คอลัมนิสต์

4ปีเว้นวรรคประชาธิปไตยเสียของไหม?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

4ปีเว้นวรรคประชาธิปไตยเสียของไหม? : คอลัมน์... กวาดบ้านกวาดเมือง โดย... ลมใต้ปัก


 
          4 ปีแห่งการยึดอำนาจ “เว้นวรรคประชาธิปไตย” โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เข้ามายึดอำนาจและตั้งตนเป็นผู้นำรัฐบาลเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานไม่น้อย (อย่างน้อยก็นานกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง) เพราะมีแนวโน้มว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ในอำนาจไปจนถึงเดือนเมษายนปีหน้า (เพราะหากมีการเลือกตั้ง ก.พ. 2562 กว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้คงใช้เวลาอีกไม่ใช่น้อย) นั่นหมายความว่าอยู่เกินเทอมของรัฐบาลเลือกตั้ง เพียงแต่รัฐบาลยึดอำนาจไม่มีเทอมกำหนดตายตัวเท่านั้น จะอยู่สั้นอยู่ยาวหาใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่การอยู่ในอำนาจนั้นได้สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศหรือมาสร้างโอกาสให้ตนเองและคณะ เป็นสิ่งที่พึงพิจารณา 

          ต้องยอมรับว่าก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ “บอบช้ำ” จากการแย่งชิงอำนาจ สร้างมวลชนต่อสู้กันของพรรคการเมือง จนเกิดภาวการณ์ “แตกแยกอย่างรุนแรง” ถึงขั้นมีกองกำลังมีการฆ่ากัน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ เพียงเพราะการ "แย่งอำนาจ” กันเท่านั้น 

          การที่คณะนายทหารภายใต้ชื่อย่อว่า “คสช.” เข้ามายึดอำนาจ สิ่งที่ดีที่สุดในเวลานั้นคือการหยุดการห้ำหั่นและความแตกแยกกันได้สนิท (แม้บางความเห็นอาจจะแย้งว่าเป็นการพักยกเท่านั้นก็ตาม) แต่ทำให้ภาพการยุติความขัดแย้ง และ “ปิดเทอม” การเมืองในครั้งนั้นสร้างโอกาสความเชื่อมั่นในการลงทุน การท่องเที่ยวในประเทศได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว สิ่งนี้ต้องยกให้เป็นผลงานชิ้นสำคัญของการออกมาห้ามทัพการ "ฆ่ากัน” ณ วันนั้น

          ส่องครึ่งทางแรกแห่งการครองอำนาจจากการรัฐประหาร ดูเหมือนการเดินตามโรดแม็พในการปฏิรูปประเทศได้รับเสียงสนับสนุนจากหลายฝ่าย กลุ่มที่ตั้งธงในการคัดค้านไม่อาจฝ่ากระแสออกมาเต้นแร้งเต้นกาขวางโรดแม็พเหล่านั้นได้ การบริหารงานจึงเป็นไปด้วยความราบรื่น

          แต่ครึ่งหลังของอำนาจจากปลายกระบอกปืนเริ่มสั่นคลอน เพราะระยะเวลาที่เนิ่นนานทำให้อารมณ์ “เบื่อ” เกิดขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนมือคอร์รัปชั่น การเรียกรับผลประโยชน์ จาก “นักการเมือง” มาเป็น “ข้าราชการ” แทน เพราะพรรคราชการกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่การทุจริตคอร์รัปชั่นหาได้ลดลงไม่ รวมทั้งไม่มีการจัดการขั้นเด็ดขาดกับการกระทำดังกล่าว ทั้งที่มี “อำนาจ” อยู่เต็มมือ จึงทำให้เกิด “ความเสื่อม” ในคณะผู้ยึดอำนาจเสียเอง


          จึงไม่น่าแปลกใจที่ช่วงครึ่งเวลาหลังของการกุมบังเหียนอำนาจจะมีความพยายาม “จุดไม้ขีดไฟ” แห่งการโค่นล้ม คสช. ออกมาเป็นระยะๆ และจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น แต่จะถึงขั้น “จุดติด” ไหม ขึ้นอยู่กับการปลุกกระแสของฝ่ายโค่นล้ม และการบริหาร “อำนาจ”ของ คสช.เอง ถ้าบริหาร “อำนาจ”ไม่เป็น มัวแต่ใช้อำนาจนั้นรักษาเก้าอี้ตัวเองและคณะ(เหมือนที่ทำอยู่ในเวลานี้) โอกาสที่ฝ่ายโค่นล้มจะ “จุดไม้ขีดไฟ” ติดก็มีสูง ตรงกันข้าม หากรู้จัก “บริหารอำนาจ” โดยคำนึงถึงประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง “ไม้ขีดเป็นล้านๆ ก้าน” ก็หาจุดติดไม่ 

          หากมองไปข้างหน้าหลังพ้นเทอมของ คสช.แล้ว อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ต้องบอกว่ามีความเป็นห่วงว่าความแตกแยกจะกลับคืนมาอีกรอบ การเมืองที่ขัดแย้งกันสองขั้วระหว่างเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ จะกลายเป็นสามขั้ว คือ เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-ลุงตู่ เพราะขณะนี้ต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงมาเป็นขั้วอำนาจที่สามทางการเมืองอย่างเต็มตัวแม้จะไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นที่รู้โดยทั่วกันว่าคณะทำงานของท่านได้เตรียมการจัดตั้งพรรคและกวาดต้อน อดีตส.ส. เข้าเป็นฐานสนับสนุนในการเลือกตั้งจริง (เรื่องนี้ปิดอย่างไรก็ไม่ลับ) 

          และมีแนวโน้มที่การเมืองขั้วที่สามของลุงตู่ จะครองอำนาจหลังเลือกตั้ง (ถ้าเป็นไปตามแผนของฝ่ายเสนาธิการของลุงตู่) บ้านเมืองก็น่าจะสงบ แต่หากสองพรรคใหญ่ใครขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็อาจเห็นความแตกแยกในแผ่นดินกลับคืนมา และถ้าเป็นเช่นนั้น 4 ปีในการ “เว้นวรรคประชาธิปไตย” ก็จะไร้ค่าไปอีก ทั้งหมดต้องรอดูคำพิพากษาของประชาชน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ