คอลัมนิสต์

มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คุก" ไม่ได้มีไว้ขัง"คนจน"ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับอีกต่อไป โทษอาญามิติใหม่ เน้นทำบริการสังคมแทนค่าปรับ เพราะขังไว้ก็ไม่มีประโยชน์ โดย ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

           “คุก”มีไว้ขังคนจน เป็นคำดูหมิ่นที่สังคมประเคนให้กับกระบวนการยุติธรรมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นเสียงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะการ"กักขังแทนค่าปรับ" ซึ่งส่งผลให้คนยากจนที่กระทำความผิดในคดีอาญาต้องโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับจนต้องระเห็จเข้าไปอยู่ในสถานกักขัง ส่วนคนรวย มีเงิน จ่ายค่าปรับแล้วกลับบ้าน

       

         ที่ผ่านมา จึงมีการผลักดันให้แก้ไขกฎหมาย เพื่อไม่ให้คนจนไม่มีเงินเสียค่าปรับต้องถูกส่งตัวไปกักขัง วิธีการคำนวณเวลากักขังตามค่าปรับก็คิดไม่ยาก เอาจำนวนเงินค่าปรับเป็นตัวตั้ง เช่น ค่าปรับ 10,000 บาท เอา 500 หาร ก็จะได้จำนวนวันกักขัง 20 วัน

          ประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2545 มีการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 เปิดให้ผู้ต้องโทษปรับไม่เกิน 80,000 บาท ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ โดยขณะนั้นการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตรา 200 บาทต่อวัน แต่ปัญหาก็คือประชาชนไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ ขอให้ศาลใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษปรับเป็นการทำงานบริการสังคมได้ จึงทำให้ตัวเลขคนจนที่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับยังคงมีสูง

     มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

                                             ประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ 

           จนกระทั่งปี 2559 มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาอีกครั้ง โดยรอบนี้เป็นการอุดช่องว่างเดิม จากที่เคยกำหนดให้จำเลยต้องยื่นคำร้องต่อศาล มาเป็นให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ โดยศาลจะสอบถามผู้ต้องโทษว่ามีเงินชำระค่าปรับหรือไม่ และจะแจ้งสิทธิการขอทำงานบริการสังคม ให้แก่ผู้ต้องโทษที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ และอยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานได้ เพื่อสั่งให้ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับก็ได้ 

                   มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

                                                            ทาสีเครื่องหมายจราจรบนฟุตปาธ

                    มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

                                                                   ช่วยงานตำรวจ

        ที่สำคัญกฎหมายไม่ได้กำหนดเพดานวงเงินค่าปรับไว้ ทำให้ดุลพินิจในการสั่งทำงานบริการสังคมเปิดกว้างมากขึ้น และยังให้ถืออัตราการกักขังแทนค่าปรับเป็น 500 บาทต่อวัน จากที่กฎหมายเดิมกำหนดไว้วันละ 200 บาท   

   มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน  

                                                         ดูแลผู้ป่วย 

           สำหรับประเภทของงานบริการสังคมแทนค่าปรับ กำหนดไว้ค่อนข้างหลากหลาย เช่น การทำงานช่วยเหลือดูแล อำนวยความสะดวก หรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล การทำงานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา เช่น สอนหนังสือ ค้นคว้าวิจัย หรือการแปลเอกสาร โดยกลุ่มงานประเภทดังกล่าว ให้ถือ 2 ชั่วโมงทำงานเป็นการทำงาน 1 วัน, การทำงานวิชาชีพ งานช่างฝีมือ เครื่องยนต์ ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ ให้ถือจำนวน 3 ชั่วโมงทำงานเป็นการทำงาน 1 วัน ,การทำงานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์อื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น งานทำความสะอาด ปลูกป่า ดูแลสวนป่า หรือสวนสาธารณะ ลอกคูคลอง เก็บขยะ หรืองานจราจร ให้ถือจำนวน 4 ชั่วโมง เป็นการทำงาน 1 วัน

      มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

                                                         ดูแลผู้ป่วย

               ยกตัวอย่างในคดี “คดีขับรถประมาท” ในจังหวัดอุบลราชธานี วงเงินค่าปรับ 10,000 บาท ศาลได้สั่งทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ โดยสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดอุบลราชธานี ได้ส่งผู้ทำงานบริการสังคมไปทำงานตามคำสั่งศาล ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เพื่อให้เป็นทางเลือกของผู้กระทำผิดที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ซึ่งโดยปกติต้องถูกนำตัวไปกักขังแทนค่าปรับ สามารถทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับได้ และจะถืออัตราหักค่าปรับวันละ 500 บาท โดยการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับตามคำสั่งศาล จะมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ดูแลและดำเนินการจัดให้ผู้ต้องโทษปรับ ทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ

  มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

           ส่วนข้อกังวลที่ว่าคนรวยหรือมีฐานะทางการเงิน จะใช้ช่องการทำงานบริการสังคมหลบเลี่ยงค่าปรับ หรือจะไม่สร้างความเข็ดหลาบให้กับผู้กระทำผิดนั้น อธิบดีกรมคุมประพฤติ ชี้แจงว่า ศาลมีเกณฑ์ในการพิจารณาสั่งทำงานบริการสังคม โดยจะพิจารณาจากฐานะการเงิน ประวัติส่วนตัว ครอบครัว สภาพแวดล้อม ประวัติการกระทำความผิด และสภาพความผิดของผู้ต้องโทษปรับ รวมถึงประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดจากการทำงานบริการสังคมด้วย จากนั้นจึงกำหนดประเภทของงาน และระยะเวลาการทำงาน เพื่อความเหมาะสมและไม่เป็นการสร้างภาระให้กับผู้ต้องโทษปรับมากเกินไป ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับ จะสามารถร้องขอทำงานบริการสังคมได้ทุกราย ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล หลักๆคือต้องมีฐานะยากจน พฤติการณ์การกระทำความผิดไม่ร้ายแรง

มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

                                                     ดูแลผู้ป่วย

                    ทั้งนี้การให้ผู้ต้องโทษปรับ ไปทำงานบริการสังคมนั้น การทำงานบริการสังคมต้องไม่ใช้เวลาเกิน 2 ปีในการชดใช้โทษปรับ  ในกรณีที่โทษปรับสูง หากคิดคำนวณเป็นจำนวนวันทำบริการสังคมเกินเวลา 2 ปี  ศาลสามารถรอการลงโทษปรับไว้ได้ ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับมีเงินพอจะชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอยุติการทำงานได้ ซึ่งศาลจะมีคำสั่งอนุญาตโดยหักค่าปรับตามจำนวนวันที่ได้ทำงานมาแล้วออกจากค่าปรับทั้งหมด ทั้งนี้หากผู้ต้องโทษปรับไม่มาทำงานบริการสังคมตามที่ตกลงกันไว้ ศาลก็สามารถเพิกถอนคำสั่ง แล้วให้ปรับหรือกักขังแทนค่าปรับได้ 

        นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับ ให้ข้อเท็จจริงเท็จเกี่ยวกับประวัติบุคคล และฐานะทางการเงินอันเป็นเท็จต่อศาล ก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาด้วย ดังนั้น คนมีเงินที่คิดจะเลี่ยงโทษปรับ ต้องไตร่ตรองให้ชั่งน้ำหนักให้ดี

   มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

        จากสถิติคดีการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับในปี 2560 มีทั้งสิ้น 594 คดี  โดยประเภทคดีที่ขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คดีพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 242 คดี หรือ 40.7%, คดีพ.ร.บ.จราจรทางบก 108 คดี หรือ 18.2 %, คดีพ.ร.บ.ป่าไม้ ป่าสงวน 55 คดี หรือ 9.3 % 

       ขณะที่สถิติในปี 2561 เพิ่มเป็น 1,173 คดี ประเภทคดีที่ขอทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คดีพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 497 คดี หรือ 42.4 %, คดีพ.ร.บ.จราจรบก 190 คดี หรือ 16.2% ,คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 86 คดี หรือ 7.3%

        มิติใหม่ "ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ-ทำ"บริการสังคม" แทน

                                                           ดูแลผู้ป่วย 

     ที่ผ่านมา “ กรมคุมประพฤติ”เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดรูปแบบการทำงานบริการสังคมให้กับผู้กระทำความผิด และกำหนดประเภทกลุ่มงานที่มีเป้าหมาย กระตุ้นให้ผู้กระทำผิดสำนึกในการกระทำของตัวเอง เห็นใจและรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อ เช่น การจัดให้ผู้ที่เมาแล้วขับไปทำงานดูแลผู้พิการ ช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บในแผนกอุบัติเหตุ หรือการจัดให้ผู้กระทำความผิดในคดีจราจร ออกไปทำงานเป็นอาสาสมัครจราจร เพื่อให้ได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองขณะกระทำผิด หรือการส่งผู้ที่ลักลอบตัดไม้ หรือกระทำความผิดในพ.ร.บ.ป่าไม้ ป่าสงวน ไปทำงานกับกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าไปปลูกป่า ดูแลส่วนป่า ชดเชยความผิดที่ตัวเองได้กระทำต่อทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ หรือกรณีขายแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีโทษปรับสูง ศาลอาจสั่งทำงานบริการสังคมแล้วห้ามไม่ให้กระทำผิดซ้ำ

          สำหรับการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับที่จะกำหนดไว้ใน “ร่างยุทธศาสตร์ชาติ” ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯมือกฎหมายของของรัฐบาล ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า  ได้เสนอแก้ไขร่างยุทธศาสตร์ชาติ ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เปลี่ยนบทบัญญัติเรื่องโทษอาญาเป็นอย่างอื่น  เช่น หากศาลมีคำสั่งให้ปรับ แล้วไม่มีเงินจ่าย จนถูกสั่งขัง ก็ให้สามารถไปทำงานแก่สังคมแทนการถูกขังได้นั้น   ใน “ร่างยุทธศาสตร์ชาติ” จะเขียนไว้ในลักษณะอย่างไร ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า จะคงใช้กฎหมายเดิมที่ให้การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับเป็นไปตามดุลพินิจของศาล แล้วให้กรมคุมประพฤติเป็นหน่วยกำกับดูแล ผู้ต้องโทษปรับให้ทำงานบริการสังคมตามคำสั่งศาลให้ครบถ้วน หรือจะก้าวไปไกลถึงขั้นยกเลิกโทษกักขังแทนค่าปรับ ไปเป็นการทำงาบริการสังคมแทน ทั้งหมดทั้งปวงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล

         ปัจจุบันเริ่มมีข้อเสนอให้กำหนดให้การทำงานบริการสังคม เป็นโทษทางอาญาระดับกลาง เพื่อกำหนดโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ ไม่ส่งคนเข้าไปจองจำในคุกจนเกินจำเป็น โดยเฉพาะผู้ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ซึ่งถือเป็นโทษจำคุกระยะสั้น มาตรการลงโทษทางเลือกอาจเกิดผลดีต่อตัวผู้กระทำผิดและสังคมได้มากกว่า การนำทรัพยากรมนุษย์เข้าไปคุมขัง เว้นแต่ในบางช่วงเวลา หรือบางกรณีที่ต้องการให้เกิดความหลาบจำ เช่น เมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ปรับแพงเป็นหมื่น เพิกถอนใบขับขี่ก็หยุดคนกลุ่มนี้ไม่ได้ จนศาลต้องงัดยาแรง ไม่ให้ประกันตัว ส่งไปกักขังหรือติดกำไลอีเอ็ม 15 วัน เพื่อป้องปรามความเสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนจากเมาแล้วขับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ