คอลัมนิสต์

"สุริยะ-ธนาธร" คนแซ่จึง 2 สาย คนการเมือง 2 ขั้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สองคนจากตระกูล "จึงรุ่งเรืองกิจ" ลงสู่การเมืองในเลือกตั้งครั้งหน้าในสองพรรค สองจุดยืน การเมืองไทยครั้งหน้าจึงน่าจับตา อะไรทำให้ "น้า-หลาน" ต้องอยู่คนละข้าง

ได้ฤกษ์เปิดตัวกองทัพ “นักเลือกตั้ง” ในนามกลุ่มสามมิตร ที่สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท ปทุมธานี ในวันที่ 30 มิถุนายน คาดว่าจะมีอดีต ส.ส.และอดีตส.ว. มาร่วมแถลงข่าวไม่ต่ำกว่า 100 คน

20 กว่าปีที่แล้วไพน์เฮิร์สทถือเป็นแหล่งชุมนุมจอมยุทธ์การเมือง เพราะเจ้าของสนามตัวจริงคือ ตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ และขาประจำสนามกอล์ฟแห่งนี้ ได้แก่ เสนาะ เทียนทอง และมนตรี พงษ์พานิช

"สุริยะ-ธนาธร" คนแซ่จึง 2 สาย คนการเมือง 2 ขั้ว

"สุริยะ-ธนาธร" คนแซ่จึง 2 สาย คนการเมือง 2 ขั้ว

ว่ากันว่าสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สทสร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี 2531 โดยกลุ่มบริษัทเวิร์น พี.ที. จำกัด ที่มีธรรมนูญ วรรณพานิช เป็นกรรมการผู้จัดการ แต่เงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากนักธุรกิจการเมืองรายหนึ่งในพรรคชาติไทยสมัยนั้น

ปี 2534 บริษัท ซัมมิทโอโตซีท อินดัสตรี จำกัด เข้ามาขอซื้อกิจการเนื่องจาก “สรรเสริญ จุฬางกูร” ชอบเล่นกอล์ฟมาก อยากจะมีสนามกอล์ฟส่วนตัวสักแห่ง โดยมอบให้น้องชายคนที่ 3 ของตระกูลชื่อ โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นคนดูแล

“พัฒนา จึงรุ่งเรืือง” น้องชายของสรรเสริญ ก็ชอบเล่นกอล์ฟ และมักออกรอบตีกอล์ฟกับก๊วนนักการเมืองสายพรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคม จึงมีข่าวกอสสิป พ.ศ.โน้น ว่า “เสี่ยหมึก” ชักชวนให้พัฒนาเล่นการเมือง แต่ข่าวนั้นก็เงียบหายไป

กระทั่ง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายของสรรเสริญและพัฒนา ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม รัฐบาลชวน 2 ในโควตาพรรคกิจสังคม

“พัฒนา” หรือ “ฮังฮ้อ แซ่จึง” ก็คือบิดาของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 

50 ปีที่แล้ว “ฮังตง” (สรรเสริญ) กับ “ฮังฮ้อ” เปิดร้านซ่อมเบาะรถยนต์และจักรยานยนต์ชื่อ “ซานอิ้ว” หรือ “สามมิตร” ซึ่ง “สุริยะ” น้องเล็กของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ได้นำชื่อ “สามมิตร” มาเป็นชื่อกลุ่มการเมืองในวันนี้

“สามมิตร” ภาคธุรกิจ

หลายคนอาจแปลกใจที่อาหลานคู่นี้แยกทางกันเดิน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ลูกชายคนโตของพัฒนา-สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เจ้าของอาณาจักรไทยซัมมิทกรุ๊ป ก่อร่างสร้างพรรคอนาคตใหม่ ชูธงประชาธิปไตยสูงเด่น จะล้มล้างมรดก คสช.ทุกอย่าง

ขณะที่ “สุริยะ” ผู้มีศักดิ์เป็นอาของธนาธร ตั้งกลุ่มสามมิตร เตรียมเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ และหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

หากพลิกไปดูเส้นทางธุรกิจของ “คนแซ่จึง” ก็จะได้คำตอบว่า ทำไมอาหลานต้องแยกทางกันเดิน?

“คนแซ่จึง” มีชาติกำเนิดเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง พวกเขาหนีความยากจนจากบ้านเกิดมาอยู่แผ่นดินสยามเมื่อปี 2505 สองพี่น้อง “ฮังตง” กับ “ฮังฮ้อ” เริ่มต้นเป็นลูกจ้างร้านซ่อมเบาะรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์

“ฮังตง” จับมือกับเพื่อนสนิทอีกสองคนเปิดร้านของตัวเองชื่อ “ซานอิ้ว” หรือ “สามมิตร” พอเปิดมาช่วงแรกกิจการไม่ค่อยดี ไม่นานหุ้นส่วนทั้งสองก็ได้แยกไปทำธุรกิจของตัวเอง 

ปี 2511 เวลานั้นพี่น้องอีกสี่คนได้เข้ามาช่วยกิจการจึงเปลี่ยนชื่อ “ซานอิ้ว” เป็น “ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามมิตรชัยกิจ” และเมื่อธุรกิจเติบใหญ่ขยายตัว ได้เปลี่ยนเป็น “บริษัท ซัมมิทโอโตซีท อินดัสตรี จำกัด”

ปี 2512 คนแซ่จึง เปลี่ยนชื่อเป็นไทยหมด ฮังตงเป็น “สรรเสริญ” และฮังฮ้อเป็น “พัฒนา” พร้อมกันน้องๆ อีก 3 คน คือ โกมล, สุริยะ และอริสดา (สรรเสริญเปลี่ยนนามสกุลเป็น “จุฬางกูร” ส่วนคนอื่นๆ ใช้ “จึงรุ่งเรืองกิจ”)

“พัฒนา” แต่งงานกับ “สมพร” ได้แยกตัวออกไปสร้างอาณาจักรของตัวเอง ทำให้คนแซ่จึง แยกเป็น 2 สายคือ บริษัทซัมมิทโอโตพาร์ท อินดัสตรี ภายใต้การนำของสรรเสริญ และ บริษัทไทยซัมมิทโอโตพาร์ทกรุ๊ป โดยการบริหารของพัฒนา-สมพร 

ส่วนสุริยะ น้องชายคนที่สี่ของตระกูล บริหารบริษัทซัมมิท อีเล็คโทรนิค คอมโพเน้นท์ และอยู่ในฟากฝ่ายของกงสีซัมมิท

ฉะนั้นในทางธุรกิจ “สรรเสริญ” และน้องอีก 3 คน กับ “พัฒนา-สมพร” แยกทางสร้างอาณาจักรกันมานานแล้ว

+++

เสนาบดี “แซ่จึง”

+++

จริงๆ แล้ว ในกลุ่มพี่น้องคนแซ่จึง “พัฒนา” น่าจะเป็นคนแรกของตระกูลที่เล่นการเมืิอง เพราะเขาสนิทสนมกับนักการเมืองระดับเจ้าพ่อมากหน้าหลายตา และพัฒนาเสียชีวิตในปี 2545 ไม่ทันได้เห็นการเติบโตทางการเมืองน้องชาย-สุริยะ ที่ได้เป็นเลขาธิการพรรคไทยรักไทย และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญๆ ของรัฐบาลทักษิณ

ส่วน “สุริยะ” คบหากับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ตามประสาคนหนุ่ม และสมศักดิ์ได้ผลักดันให้สุริยะเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยคมนาคมปี 2536  

"สุริยะ-ธนาธร" คนแซ่จึง 2 สาย คนการเมือง 2 ขั้ว

ปี 2541 มีการปรับคณะรัฐมนตรีรัฐบาลชวน 2 สมศักดิ์เสียสละให้เพื่อนรัก-สุริยะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยอุตสาหกรรม แทนในโควตาคนนอกของพรรคกิจสังคม โดยตัวเขาถอยมาเป็นพี่เลี้ยง

หลังสิ้นมนตรี พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคกิจสังคม “สมศักดิ์-สุริยะ” ก็บ่ายหน้าสู่พรรคไทยรักไทย ร่วมกันสร้างกลุ่มวังน้ำยม เป็นที่พักพิงของส.ส.กว่า 80 ชีวิต จนถูกเรียกว่า “วังอนาคอนด้า” คู่แข่งวังบัวบาน และวังพญานาคสมัยโน้น

มือทำงานของสมศักดิ์-สุริยะ คือ “เสี่ยแฮงก์” อนุชา นาคาศัย อดีตส.ส.ชัยนาท ที่ทำหน้าที่เลี้ยงดูปูเสื่อส.ส.ในกลุ่มวังน้ำยม ให้กินอิ่มนุ่งอุ่น

 

++++

“สามมิตร” ภาคการเมือง

++++

หลังรัฐประหาร 2549 สุริยะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง

สุริยะหายหน้าไปหลายปีท่ามกลางข่าวลือว่าเขาล้มป่วยเป็นโรคมะเร็ง จนต้องไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ

ปี 2552 สุริยะโผล่มางานแถลงข่าวเปิดตัวพรรคภูมิใจไทย เนื่ิองจากเพื่อนรัก-สมศักดิ์ เทพสุทิน ยกทีมมาสังกัดพรรคของเนวิน และมีข่าววงในทั้งสุริยะ, สมศักดิ์ และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น “รัฐมนตรีหลังม่าน” สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะกลุ่มมัชฌิมานั้น มีโควตารัฐมนตรี 2 ตำแหน่ง

กลางปี 2558 สุริยะไปร่วมงานศพ “โกเหนา” ประเสริฐ เทพสุทิน บิดาของสมศักดิ์ ที่บ้านพักใน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ซึ่งในคืนเดียวกันนั้น สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ไปคารวะศพโกเหนาด้วย

ภาพการเคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้นบ่งบอกว่า “สุริยะ-สมศักดิ์-สมคิิด” ที่เคยทำงานร่วมกันมาสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ยังมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น

ฉะนั้นเมื่อ “สมคิิด” มีภารกิจเพื่อชาติ คสช.ต้องการสานต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงตั้งพรรคการเมือง เพื่อรองรับการเข้าสู่อำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง “สุริยะ-สมศักดิ์” ก็ต้องออกมาเดินสายพบปะเพื่อนอดีตส.ส.หลายพรรค 

“สุริยะ” ตัดสินใจนำชื่อ “สามมิตร” มาแทนชื่อกลุ่มวังน้ำยมหรือกลุ่มมัชฌิมาให้สื่อใช้เรียกขาน ระหว่างรอการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐให้เรียบร้อย โดยนัยทางการเมืองชื่อ “สามมิตร” มีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่

ในสมรภูมิเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นต้นปีหน้า คู่แข่งสำคัญของพรรคพลังประชารัฐก็คือพรรคเพื่ือไทย และพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งตอนนี้กลุ่มนักวิชาการที่หนุน “ธนาธร-ปิยบุตร” ได้สร้างวาทกรรมแบ่ง 2 ขั้วคือ ฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย

พรรคอนาคตใหม่ของธนาธรจะกลายเป็น “หน่วยกล้าตาย” ของฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายทักษิณ ชินวัตร โดยพรรคเพื่อไทย และ นปช.จะถอยมาอยู่แถวที่สอง เป็นแค่กองหนุน

ดังนั้นสุริยะเลือกชื่อ “สามมิตร” มาเป็นชื่อกลุ่ม ก็ต้องการจะบอกสังคมว่า “คนแซ่จึง” หรือ “จึงรุ่งเรืองกิจ” ปีกกงสีใหญ่ มีจุดยืน “ประชาธิปไตยแบบไทย” อันแตกต่างคนแซ่จึง สายไทยซัมมิทฯ

กรณี “สุริยะ-ธนาธร” เป็นกรณีศึกษาเรื่องการเดินเข้าสู่อำนาจ คนหนึ่งเลือกเดินตามแนวทางไทยนิยม อีกคนหนึ่งเลือกที่จะไม่ประนีประนอมโครงสร้างเก่า

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ