คอลัมนิสต์

อุทาหรณ์ ป.ป.ช. มาเลเซีย... เหลียวมอง"ไทย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประธาน ป.ป.ช. มาเลเซีย เปิดเผยว่า เขาเคยถูกคุกคามจากทางการเมือง จนต้องหนีไปสหรัฐฯ หลังจากที่ดำเนินคดีกับอดีตนายกฯมาเลเซีย... แล้ว ป.ป.ช. บ้านเรา เป็นอย่างไรบ้าง

           แม้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน “มาเลเซีย” กรณีนายโมห์ ชูครี อับดุล ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการปราบปรามทุจริตของมาเลเซีย(เอ็มเอซีซี)คนใหม่(“ เอ็มเอซีซี ”เทียบกับบ้านเรา คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ )ได้ออกมาแถลงข่าว ชนิดกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เล่าเรื่องที่เขาต้องหลบหนีจากมาเลเซียไปสหรัฐฯในปี 2558 เมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า เพราะตอนนั้น “เอ็มเอซีซี” ตัดสินใจเดินหน้าดำเนินคดีกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค กรณีพบเงินจากกองทุนวันเอ็มดีบี บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐ ถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารส่วนตัวของอดีตผู้นำ จำนวน 10.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

            จากนั้นเขา ซึ่งเป็นกรรมการใน “เอ็มเอซีซี” ต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลตัวเขาถูกขู่ไล่ออก ถูกข่มขู่สารพัด รวมถึงได้รับกระสุนปืนทางไปรษณีย์ ถูกบังคับให้เกษียณก่อนกำหนด การคุกคามน่ากลัวขึ้นทุกที จนถึงจุดที่ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปยัง"วอชิงตัน"

           ที่หยิบยกนำเอากรณี ของ ป.ป.ช. มาเลเซีย เพราะต้องการให้มามองดู “องค์กรอิสระ”ของบ้านเรา

            เพราะว่า“ องค์กรอิสระ” บ้านเราก็ถูกแทรกแซงเช่นกัน ที่วิจารณ์อย่างมาก ก็คือ ในสมัยที่ พ.ต.ท. (ยศในขณะนั้น) ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ถูกโจมตีว่า แทรกแซงองค์กรอิสระ รวมทั้ง ป.ป.ช.

           นอกจากนี้ในช่วงที่ “ทักษิณ” เป็นนายกฯ มีตำรวจเข้าไปนั่งทำงานอยู่เกือบทุกองค์กร ทั้ง ป.ป.ช., กกต.,ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน

             ในส่วน กรรมการ ป.ป.ช. ก็ถูกข่มขู่คุกคาม ในปี 2552 “วิชา มหาคุณ” เจอดี มือมืดปาระเบิดถล่มบ้านย่านบางพลัด หลังคาโรงรถพังพินาศ 

             และยังมีเหตุการณ์คนร้ายลอบปาระเบิดสำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ซึ่งในช่วงนั้น ป.ป.ช. มีคดีสำคัญ คือ การไต่สวนคดีจำนำข้าว

              ในปี 2557 “เสื้อแดง” นำมวลชน “ ชัตดาวน์” ป.ป.ช. ชุมนุมปิดล้อมและปักหลักที่ ป.ป.ช. เรียกร้องให้กรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะลาออก

              มาถึงสมัยปัจจุบัน ที่มีการวิจารณ์กันมาก ก็คือ กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช. ทำการแก้ไข ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช.​ ที่ส่งมาจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)และผ่านความเห็นชอบในหลักการวาระแรกของ สนช.ไปแล้ว โดยกำหนดให้ประธาน ป.ป.ช.และ กรรมการ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่ พ.ร.ป. ป.ป.ช.ฉบับใหม่ใช้บังคับ ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ 9 ปี

               จากเดิมที่ตามร่างของ กรธ. กำหนดให้บังคับใช้เรื่องคุณสมบัติที่กำหนดในกฎหมายใหม่ ซึ่งจะเข้มงวดกว่ากฎหมายฉบับเดิมกับ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งจะมีกรรมการ ป.ป.ช.หลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ว่า กรรมการ ป.ป.ช. บางคน มีความใกล้ชิดและมีสายสัมพันธ์กับ คสช.

           และขณะนี้มีคดีสำคัญซึ่งเป็นที่จับตาของสาธารณชนอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. คือ กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว. กลาโหม ที่ พล.อ. ประวิตร ไม่ได้แสดงไว้ในรายการบัญชีทรัพย์สินเมื่อครั้งที่ยื่นตอนเข้ารับตำแหน่งและมีการยื่นร้องเรียนต่อป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่านาฬิกาหรูทั้ง 25เรือน ยืมเพื่อนมาทั้งหมด ไม่ใช่ของตนเอง จึงไม่ได้ยื่นแสดงในบัญชีรายการทรัพย์สิน

             จากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. พบว่านาฬิกามีอยู่จริงแต่ยังขาดรายละเอียดของที่มายังไม่ครบถ้วนในเรื่อง“ซีเรียลนัมเบอร์”หรือ“หมายเลขประจำเครื่อง”

              ทั้งนี้ สำนักตรวจสอบทรัพย์สิน ป.ป.ช.ได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบว่า ผู้ครอบครองนาฬิกาเหล่านี้เป็นเจ้าของที่แท้จริงหรือไม่

             ซึ่ง ป.ป.ช.ได้สอบปากคำทายาทของนายปัฐวาท สุขศรี เพื่อนของพล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นผู้ให้ยืมนาฬิกาและยังต้องสอบสวนพยานบุคคลและบริษัทเอกชนที่จำหน่ายนาฬิกาเพิ่มเติมด้วย

              โดยข้อมูลพบว่ามีเอกชนเพียง 3 รายจาก 13 รายเท่านั้นที่ยอมให้ข้อมูลเรื่องนาฬิกากลับมายัง ป.ป.ช. และยังต้องสอบพยานบุคคลเพิ่มอีก 2 รายก่อนสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปหรือไม่

               โดยเลขาฯ ป.ป.ช.ระบุว่า การรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ คงใช้เวลา 2-3 เดือนไม่แล้วเสร็จในภายในเดือนพฤษภาคมนี้

              นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เกี่ยวกับคนในรัฐบาล อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. อีกหลายคดี 

               อาทิ -นายวัชระ เพชรทอง ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ละเว้นไม่ดำเนินการกับรัฐมนตรีที่ถือหุ้นในบริษัทเอกชนหรือไม่ โดยร้อง ต่อ ป.ป.ช.ว่านายดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆกับหุ้นที่ตัวเองมีส่วนรับผิดชอบ

              -กรณี พล.อ. ประยุทธ์ ซื้อสุนัขพันธุ์บางแก้ว ในราคา 25,000 บาท จำนวน 3 ตัว

             -นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นตรวจสอบกรณี พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ไปตีกอล์ฟที่สนามกอล์ฟของนักการเมืองในตระกูลสะสมทรัพย์ว่ามีคนจ่ายค่าออกรอบให้หรือไม่ หากมีคนจ่ายให้อาจเข้าข่ายรับประโยชน์อื่นใด อันต้องห้ามตาม กม.ป.ป.ช. หรือไม่

              -นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นให้ตรวจสอบเอาผิดคณะรัฐมนตรี ที่อนุมัติให้เอกชนสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ มูลค่า 4,600 ล้านบาท โดยไม่ได้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป

               ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าผลคดีที่เกี่ยวกับคนในรัฐบาลจะออกมาอย่างไร หากไม่เกิดกรณี แบบ ป.ป.ช. มาเลเซีย ว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ก็คงไม่มีปัญหาในการยอมรับจากผู้คนในสังคม

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ