีตนายทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

พรรคพลังประชารัฐปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดูด โดยหันมา "ดูด" ขุนพลของพรรคเพื่อไทยแบบเปิดเผย แทนการดูด "กลุ่มตระกูลการเมือง" ที่มีพรรคของตัวเอง อย่างกลุ่มพลังชล หรือกลุ่มการเมืองที่ทำท่าจะผละหนีพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว และไม่ใช่เนื้อแท้ของพรรคชินวัตร

เพราะการดูดแบบนั้น ไม่ได้ช่วยให้พรรคพลังประชารัฐมีโอกาสเก็บชัยชนะเหนือพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นจึงต้องปรับยุทธการใหม่ด้วยการ "ตกปลาในบ่อเพื่อไทย" เพื่อให้ได้คะแนน 2 เด้ง ภาษาฟุตบอลเรียก "ไป-กลับ" คือ เพิ่มคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ และตัดแต้มพรรคเพื่อไทยไปพร้อมกัน

ขุนพลคนสำคัญที่รับหน้าที่นี้ ได้แก่ "กลุ่มสามมิตร" ที่ล้วนเคยเป็นระดับแม่ทัพของพรรคไทยรักไทยและเพื่อไทยมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มวังน้ำยม, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช.ซึ่งก็เคยเป็นหนึ่งในขุนพลคู่กายของ ทักษิณ ชินวัตร เช่นกัน

พลังดูดระดับไดโว่ทำให้อดีต ส.ส.เกรด A- ถึง B+ ต้านทานแรงดูดไม่ไหว ไหลเข้า "พรรคพลังประชารัฐ" จนตกเป็นข่าวแทบจะรายวัน โดยเฉพาะล่าสุดกับกลุ่มอดีต ส.ส.จังหวัดเลย ที่นำโดย ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข

 

คำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ "พลังดูด" แบบเอาเป็นเอาตายนี้ จะช่วยให้พรรคพลังประชารัฐเดินไปถึงฝั่งฝัน ผลักดัน "ลุงตู่" เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ได้หรือไม่ เพราะยุทธการแบบนี้ ถ้ามองแบบเผินๆ อาจทำให้คิดไปได้ว่า เมื่อมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งกันจริงๆ ประชาชนจะเทใจเทคะแนนให้เหล่าบรรดานักการเมืองหน้าเดิมที่เคยเลือกในพื้นที่บ้านเกิดของตน แม้ว่าจะย้ายชายคาไปอยู่บ้านใหม่หรือพรรคใหม่แล้วก็ตาม และนั่นก็จะส่งผลให้ "เจ้าของพลังดูด" ได้คะแนนเสียงท่วมท้น

"ปัง" หรือ "พัง"? เกมดูดพลังประชารัฐ

แต่ความเป็นจริง จากการเก็บข้อมูลวิจัยของ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า ยืนยันได้ว่า สิ่งที่จะเกิดในสนามเลือกตั้งจริงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะปัจจัยที่จะชี้ขาดผลการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหลังปี 2540 เป็นต้นมา จะใช้เพียงแค่คะแนนจาก "นักการเมืองหน้าเก่า" อย่างเดียวไม่เพียงพอ

 

"พอดึงนักการเมืองเก่าเข้ามาได้ อาจจะอุ่นใจว่าได้กลุ่มก้อนของกลุ่มการเมืองเก่า และมีฐานเสียงอยู่กับพื้นที่พอสมควร แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือสร้างแบรนด์พรรคให้แข็งแกร่ง และต้องเป็นแบรนด์ที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือทำงานเชิงนโยบายด้วย ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีผู้นำพรรคที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในแบบที่เรียกว่า เปิดตัวมาแล้วต้องปัง และสามารถทำนโยบายให้โดนใจประชาชน มีทีมงานที่เพรียบพร้อมเพียงพอ"

"เหล่านี้เป็นปัจจัยที่คนให้ความสนใจหลังปี 40 เป็นต้นมา เราพบว่าในหลายๆ พื้นที่ ผู้สมัครอาจจะโนเนมกว่าอดีต ส.ส.เก่าที่มาจากตระกูลการเมืองใหญ่ แต่พอพวกตระกูลการเมืองไปอยู่ในพรรคที่ไม่ใช่พรรคที่โดดเด่นเรื่องนโยบาย กลับแพ้ มันเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างชัด"

"ถ้าจะเอาให้ชัดยิ่งขึ้น กรณีกลุ่มของคุณเนวิน (นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย) ที่ออกจากภูมิใจไทยไปร่วมรัฐบาลกับคุณอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) ชัดเจนเลยว่าผู้สมัคร ส.ส.ในภาคอีสานในนามพรรคภูมิใจไทยในปี 54 ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.พลังประชาชน (พรรคเก่าของพรรคเพื่อไทย) มาก่อน ปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยส่งคนใหม่ลงแทน กลับชนะเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนภูมิใจไทยที่ส่งอดีต ส.ส.ลงสมัคร สอบตกเกือบหมด" ดร.สติธร อธิบาย

"ปัง" หรือ "พัง"? เกมดูดพลังประชารัฐ

นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่อธิบายได้ว่า เหตุใดพรรคเพื่อไทยจึงยังมั่นใจว่าอดีต ส.ส.ที่หนีจากอกพรรคไป จะสอบตกเกือบทั้งหมด ตามแถลงการณ์ล่าสุดของ ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค รวมถึงคลิปจากงานเลี้ยงของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังสร้างกระแสฮือฮาให้กับบรรดาแฟนคลับทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโพลล์ลับของพรรคเพื่อไทยที่ประเมินว่า ผลการเลือกตั้งในปีหน้า พรรคจะชนะแบบถล่มทลาย ที่เรียกกันว่า "แลนด์สไลด์" ด้วย

ดร.สติธร บอกอีกว่า ปัจจุบันกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ยังไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ ทำให้พรรคการเมืองเกิดใหม่ยังขยับอะไรมากไม่ได้ ท้ายที่สุดหากระยะเวลาหาเสียงมีน้อย และพรรคใหม่เปิดตัวช้าเกินไป จะยิ่งทำให้พรรคขนาดใหญ่ที่เป็นพรรคเก่า ได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าเดิม เนื่องจากมีภาพจำในหัวประชาชนอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น กลยุทธ์หลังจากนี้จึงอยู่ที่แต่ละพรรคแล้วว่าจะมี "กิมมิคทางการเมือง" อะไรมาเปิดตัวให้โดนใจประชาชนเจ้าของคะแนน ซึ่งนอกจากหัวหน้าพรรคต้อง "ปัง" แล้ว ความพร้อมของทีมงาน ที่เรียกว่า "ดรีมทีมเศรษฐกิจ" กับนโยบายที่ทำได้จริง ประชาชนสัมผัสได้ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

และ 3 ปัจจัยนี้ ผลวิจัยชี้ชัดว่ามีความสำคัญมากกว่าคุณสมบัติการเป็น "อดีต ส.ส." หรือ "กลุ่มตระกูลการเมือง" ที่มีชื่อเสียงในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะหลังปี 2540 เป็นต้นมา

งานวิจัยของ ดร.สติธร ยังนำตัวเลขผลคะแนนเลือกตั้งเมื่อปี 2554 มาวิเคราะห์คาดการณ์ตัวเลขผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้าด้วย แต่เป็นการวิเคราะห์บน "กติกาใหม่" คือการเลือกตั้งแบบ "บัตรเดียว" (ระบบจัดสรรปันส่วนผสม) ซึ่งเชื่อกันว่าเอื้อให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก และพรรคหน้าใหม่ มีโอกาสแบ่งคะแนนจากพรรคใหญ่ หรือพรรคการเมืองเก่าได้มากกว่าเดิม แม้จะแพ้การเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตก็ตาม แต่คะแนนที่แพ้ทุกคะแนนจะถูกนำไปนับรวมเพื่อคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เรียกคะแนนเสียงแบบนี้ว่า "คะแนนตกน้ำ"

แต่ปัญหาคือ "เค้ก" ของคะแนนตกน้ำที่เกือบทุกพรรค โดยเฉพาะพรรคเกิดใหม่ รวมทั้งพลังประชารัฐด้วย กำลังแย่งชิงกัน มีจำนวน ส.ส.เพียง 150 เสียง จาก 500 เสียงของทั้งสภา

คำถามคือพรรคการเมืองเกิดใหม่ รวมไปถึงพรรคเล็ก หรือพรรคของ "กลุ่มตระกูลการเมือง" จะแย่งที่นั่งจากพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคที่คุมเสียงข้างมากในสภาได้สักแค่ไหนกัน

หากย้อนดูผลการเลือกตั้งปี 2554 ส.ส.สังกัดพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ นับรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา แยกเป็นพรรคเพื่อไทย ได้คะแนนแบบแบ่งเขตประมาณ 14 ล้านคะแนน พรรคประชาธิปัตย์ได้ราวๆ 10 ล้านคะแนน เมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นร้อยละ 79 ของคะแนนแบบแบ่งเขตทั้งหมด

"ปัง" หรือ "พัง"? เกมดูดพลังประชารัฐ

ส่วนระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทยได้ 15 ล้านคะแนน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 11 ล้านคะแนน รวมแล้วทั้ง 2 พรรคได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์คิดเป็นร้อยละ 83 ของทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็จะเหลือเก้าอี้ให้พรรคอื่นแย่งกันราวๆ ร้อยละ 20 เท่านั้นเอง

"ปัง" หรือ "พัง"? เกมดูดพลังประชารัฐ

          ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้เลย คือการเลือกตั้งแบบเก่า เป็นระบบที่มีบัตรลงคะแนนสองใบ ประชาชนที่ไปลงคะแนนยังเลือกแบบ "รักพี่เสียดายน้อง" ได้ เช่น ชอบผู้สมัครคนนี้ แต่ไม่ชอบพรรคที่สังกัด ก็ยังเลือก ส.ส.เขตที่ตนเองชอบ แล้วแบ่งคะแนนไปให้พรรคที่ตนรักได้อยู่ แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า มีบัตรลงคะแนนใบเดียว ต้องตัดสินใจให้ได้ระหว่างคนที่ชอบหรือพรรคที่ใช่ เพราะฉะนั้นการแข่งขันของ "พรรคการเมือง" จะยิ่งดุเดือด โดยเฉพาะการแย่งชิงฐานคะแนนที่สองพรรคใหญ่ ได้แก่ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เคยครองอยู่

จากปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน สามารถวิเคราะห์แนวโน้มการแย่งชิงคะแนนได้ดังนี้

1.ฝั่งประชาธิปัตย์ พรรคที่หวังฐานคะแนนของประชาธิปัตย์ คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี "ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ ร่วมเปิดตัวทั้งน้ำตา

2.ฝั่งเพื่อไทย พรรคที่มีโอกาสแบ่งคะแนนไปได้ ก็คือ พรรคอนาคตใหม่ ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และแน่นอนว่าพรรคพลังประชารัฐก็อยู่ในวงนี้ ด้วยการใช้พลังดูดแบบไดโว่

3.กลุ่มที่เคยเป็นพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งอยู่เดิมร้อยละ 20 ก็คือพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ฯลฯ กลุ่มนี้ต้องพยายามรักษาฐานคะแนนเดิมเอาไว้ ไม่ให้ใครมาแย่ง

          ดร.สติธร สรุปว่า การแย่งชิงฐานคะแนนจากพรรคการเมืองใหญ่ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ หรือมีคะแนนนิยมสูงมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังปี 2540 ชี้ชัดว่า บรรดานักการเมืองที่เคยเป็นอดีต ส.ส. หรือเป็นกลุ่มตระกูลการเมืองชื่อดัง ไม่ใช่ตัวช่วยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ชนะเลือกตั้งได้อีกต่อไป

ฉะนั้นพรรคที่ "ดูด" คนกลุ่มนี้เข้าไปมากๆ ก็ไม่ได้การันตีชัยชนะ เพราะผลการเลือกตั้งขึ้นกับ 3 ปัจจัย ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "มาร์เก็ตติ้งการเมือง" ดังที่กล่าวไว้แล้ว นั่นก็คือ หัวหน้าพรรคต้องปัง ทีมงานต้องใช่ และนโยบายต้องโดน

คำถามที่แหลมคมสำหรับพรรคพลังประชารัฐก็คือ หากเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหน้า หลังจากครองอำนาจมานานกว่า 4 ปีแล้ว ยังจะสร้างกระแส "ปัง" ได้อยู่หรือไม่, ดรีมทีมเศรษฐกิจที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังเรียกความเชื่อมั่นได้อยู่หรือเปล่า และที่สำคัญมีนโยบายใหม่ๆ อะไรที่โดนใจประชาชน

แค่ 3 คำถามนี้หลายคนคงพอมองอนาคตของพรรคพลังประชารัฐออก ว่าจะ "ปัง" หรือ "พัง"

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นย่อมขึ้นกับ "คู่แข่งสำคัญ" ด้วยว่า มีความพร้อมมากน้อยเพียงใด เพราะหากยังหาแค่ชื่อหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่ได้ โอกาสที่พรรคพลังประชารัฐจะ "นอนมา" หรือเกิด “แลนด์สไลด์กลับด้าน” ก็ใช่ว่าจะไม่มี!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ